‘ลาว’ ดาวรุ่งวงการปุ๋ย! ส่งขายจีนแทนรัสเซีย ตั้งเป้าผู้ผลิตปุ๋ยอันดับ 3 ของโลก

‘ลาว’ ดาวรุ่งวงการปุ๋ย! ส่งขายจีนแทนรัสเซีย ตั้งเป้าผู้ผลิตปุ๋ยอันดับ 3 ของโลก

สงครามรัสเซีย - ยูเครนให้โอกาสทองแก่ ‘ลาว’ เมื่อราคาปุ๋ยพุ่งสูงทั่วโลก ลาว เจ้าของแร่โพแทสเซียมคลอไรด์มหาศาลที่ใช้ทำปุ๋ย จึงเร่งผลิตปุ๋ยส่งขายจีนเต็มกำลัง ขณะที่จีนก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ผ่านทางรถไฟลาว - จีน

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า จากสถานการณ์ “รัสเซีย” และ “เบลารุส” ผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร “ลาว” ได้ช่วงใช้จังหวะนี้เร่งผลิต “ปุ๋ย” เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากจีน โดยในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลลาวได้ประกาศอนุญาตให้บริษัท 18 แห่ง มีสิทธิในการสำรวจ และทำเหมืองแร่โพแทสเซียมคลอไรด์ในพื้นที่กว่า 162,000 เฮกตาร์ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุ พื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมบางส่วนของกรุงเวียงจันทน์ รวมถึงแขวงคำม่วน และแขวงสะหวันนะเขต

ทั้งนี้ ปริมาณสำรองแร่โพแทสเซียมคลอไรด์ของลาว คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 133,600 ล้านตัน ตามข้อมูลจากรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดใหญ่อีกสามแห่งด้วย

เป็นที่คาดว่า “บริษัทจีน” จะมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโรงงาน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ลาวกลายเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่อันดับสามของโลก ตามที่สื่อของรัฐรายงาน

“โพแทสเซียมคลอไรด์” ถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการรับประกันความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เนื่องจากถูกผลิตเป็นปุ๋ยที่ใช้ในภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม ในลาว เหมืองแร่โพแทสเซียมคลอไรด์ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้งานก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 การหยุดชะงักนี้เกิดขึ้นเป็นหลักจากราคาในตลาดโลกที่ต่ำ ทำให้การทำเหมืองแร่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

“จุดเปลี่ยน” เกิดขึ้นเมื่อราคาเริ่มพุ่งสูงขึ้นในปี 2565 เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากอุปทานโพแทสเซียมคลอไรด์ทั่วโลกที่ลดลง หลังจากการคว่ำบาตรรัสเซีย และเบลารุสทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสองผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลก

เบลารุสถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรในปี 2564 เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่การคว่ำบาตรรัสเซียมีขึ้นหลังจากการบุกยูเครนในปี 2565

ตามข้อมูลจากสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ รัสเซีย และเบลารุสมีส่วนผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์ของโลกเกือบ 40% ในปี 2563 ด้วยอุปทานวัตถุดิบที่ตึงตัวมากขึ้น ลาวจึงได้เห็นโอกาสในการเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญ

ระหว่างเดือนมกราคม ถึงพฤศจิกายน การส่งออกโพแทสเซียมคลอไรด์ของลาวอยู่ที่ 770 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ก่อนปี 2564 โพแทสเซียมคลอไรด์ไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรกของรายการส่งออกของประเทศ แต่ในปีนี้ ติดอันดับที่สองรองจากไฟฟ้า

จีนถือเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกโพแทสเซียมคลอไรด์ โดยการจัดส่งไปยังประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นเกือบ 8 เท่าในปีที่แล้วเมื่อเทียบกับปี 2563 คิดเป็นประมาณ 87% ของการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ รถไฟลาว-จีน ซึ่งเปิดให้บริการในปี 2564 มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดความสนใจของปักกิ่งไปยังการส่งออกโพแทสเซียมคลอไรด์ของลาว โครงการหนึ่งพันกิโลเมตรภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เชื่อมต่อกรุงเวียงจันทน์กับเมืองคุนหมิงของจีน สามารถขนส่งสินค้าจำนวนมากข้ามพรมแดนได้ในระยะเวลาอันสั้น

เยา บิน ประธานหอการค้าจีน-ลาว กล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ว่า “ลาวมีศักยภาพที่จะกลายเป็น “ศูนย์กลางหลัก” สำหรับโพแทสเซียมคลอไรด์ โดยแร่ที่ผลิตในท้องถิ่นสามารถขนส่งโดยตรงไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่านทางรถไฟลาว-จีน”

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าเศรษฐกิจของลาวพึ่งพาจีนมากเกินไป หนี้สาธารณะภายนอกเทียบเท่ากับ 84% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปี 2565 โดยจีนมีส่วนร่วมครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าว สิ่งนี้อาจนำไปสู่ “กับดักหนี้สิน” ซึ่งจีนอาจเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐาน หากประเทศไม่สามารถชำระหนี้ได้
 

 

อ้างอิง: nikkei

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์