คลังสินค้า-นิคมฯดาวรุ่งในปี68ดันราคาที่ดินโซนอีอีซีพุ่ง50%

คลังสินค้า-นิคมฯดาวรุ่งในปี68ดันราคาที่ดินโซนอีอีซีพุ่ง50%

ธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าและนิคมอุตสาหกรรมในปี68 ถือเป็นธุรกิจ"ดาวรุ่ง" ที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซและการย้ายฐานผลิตของบริษัทข้ามชาติมาสู่อาเซียน ดันราคาที่ดินพุ่ง50%

ในปี 2568 ตลาดคลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนท่ามกลางการสนับสนุนจากหลายปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซและการย้ายฐานการผลิตต่างชาติเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้ตลาดนี้ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

 แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งใน"ปัจจัยหลัก"ที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดคลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะในปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดคลังสินค้าให้เช่าและนิคมอุตสาหกรรมมีการเติบโตก้าวกระโดด โดยมียอดเช่าสัญญาใหม่รวมกว่า 350,000 ตารางเมตร ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจต่างๆ อาทิ อีคอมเมิร์ซ คอนซูเมอร์ และศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในประเทศและต่างประเทศ

ไม่เพียงแค่ในด้านอีคอมเมิร์ซเท่านั้นการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนไปยังภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก จนทำให้การซื้อขายที่ดินในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นถึง 50.12% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา

คลังสินค้า-นิคมฯดาวรุ่งในปี68ดันราคาที่ดินโซนอีอีซีพุ่ง50%

คาดว่าปี 2568 จะเห็นการขยายตัวของการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะเป็น"แรงผลักดัน"สำคัญให้ตลาดคลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภาคอุตสาหกรรม EV ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น"ศูนย์กลาง"การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
 

นอกจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีความต้องการพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูป (Built-to-Suit) ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก เช่น อาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทำให้ตลาดคลังสินค้าในไทยยังคงมีความมั่นคงและพร้อมรับการเติบโตในอนาคต

คลังสินค้า-นิคมฯดาวรุ่งในปี68ดันราคาที่ดินโซนอีอีซีพุ่ง50%

  ปัจจัยเสริมที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตในปี 2568  คือนโยบายเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขต EEC ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์และการเพิ่มขีดความสามารถของระบบขนส่งภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดอาเซียนและทำให้การลงทุนจากภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดนี้เติบโตต่อไปในอนาคต