‘คลัง’ ลุยแก้หนี้เฟส 2 เติมสภาพคล่อง อัดซอฟต์โลน 5 หมื่นล้าน กลุ่ม ‘non-bank’

‘คลัง’ ลุยแก้หนี้เฟส 2 เติมสภาพคล่อง อัดซอฟต์โลน 5 หมื่นล้าน กลุ่ม ‘non-bank’

“คลัง” ลุยแก้หนี้เฟส 2 ช่วยลูกหนี้นอนแบงก์ผ่านวงเงินซอฟต์โลน 5 หมื่นล้าน ชงเข้า ครม.เดือนม.ค.นี้ ขยายกลุ่มโครงการคุณสู้เราช่วย ครอบคลุมนอน-แบงก์ ถกปล่อยสินเชื่อผ่อนคลาย เติมเม็ดเงินใหม่ หนุนฟิกโกไฟแนนซ์ กลไกดันเงินสู่ระบบ พร้อมเติมสภาพคล่องลงท้องถิ่น 1 ล้านล้านบาท

รัฐบาลมีนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยปลายปี 2567 ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและ SME ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี 

ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมขยายขอบเขตโครงการด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) โดยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน ม.ค.2568 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การขยายขอบเขตการดำเนินงานของโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะขยายกลุ่มเป้าหมายสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของ Non-Banks โดยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอรายละเอียดต่อ ครม.ในเดือนม.ค.2568 ให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ให้ Non-Banks ที่ผ่านเกณฑ์ และเงื่อนไขตามที่ ธปท.กำหนด

ทั้งนี้ สินเชื่อที่อยู่กับ Non-Bank ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และไม่มีหลักประกัน เมื่อธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้ Non-Bank จะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยลง 10% เช่น จากเดิมดอกเบี้ย 25% ต่อปี จะลดเหลือ 15% ต่อปี และช่วยลดการผ่อนชำระค่างวดเหลือ 70% ตลอดระยะเวลา 3 ปีและได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนปรน

รวมทั้งหากลูกหนี้มีสถานะเป็น NPL และมียอดคงค้างไม่เกิน 5,000 บาท จะเปลี่ยนสถานะปิดจบหนี้ได้ โดยรัฐบาลมีวงเงินชดเชยความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อส่วนหนึ่งให้กับธนาคารออมสินผ่าน มาตรา 28

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง  ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันดำเนินโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ตามที่ ครม.เห็นชอบวันที่ 11 ธ.ค.2567 เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ลดภาระการผ่อนชำระ และพักดอกเบี้ยทำให้ต้นเงินกู้ลดลง ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ที่มีอยู่ได้รับการดูแล 

ทั้งนี้ จะเปิดลงทะเบียนถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 และดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี โดยการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสำคัญหากเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวดีขึ้นจะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลง 

สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปี 2568 นายพรชัย กล่าวว่า ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการภายในธนาคารที่ดูแลการบริหารความเสี่ยง ส่วนโครงการที่ตอบสนองตามนโยบายรัฐบาล เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อธนาคาร 

รวมทั้งกระทรวงการคลัง จะพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม วงเงิน และความเสี่ยงที่ไม่เป็นภาระกระทบฐานะ และความมั่นคงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยกลไกการรับภาระของรัฐบาลจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อประหยัดต้นทุนให้ Non-Bank โดยวงเงินที่ Non-Bank แต่ละแห่งได้รับคิดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของ Non-Bank วงเงินรวมที่เป็นซอฟต์โลน 50,000 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินมาตรการแก้หนี้กลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะได้รับการช่วยเหลือในลักษณะคล้ายลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์โดยจะมี 2 ส่วน คือ 

1.ลูกหนี้ที่มีปัญหาการผ่อนชำระ จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระเหลือ 70% และลดดอกเบี้ยให้ 10% เช่น จาก 25% เหลือ 15% โดยนอนแบงก์ รับภาระส่วนหนึ่ง และรัฐบาลรับภาระส่วนหนึ่ง

2.ลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL ที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท ให้ผ่อนชำระบางส่วน และปิดจบหนี้ โดย Non-Bank รับภาระส่วนหนึ่ง และรัฐบาลรับภาระส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยการแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมประชาชนมีความรู้ทางการเงินและการออม และยกระดับข้อมูลหนี้สินครัวเรือนในระบบให้อยู่ในฐานข้อมูลสินเชื่อเครดิตบูโร (NCB) เพื่อให้ผู้ปล่อยสินเชื่อตรวจสอบว่าผู้ขอสินเชื่อมีภาระหนี้เท่าใด เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพรวมปัญหาหนี้

เร่งสร้างกลไกสกัดหนี้เสีย

ขณะเดียวกันต้องสร้างกลไกลดการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยการส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ลูกหนี้กลุ่ม SME ลดภาระการผ่อนชำระ สินเชื่อวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และยังได้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ 

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการย่อยอื่นผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ การให้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการในมาตรการช่วยเหลือพักหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด

สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) ช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบและเป็นการปล่อยสินเชื่อให้พ่อค้า แม่ค้า เติมเต็มเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยมียอดอนุมัติการปล่อยสินเชื่อใหม่ 60,000 บัญชีต่อเดือน โดยเดือน ต.ค.2567 อนุมัติสินเชื่อใหม่ 66,000 บัญชี วงเงินรวม 640 ล้านบาท 

รวมทั้งมีสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ เดือน พ.ย.2567 อยู่ที่ 4.7 ล้านบัญชี วงเงินรวม 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตพิโกไฟแนนช์รวมแล้ว 1,147 รายใน 75 จังหวัด

"การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีสัดส่วนที่เป็นหนี้ค้างชำระที่เป็น NPL ราว 23% ซึ่งถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่”

คลังเติมสินเชื่อเข้าระบบเศรษฐกิจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินมาตรการแก้หนี้ระยะต่อไปจะเติมสินเชื่อเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในพื้นที่ชนบท เบื้องต้นประเมินวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท ให้เม็ดเงินดังกล่าวนำไปต่อยอดการลงทุนอย่างเหมาะสม

“ภาวะการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแบงก์ประเมินว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งเมื่อรัฐบาลช่วยดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น ก็มองว่าแบงก์ควรจะมีการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปอย่างผ่อนคลายได้มากขึ้น ตามการประเมินขีดความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตามการผลักดันในเรื่องนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วใน 3-6 เดือนนี้”

ทั้งนี้เมื่อมีมาตรการแก้หนี้คงค้างที่มีอยู่แล้ว จะต้องทำเรื่องการปล่อยสินเชื่อคู่ขนานกันไป ทั้งในส่วนของแบงก์รัฐ และในส่วนของแบงก์พาณิชย์ซึ่งจะต้องมีการหารือกับ ธปท. ต่อไปให้พิจารณาการปล่อยสินเชื่ออย่างผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งนี้ตนเองเตรียมที่จะหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น ธปท. สภาพัฒน์ รวมทั้งสถาบันการเงินทั้งสถาบันการเงินของรัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจภาพเดียวกันเพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน 

ทีดีอาร์ไอหนุนแก้หนี้กลุ่ม Non-Bank

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการแก้หนี้สินในระยะต่อไปว่าในความเห็นส่วนตัว การแก้หนี้ในเฟสแรก ได้วางกรอบการทำงานเอาไว้ค่อนข้างดี มีกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ คือ ราว 2.1 ล้านราย ครอบคลุมวงเงินเกือบ 9 แสนล้านบาท และช่วยประคองสถานการณ์ให้ไปต่อได้ในช่วง 3 ปี 

ทั้งนี้ หากทำได้ตามเป้าหมายน่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ปัญหาหนี้ของไทยไปได้มาก อย่างไรก็ดีคงต้องติดตามว่าทำได้จริงมากน้อยแค่ไหนในเฟสแรก 

สำหรับเฟสที่ 2 ถ้าจะทำก็อาจจะขยายโครงการไปกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ทับซ้อนกลับกลุ่มแรก เช่น กลุ่ม Non bank โดยควรจะเน้นการคัดกรองเฉพาะลูกค้าที่มีศักยภาพ พอไปไหว ซึ่งอาจจะวัดยากกว่าเฟสแรกที่เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน รถ

แนะคัดกรองคนเข้าโครงการ ไม่หว่านแห

“ผมอยากเห็นโครงการเฟสสองที่ขนาดเล็กลง วางกลไกคัดเลือกที่ดีพอ เช่น ลูกหนี้ต้องเข้ามายื่นขอความช่วยเหลือ และวางข้อตกลงหาทางออกร่วมกัน รัฐช่วยอะไร ธนาคารช่วยอะไร ลูกหนี้ต้องทำอะไรให้เกิดทางออกได้ในระยะยาว”

สำหรับประเด็นเรื่องปัญหาทางจริยธรรม  (moral hazard) ที่อาจเกิดขึ้นหากช่วยกลุ่มที่ไม่ได้ชำระหนี้ นายนณริฏ กล่าวว่า ถ้าทำโครงการใหญ่เกินไปจะเสี่ยงมากขึ้น ส่วนโครงการแรกเน้นที่หนี้มีหลักประกันก็ใช้เป็นแรงจูงใจให้ลูกหนี้พยายามแก้ไขปัญหาร่วมด้วยเพื่อให้ไม่เสียหลักประกัน แต่เฟส 2 ไม่มีหลักประกัน เลยสร้างแรงจูงใจได้ยากจึงเสนอว่าให้คัดกรองดีๆ ไม่หว่านแหแบบเฟสแรก 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์