New Year New You … ปรับแก้หนี้ รับปีใหม่

New Year New You … ปรับแก้หนี้ รับปีใหม่

สวัสดีปีใหม่ค่ะ ขอให้ท่านผู้อ่านแจงสี่เบี้ยทุกท่านมีความสุข สุขภาพดีทั้งกาย ใจและการเงินนะคะ การที่จะมีสุขภาพดีได้นั้นคงต้องมีการขยับปรับกันสักนิด หากเป็นสุขภาพกายก็ต้องออกกำลังกายให้ Fit and Firm กัน หากเป็นสุขภาพใจก็ต้องปรับใจให้รับแต่สิ่งดีๆ แต่ถ้าเป็นสุขภาพการเงินก็ต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี หากเป็นหนี้ก็คงต้องบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ดำรงชีพอย่างมีความสุข

เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ออกรายงานที่น่าสนใจไว้ใน web site คือ รายงานติดตามเสถียรภาพระบบการเงิน ปี 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญบางส่วนสรุปว่า ระบบการเงินไทยในภาพรวมมีเสถียรภาพและสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงได้ ส่วนการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน (household leverage) ลดลง สะท้อนกระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือน (household deleveraging) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว 

แต่ระบบการเงินไทยในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงในบางจุด คือ (1)การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง ส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยมีสาเหตุจากทั้งความต้องการสินเชื่อที่ลดลง และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้บางกลุ่มที่อยู่ในระดับสูง อาทิ ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและธุรกิจวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises : SMEs) ในบางอุตสาหกรรม

(2)คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง โดยส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ลูกหนี้ SMEs ที่ฟื้นตัวช้าหรือเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าจีน รวมถึงครัวเรือนที่รายได้ฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับรายจ่ายและภาระหนี้ที่สูง ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ อาจมีสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

(3)หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (gross domestic product : GDP) ยังสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แม้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงลดทอนกำลังซื้อของครัวเรือน และอาจกระทบต่อกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงในระยะข้างหน้า ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงลดลง หากมีปัจจัยที่กระทบต่อรายได้ในอนาคต (income shocks)

แบงก์ชาติมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาโดยตลอดนะคะ โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยเหลือแบบปูพรมในช่วงโควิด และต่อมาปรับเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุด ส่วนในปีที่แล้ว นับแต่ต้นปี มีมาตรการ “Responsible Lending หรือ RL” เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร และปลายปี แบงก์ชาติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ออกมาตรการชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ภายใต้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย

การออกมาตรการ “RL” เพื่อการปรับพฤติกรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยให้ “เจ้าหนี้รับผิดชอบ” ช่วยลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อน/กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้ “ลูกหนี้มีวินัย” ทางการเงินที่ดีขึ้น ผ่านการให้ข้อมูล เงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) และบริหารจัดการหนี้ของตนเองได้

มาตรการ “RL” ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ คือ 

1. การปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจ้าหนี้ต้องช่วยลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ

2. การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt, PD) ให้กลุ่มเปราะบาง โดยเจ้าหนี้ต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้

3. การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น รู้อัตราดอกเบี้ยและภาระดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการกู้ ทั้งกรณีการจ่ายปกติ การจ่ายขั้นต่ำและการผิดนัดชำระ รวมถึง รู้ข้อดี-ข้อเสีย ของการแก้หนี้วิธีการต่างๆ

สำหรับโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เป็นมาตรการเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้รายย่อยเฉพาะกลุ่มตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ เช่น ทำสัญญาสินเชื่อก่อนปี 67 โดยมีวงเงินสินเชื่อไม่สูงมากและมีสถานะหนี้ ณ สิ้นเดือน ต.ค.67 เป็น NPL ไม่เกิน 365 วัน เป็นต้น โดยลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ หากสามารถทำตามเงื่อนไขของโครงการได้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถ “ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว” โดยมี 2 มาตรการ

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญคือ ลูกหนี้ต้องไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน 

ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการที่มุ่งหวังในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแบงก์ชาติ แต่รวมถึงภาครัฐ ผู้ให้บริการทางการเงิน และที่สำคัญคือ ตัวลูกหนี้เองนะคะ 

ผู้เขียนขอส่งกำลังใจแก่ลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ และ การเงินรับปีใหม่นี้ ดังคำที่ว่า อโรคยา ปรมา ลาภา การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐฉันใด การไม่มีหนี้ ก็เป็นลาภอันประเสริฐ ฉันนั้นค่ะ มาร่วมกันเป็น New You รับ New Year นี้กันนะคะ

(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)