ปี 68 ธุรกิจจับจังหวะสกัดเสี่ยง ซีอีโอชี้คอร์ปอเรทตุนเงินสด - ปรับแผนลงทุน         

ปี 68 ธุรกิจจับจังหวะสกัดเสี่ยง ซีอีโอชี้คอร์ปอเรทตุนเงินสด - ปรับแผนลงทุน         

“ซีอีโอ” บิ๊กคอร์ป มองเศรษฐกิจปี 2568 จับตาภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายทรัมป์ 2.0 สินค้าจีนทะลัก “เอสซีจี-บ้านปู” กอดกระแสเงินสดรับมือเศรษฐกิจไม่ฟื้น ปรับแผนธุรกิจสู้กีดกันการค้า “หอการค้า - ส.อ.ท.” ชี้หนี้ครัวเรือน - นโยบายทรัมป์เสี่ยง  “แบงก์กรุงเทพ” ห่วงความผันผวนต่อเนื่องแต่ยังมีโอกาส จากการเคลื่อนย้ายทุน และไทยคงศูนย์กลางการลงทุนใหม่

ปี 2568 กำลังจะมาถึงหลังปี 2567 จบไปแบบส่งท้ายด้วยปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่คาดว่าจะยังดำเนินต่อไปในปีหน้า ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และปัญหาเดิมคือ ภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีตัวแปรใหม่หลัง “ทรัมป์” จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้นำสหรัฐ 

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า ปี 2568 ต้องจับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบการค้าทั่วโลก ซึ่ง SCG ติดตามสถานการณ์ไทย และโลกทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาวิเคราะห์ล่วงหน้า และจัดทำแผนที่เหมาะสมกับแต่ละจังหวะ 

ปี 68 ธุรกิจจับจังหวะสกัดเสี่ยง ซีอีโอชี้คอร์ปอเรทตุนเงินสด - ปรับแผนลงทุน         

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญสำหรับการรับมือปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การปรับตัวอย่างทันท่วงทีให้ธุรกิจดำเนินต่อเนื่อง และมั่นคง โดยนอกจากจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่เข้มแข็งทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว จะต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง

สำหรับความเสี่ยงจากมาตรการของสหรัฐประเมินว่าไทยได้รับผลกระทบทั้งบวก และลบ เช่น สินค้าจากจีนส่งเข้าสหรัฐไม่ได้จะไหลเข้าอาเซียน เช่น ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย

ดังนั้น หากธุรกิจไทยไม่รีบปรับตัว อาทิ การลดต้นทุนจะโดนกดดันจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีขนาดที่ใหญ่กว่าไทยหลาย 10 เท่า โดยมีขีดความสามารถการแข่งขันมากกว่าไทย จึงเป็นกลยุทธ์ที่มองว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถขายของเข้าสหรัฐได้

นอกจากนี้ สินค้าจากจีนที่เข้ามาจำนวนมากที่ SCG มีความกังวลด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ราคาถูก โดยเฉพาะ Polypropylene (PP) ซึ่งได้วัตถุดิบราคาถูกจากรัสเซีย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา SCG ปรับตัวหารือสหรัฐในการนำเสนอสินค้าที่ล่าสุดปี 2567 ขายปูนคาร์บอนต่ำให้สหรัฐ กว่า 1.3 ล้านตันแล้ว

ทั้งนี้ SCG เดินหน้าบนมาตรการคุมเข้มทางการเงิน โดยจะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ภายใต้งบประมาณการลงทุน 5 ปี (2568-2572) รวม 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท และมุ่งลดเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ 10-15% จากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมทั้งโฟกัสธุรกิจที่มีศักยภาพ และปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร เพื่อนำทรัพยากรมาโฟกัสในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต

ปี 68 ธุรกิจจับจังหวะสกัดเสี่ยง ซีอีโอชี้คอร์ปอเรทตุนเงินสด - ปรับแผนลงทุน         

“บ้านปู” ห่วงหนี้ครัวเรือนฉุดเศรษฐกิจ

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ไทยยังต้องเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ซึ่งอาจต้องให้เวลาแต่มีความเชื่อมั่นกับผู้นำประเทศว่า จะมีมาตรการออกมาแก้ไข

“สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจคือ กระแสเงินสดที่ดี ทั้งการใช้เงินถ้าลงทุนไปแล้วไม่กลับมาจะเป็นปัญหา จึงมองอนาคต 5 ปี หากทรัมป์ครบวาระอาจมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เราอาจมองว่าทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น หากหมดเทอมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร อาจต้องวิเคราะห์ ดังนั้น สิ่งสำคัญสุดคือ ลงทุนแล้วจะต้องได้ผลตอบแทนกลับมาเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น”

นอกจากนี้ ปี 2568 ต้องจับตานโยบายทรัมป์ 2.0 โดยทรัมป์จะซัพพอร์ตพลังงานฟอสซิล ตามนโยบาย America First และนโยบายด้านภาษี เพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น โดยบ้านปูได้อานิสงส์ธุรกิจในสหรัฐทั้งก๊าซ พลังงาน และเทคโนโลยี CCS แต่ภาพรวมอาจต้องดูอีกระยะว่านโยบายที่แท้จริงจะออกมาอย่างไร

“เราต้องติดตามนโยบายพลังงานสะอาดที่คนอาจมองข้ามไปว่าทรัมป์จะไม่สนใจพลังงานหมุนเวียนเลย จึงต้องกลับมาดูผลกระทบ ซึ่งสำคัญที่สุดจะกระทบต่อจีนและไทย”

ส.อ.ท.กังวลคลื่นสินค้าจีนบุกไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องรับมือมากที่สุดตลอดปี 2567  เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อไม่ดี สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยกู้ สิ่งสำคัญคือ SME ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา จึงคาดว่าปี 2568 จากมาตรการของทรัมป์จะส่งผลทางอ้อมกระทบกับไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น

ปี 68 ธุรกิจจับจังหวะสกัดเสี่ยง ซีอีโอชี้คอร์ปอเรทตุนเงินสด - ปรับแผนลงทุน         

“เป็นความกังวล และวิตกมาก อยากฝากรัฐบาลแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้หนี้ครัวเรือนแล้วจะต้องทำคู่ขนานเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเข้ามา ทำให้ SME และโรงงานปิดกิจการ และเลิกจ้าง เหลือเพียงอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นต่างชาติ”

นอกจากนี้ ปี 2568 ต้องจับตานโยบายทรัมป์ อาจทำให้สงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอย่างน้อย 10-20% ส่วนจีน 60-100% โดยสิ่งที่ต้องจับตา แบ่งเป็น การส่งออกไทย ,การลงทุน เดิมสหรัฐต้องการให้พันธมิตรย้ายฐานออกจากจีนเพื่อลดความเข้มแข็งของจีน ทำลายซัพพลายเชนให้อ่อนแอลง ,อุตสาหกรรมสีเขียว ทรัมป์ไม่สนใจอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ทรัมป์มีความเข้มงวดในการถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่ให้นักลงทุนจีนมาลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน

เศรษฐกิจปี 68 เผชิญปัจจัยเสี่ยงสูง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปี 2568 เศรษฐกิจไทยอาจไม่โดดเด่นมากกว่าปี 2567 เพราะความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปัญหาสงครามหลายภูมิภาค การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งยังขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกปี 2568

ปี 68 ธุรกิจจับจังหวะสกัดเสี่ยง ซีอีโอชี้คอร์ปอเรทตุนเงินสด - ปรับแผนลงทุน         

ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลต้องเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ และต่างประเทศ โดยรัฐบาลควรมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยวในจังหวัดที่มีศักยภาพ หรือจังหวัดที่เป็นเมืองรองเพื่อกระจายรายได้

นอกจากนี้ รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาหนี้ที่ต้องทำต่อเนื่อง และพิจารณามาตรการเฉพาะในหนี้แต่ละประเภท ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน

‘แบงก์กรุงเทพ’ ชี้ปีหน้ามีโอกาส

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า สำหรับภาพรวมแผนปี 2568 มองว่ายังอยู่ภายใต้ความผันผวนต่างๆ ที่มีทั้งใน และต่างประเทศ เช่นเดียวกับปี 2567 ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าภายใต้มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ค่อนข้างดีในปี 2568

ขณะที่มองว่าแม้ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยความผันผวน แต่ความผันผวนนั้นก็เต็มไปด้วยโอกาสเช่นเดียวกัน ทั้งโอกาสจากการเคลื่อนย้ายของทุนที่มีมากขึ้น ดังนั้น โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นที่ดึงดูดทำให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับอาเซียน และเอเชียหลายประเทศ ก็เป็นหัวใจสำคัญที่จะนำสู่โอกาสมากขึ้น

ปี 68 ธุรกิจจับจังหวะสกัดเสี่ยง ซีอีโอชี้คอร์ปอเรทตุนเงินสด - ปรับแผนลงทุน         

“เราเชื่อว่า ปีหน้า แม้จะมีความผันผวนบ้าง แต่เชื่อว่าหลายประเด็นหลายอย่างก็มีการเตรียมการไว้แล้ว ของภาครัฐ ที่ออกมาแล้ว และกำลังจะออกมาเพิ่มเติมก็ควรทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างดี และภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศได้”

โดยจากการคาดการณ์ของธนาคารกรุงเทพ คาดว่าจีดีพีปี 2568 น่าจะขยายตัวสูงขึ้นจากปีนี้ มาอยู่ที่ราว 3% ดังนั้นก็หวังว่าภายใต้การเติบโตจีดีพีดังกล่าวก็น่าจะหนุนให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวดีขึ้นด้วย โดยคาดหวังว่า การเติบโตคงไม่ได้เติบโตเพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เติบโตทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ และกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงสินเชื่ออื่นๆ ด้วย ส่วนเป้าหมายทางการเงินที่เป็นทางการนั้นคาดว่าจะออกมาราว ม.ค.2568 ที่ชัดเจนขึ้น

“ดุสิตธานี”ย้ำทำธุรกิจต้องระวัง-รอบคอบ

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มปี 2568 เป็นปีที่ต้องระมัดระวัง และรอบคอบอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ เพราะเศรษฐกิจโลกมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศซึ่งช่วงที่ผ่านมา บางประเทศมีการเปลี่ยนผู้นำ ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และยังมีปัจจัยการเมืองในประเทศที่ต้องจับตา ทำให้ภาคธุรกิจต้องคอยจ้องว่าทิศทางเศรษฐกิจในปี 2568 จะเป็นแบบใด เพื่อปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงที่ยังมีอยู่

“ผู้ประกอบการต้องดูเรื่องการลงทุนให้ดี ว่าจะลงทุนทำอะไรต้องให้มีผลต่อเนื่อง และยั่งยืน มองเรื่องความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามา แต่ต้องพยายามเข้าใจตลาดให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอสินค้า และบริการให้โดดเด่น แตกต่าง ตรงความต้องการ และเป็นตัวเลือกแรกๆ ของลูกค้า ต้องหาดีๆ ไม่ได้หมดโอกาสไปเสียทีเดียว”

ดึงตลาดคุณภาพเพิ่มเป้าหมายเดินทาง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการอาจเผชิญความสุ่มเสี่ยงได้เช่นกัน จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับโอกาสในปี 2568 ถ้าทุกอย่างยังคงเดินไปข้างหน้าเหมือนปี 2567 ซึ่งถือเป็นปีที่ดีของภาคท่องเที่ยวไทยในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบโจทย์แก่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2568 จากเป้าหมาย 39 ล้านคน โดยมองว่าในเชิงจำนวนไม่สำคัญเท่าคุณภาพ ต้องมุ่งทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวเข้าพำนักในไทยเป็นเวลานานขึ้น ใช้จ่ายสูงมากขึ้น และจำเป็นต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้าไทยด้วย ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร จับมือกับผู้ประกอบธุรกิจการดูแลสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา ไม่ใช่แค่มาชมความสวยงามด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรมของไทยเท่านั้น

โยนโจทย์รัฐบาลเคลื่อนศก.ดีกว่าปี 67

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจร้านอาหารต้องการให้รัฐบาลดูแลเศรษฐกิจให้ดี มีการเติบโต มีมาตรการดูแลราคาพลังงาน และค่าแรงขั้นต่ำ เพราะ 2 ปัจจัยนี้กระทบผู้ประกอบการร้านอาหารโดยตรง เมื่อพลังงานขึ้นราคา วัตถุดิบ สินค้าทุกอย่างจะขยับขึ้นทันที เช่น ซื้อแก้วน้ำ ซื้อข้าวสาร ต้องมีค่าขนส่ง ทุกอย่างแฝงหมด

“หากรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดี ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋า ย่อมต้องการรับประทานอาหารอร่อย ไปที่ร้านอาหาร โดยที่รัฐไม่ต้องอุดหนุนอะไรผู้ประกอบการร้านอาหารจึงคาดหวังให้รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก แต่ต้องกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ใช่กระจุกตัวบางจุดหมายปลายทาง”

“มาม่า”เดินแผนธุรกิจระมัดระวัง

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกทั้งสงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจเผชิญมาตลอด ส่วนเศรษฐกิจไทยที่ประเมินเผาจริงเผาหลอกกันทุกปีไม่ว่ายุคไหน และไม่มียุคใดที่เศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาลทำให้ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนธุรกิจของมาม่า ยังเดินอย่างระมัดระวัง และอิงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ไม่รุกหนัก เพราะการทำเชิงรุก หากเจออุปสรรคแต่ละครั้งจะปรับตัวไม่ทัน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์