โปรเจกต์ยักษ์ ‘พลังงาน’ ผ่านไป1ปี 'คงอยู่ที่เดิม’

โปรเจกต์ยักษ์ ‘พลังงาน’ ผ่านไป1ปี 'คงอยู่ที่เดิม’

โปรเจกต์ยักษ์ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รมต.กระทรวงพลังงาน นั่งบริหารผ่านไปกว่า 1 ปี ยังคงอยู่ที่เดิม วนแก้กฎหมาย "รื้อ ลด ปลด สร้าง"

ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผ่านมาอีก 1 ปี กับนโยบาย (รื้อ ลด ปลด สร้าง) ที่มุ่งมั่นทำงานร่างกฎหมายพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า หรือแม้แต่การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ ผลงานที่เห็นชัดเจนคือ การสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่รู้ว่าทำงานไม่ถูกใจหรือทำงานดีเกินไป รวมถึง การชะลอการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาบอร์ดบริหาร หรือแม้แต่การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงก็ชะลอไปด้วย

 

 

ทั้งนี้ จากการเบรกสรรหากรรมการ (บอร์ด) บริหารสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงการเบรกเปิดรับซื้อไฟสะอาดเฟส 2 กว่า 3 พันเมกะวัตต์ ส่งผลกระทบต่อแผนพลังงานชาติ 2024 (National Energy Plan 2024) อย่างจัง

แม้ว่าขณะนี้สำนักงาน กกพ. จะเดินหน้าประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว โดยหยิบยกเหตุผลเพื่อขัดคำสั่ง “รมต.พลังงาน” ถือว่ามีเหตุผลที่เข้าใจได้ว่า การเปิดรับซื้อไฟสะอาดเฟส2 นั้น ได้ผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ชุดที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 

อีกทั้ง หากสำนักงานกกพ. ไม่เร่งดำเนินการอาจจะเข้าข่ายมีความผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นไปได้ มีความสุ่มเสี่ยงที่ยอมขัดใจ “รมต.พีระพันธุ์” และความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องตามมาจากผู้ประกอบการ

เรื่องนี้ รมต.พีระพันธุ์ ได้อาศัยอำนาจในฐานะประธาน กพช. สั่งชะลอการรับซื้อไว้ก่อน เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะนี้ เลขา กกพ. อยู่ระหว่างรอคำสั่งจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานเลขา กพช. ส่งมาให้เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมกกพ.ต่อไป

นอกจากนี้ อีกปัญหาใหญ่หากสัดส่วนพลังงานสะอาดไม่เป็นไปตามเป้า สะเทือนไปถึงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) โดยคณะผู้จัดทำแผนเองยังคงไม่กล้าที่จะบรรจุจำนวนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่แท้จริงได้ ทำให้ร่างแผนพลังงานชาติ 2024 ฉบับแก้ไขจึงต้องเลื่อนออกไปอีก เพื่อรอไฟเขียวจาก “รมต.พลังงาน” ที่ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อจัดทำร่างแผนให้มีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ต้องจับตาคือขณะนี้ผู้ให้บริการบิ๊กดาต้า, AI หรือแม้กระทั้งคลาวด์ที่พร้อมจะทุ่มเงินลงทุนในประเทศไทย ต่างต้องการใช้พลังงานสะอาดมหาศาล เมื่อแผนกำลังผลิตพลังงานสะอาดยังไม่ชัดเจนตามนโยบายสมัยรัฐบาล “เศรษฐา ทวิสิน” ได้สั่งให้กระทรวงพลังงาน เร่งดำเนินเป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง (Direct PPA) จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ 

อาจจะเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ไร้วี่แววความคืบหน้า โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากบอร์ดกกพ. ปัจจุบันมีเพียง 6 คน ซึ่งต้นปีหน้าจะเหลือเพียง 4 ท่าน เพราะอายุครบ 70 ปี อาจจะต้องขอความเห็นชอบให้เป็นกรรมการรักษาการโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เนื่องจากกระบวนการสรรหาโดนรมต.พลังงาน สั่งชะลอขั้นตอน ซึ่งต้องเข้าใจว่าอำนาจบอร์ดรักษาการย่อมมีขีดจำกัด

อีกทั้ง การซื้อขายไฟผ่านโครงการ Direct PPA เอง เอกชนเองจะต้องดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ยิ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากอาจจะไม่ถูกกว่าการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff หรือ UGT เอกชนหลายรายจึงพิจารณาใช้สายส่งของการไฟฟ้าแทน จุดนี้ถือเป็นอีกจุดสำคัญทำให้โครงการ Direct PPA ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เมื่อสอบถามคณะทำงานถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ของกระทวงพลังงาน ต่างไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะมีโครงการไหนสำเร็จรุร่วงตามเป้าหมายเดิมได้ ยิ่งการแต่งตั้งฝ่ายบริหารด้วยแล้วจะต้องส่งชื่อให้รมต.พลังงาน ตรวจสอบก่อนทุกครั้ง รวมไปถึงการคัดเลือกผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แม้จะปิดรับสมัครไปหลายเดือนแล้ว ยังไม่มีทีท่าจะเชิญผู้เข้าร่วมสมัครมาสัมภาษณ์แต่อย่างใด