ส.อ.ท. รับอุตสาหกรรมยานยนต์ปี68 ขาลง จี้รัฐแก้หนี้ครัวเรือน ฟื้นกำลังซื้อ

ส.อ.ท. รับอุตสาหกรรมยานยนต์ปี68 ขาลง จี้รัฐแก้หนี้ครัวเรือน ฟื้นกำลังซื้อ

“ส.อ.ท.” รับอุตสาหกรรมยานยนต์ปี'68 ยังเหนื่อยและยังคงขาลง จี้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หวังกำลังผลิตรวมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคัน

อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงถดถอย โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตทั้งปี 2567 หากเทียบกับปีที่แล้วยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ปรับลดเป้าผลิตทั้งปีเหลือ 1.5 ล้านคัน จากเป้าผลิตเดิม 1.9 ล้านคัน 

ทั้งนี้ โดยมีสาเหตุมาจากยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำ และปัญหาสินเชื่อรถถูกตีกลับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายลดลงเพราะการซื้อรถ 80% ของคนไทยเป็นการซื้อเงินผ่อน

การผลิตรถยนต์ที่ลดลงส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในระดับเทียร์ 2 ลงมา ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนกังวลต่อการเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่อาจกระทบผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะจำนวนชิ้นส่วนรถ EV มีน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยส่วนใหญ่ผลิตเพื่อป้อนให้กับค่ายรถญี่ปุ่น

ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันจึงมีปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ได้เสนอให้ภาครัฐเตรียมการรับมือช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมถึงหลายหน่วยงานมีแผนดังกล่าว เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม แต่การดำเนินตามแผนยังไม่สามารถทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่พร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2568 ยังคงต้องเหนื่อย และคิดว่าจะยังอยู่ในสภาวะที่ขาลง โดยมี 2 ปัจจัย คือ

1. รัฐบาลต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งส่งผลกระทบต่อการที่สถาบันทางการเงินไม่ยอมปล่อยกู้ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหัวใจ

2. ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีราคาไม่แพงและรูปโฉมดีไซน์ที่ดีและมีทางเลือกหลายแบรนด์ราคาถูกประหยัด อีกทั้ง ดวยเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมต่างให้ความสำคัญต่อนโยบายลดโลกร้อน จึงนิยมใช้รถ EV และรถสาธารณะ

“อุตสาหกรรมยานยนต์ยังเป็นช่วงปีที่หนัก ซึ่งภาครัฐได้สนับสนุนรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประคับประคองรักษาฐานการผลิตไม่ให้ทรุดเร็วกว่าที่เป็น ล่าสุดนายกฯ ได้หารือกับประธาน Toyota เมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค. 2567 ที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนประคองรถไฮบริดไม่ให้ทรุดเร็วและเป็นการรักษาการจ้างงาน”

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพ.ย. 2567 รวม 117,251 คัน ลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ถึง 28.23% จากการผลิตส่งออกลดลง 20.67% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 40.42% และลดลงจากเดือนต.ค. 2567 ที่ 1.34% โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค. - พ.ย. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,364,119 คัน ลดลงจากเดือนม.ค. - พ.ย. 2566 กว่า 20.14%

สำหรับผลิตเพื่อส่งออกเดือนพ.ย. 2567 ผลิตได้ 80,022 คัน เท่ากับ 68.25% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 20.67% ส่วนเดือนม.ค. - พ.ย. 2567 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 941,938 คัน เท่ากับ 69.05% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ระยะเวลาเดียวกัน 12.25%

ส่วนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนพ.ย. 2567 ผลิตได้ 37,229 คัน เท่ากับ 31.75% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ถึง 40.42% และเดือนม.ค. - พ.ย. 2567 ผลิตได้ 422,181 คัน เท่ากับ 30.95% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนม.ค. – พ.ย. 2566 ที่ 33.48

ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพ.ย. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 42,309 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. 2567 ที่ 12.25% แต่ลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 31.34% จากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำที่ 3% ในไตรมาส3/2567 แต่หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสสามปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของ GDP ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ

ในการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนพ.ย. 2567 ส่งออกได้ 89,646 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 6.30% แต่ลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 10% เพราะปีที่แล้วฐานสูงและสงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายไปหลายพื้นที่ทำให้จำนวนเที่ยวเรือมารับรถน้อยลงรวมทั้งหลายประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ชะลอตัวลง จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่งออกเพิ่มขึ้นตลาดอเมริกาเหนือแห่งเดียว

“ในปี 2568 หวังว่ามาตรการด้านภาษีของรัฐบาลจะช่วยให้กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นได้ แต่ก็คงไม่มากแบบก้าวกระโดด ซึ่งปี 2567 ส.อ.ท. ได้มีการปรับลดเป้าการผลิตลงถึง 4 แสนคัน จาก 1.9 ล้านคันเหลือ 1.5 ล้านคัน ดังนั้น หากการส่งออกและการบริโภคกลับมาดีขึ้นตาม GDP ที่คาดว่าจะเติบโต จะทำให้กำลังการผลิตจะสามารถเพิ่มขึ้นได้หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้ต่ำกว่าเป้าผลิตปี 2567”