ไทยลงทุน 'ลาว' ชะลอตัว เผชิญ 3 วิกฤติ 'เงินกีบ - น้ำมัน - เงินเฟ้อ'
สภาธุรกิจไทย - ลาว ยอมรับลงทุนไทยในลาวชะลอตัว ทุนไทยห่วงเศรษฐกิจลาว หลังเจอ 3 วิกฤติ "เงินกีบอ่อนค่า - ราคาน้ำมันพุ่ง - เงินเฟ้อสูง" ส่งผลแบงก์ไทยเข้มปล่อยกู้ลงทุนลาว
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวอย่างต่อเนื่อง โดยใช้จุดเด่นจากค่าแรงราคาถูก สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) รวมถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
การลงทุนของผู้ประกอบการไทยในลาว ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องนุ่งห่ม ผลิตไฟฟ้า ธนาคาร เช่น บริษัท ซีพีลาว จำกัด , ธนาคารกรุงเทพ , บริษัท นครหลวงซีเมนต์ลาว จำกัด , บริษัทลาว-ไทยฮั้วยางพารา จำกัด , บริษัท ไฟฟ้าห้วยเหาะ จำกัด , บริษัท ไฟฟ้าน้ำเทิน 2 จำกัด , บริษัท น้ำตาลมิตรลาว จำกัด , บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด
นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ " ว่า การลงทุนของไทยในลาวยังไม่เพิ่มขึ้นมาก เพราะนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจลาว แม้ว่าภาพเศรษฐกิจยังนิ่งๆ แต่ก็ไม่โดดเด่น ซึ่งปี 2567 ประเทศลาวประกาศเป็นปีท่องเที่ยว แต่มีปัญหานักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเสียชีวิตในลาวทำให้มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในลาว
ทั้งนี้การลงทุนของไทยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคพลังงานคือ การสร้างเขื่อนหลวงพระบาง มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในลาว โดยเฉพาะการซื้อวัตถุดิบได้ทั้งจากไทย และลาวได้ จากที่มีการลงทุนในเขื่อนไชยะบุรี
สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนในลาวที่มีกระแสข่าวว่าปล่อยสินเชื่อน้อยมากนั้นเป็นการจัดการบริหารความเสี่ยง ซึ่งธนาคารที่ปล่อยกู้เงินลงทุนในลาวมี 2 กลุ่ม คือ
1.ธนาคารที่ตั้งในไทยแล้วปล่อยเงินลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในลาว โดยธนาคารจัดการบริหารความเสี่ยงต่างกัน ซึ่งธนาคารที่ตั้งในไทยจะปล่อยเงินลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนในไทยยังยากในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และยิ่งนำไปลงทุนต่างประเทศยิ่งยากกว่า เพราะต้องพิจารณาเรตติ้งของประเทศที่ไปลงทุนด้วย ซึ่งประเทศลาวถูกจัดอันดับเรตติ้งลดลงจึงเลือกยากขึ้น
2.ธนาคารไทยที่ตั้งสาขาอยู่ในลาว จะพิจารณาความเสี่ยงของธุรกิจที่ไปลงทุน ซึ่งจุดนี้จะผ่อนคลายมากกว่า ส่วนนักธุรกิจที่ลงทุนในลาวแล้วต้องการเงินลงทุนเพิ่มก็นำมาพิจารณากันได้ไม่ยาก ขณะที่วงเงินการปล่อยกู้จะเท่าไร ขึ้นกับสถานการณ์แต่ละธุรกิจ ซึ่งธนาคารยังปล่อยเงินลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยต่อเนื่อง แต่อาจพิจารณารอบคอบในธุรกิจที่จะลงทุนในลาว
อย่างไรก็ตาม การลงทุนของไทยในลาวขณะนี้ค่อนข้างชะลอ หากนักลงทุนจะมาลงทุนในลาวก็ต้องพิจารณาถึงกลุ่มธุรกิจที่มาลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจลาวยังไม่ฟื้นดี เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคก็ยังมีปัญหาเรื่องของอัตราการแลกเปลี่ยน การควบคุมเงินตราต่างประเทศของลาว ทั้งนี้ตัวการค้าระหว่างประเทศไทย-ลาวในปี 2567 คาดว่ามูลค่าน่าจะอยู่ที่ 2.4 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
“ลาว” เผชิญ 3 วิกฤติเศรษฐกิจ
สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศลาวในปัจจุบันพบกับเจอวิกฤติปัญหา 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.วิกฤติค่าเงินกีบอ่อนค่า โดยเงินกีบอ่อนค่า และเริ่มนิ่งอยู่ที่ระดับ 630 กีบต่อบาท ค่อนข้างคงที่มาตั้งแต่กลางปีแล้ว ทั้งนี้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ควบคุมการอัตราการแลกเปลี่ยนเงินกีบหลังจากมีการประชุมสภาแห่งชาติลาว ได้กำหนดนโยบายด้านการปฏิบัติเกี่ยวกับควบคุมเงินตราต่างประเทศออกมาหลายอย่าง
โดยเฉพาะการควบคุมเงินได้จากต่างประเทศ ออกกฎมาบังคับให้ธุรกิจที่ทำกับต่างประเทศและได้รายได้ต้องนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินกีบก่อน ซึ่งแต่ละประเภทธุรกิจก็มีความแตกต่างกัน เช่น ธุรกิจบางประเทศมีสัดส่วนการแลกเปลี่ยน 30% เช่น เงินได้จากการขาย 100 บาทต้องแลกเป็นเงินกีบ 30 บาท
นอกจากนี้ไม่อนุญาตให้เอกชนนำเงินตราต่างประเทศออกจากระบบ โดยสั่งปิดร้านแลกเงินนอกระบบ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ (Lao Foreign Exchange: LFX) เพื่อเป็นช่องทางหลัก (platform) ในการซื้อขาย และแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
2.วิกฤติราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบของลาวที่อ่อนค่า
3.เงินเฟ้อสูง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลลาวสามารถคุมเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งแล้ว แม้จะลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์