"อหิวาตกโรค" จ.ตาก คุมได้แล้ว ไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม สธ. ออก 6 มาตรการป้องกัน
สธ. เผย "อหิวาตกโรค" จ.ตาก คุมได้แล้ว แนะ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ห่วงสังสรรค์ปีใหม่เสี่ยงแพร่เชื้อ เร่งออก 6 มาตรการป้องกัน
ความคืบหน้าสถานการณ์โรค "อหิวาต์" ที่จังหวัดตาก ล่าสุดวันนี้ (1 มกราคม 2568) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของ "อหิวาตกโรค" เป็น "ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่" เนื่องจากพบผู้ป่วยจำนวนมาก และมีหลายประเทศที่พบการระบาดเพิ่มขึ้นนั้น
ในส่วนของประเทศไทย มีการ "เฝ้าระวังอหิวาตกโรค" มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็น 1 ใน 57 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมาย โดยหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในชเวโก๊กโก่ ประเทศเมียนมา ซึ่งติดกับชายแดนจังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก (สสจ.ตาก) เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดี
โดยตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสม 4 ราย แบ่งเป็น ชาวต่างชาติ 2 ราย คนไทย 2 ราย และมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการอีก 3 ราย ต่างชาติ 2 ราย คนไทย 1 ราย ทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว และไม่มีผู้เสียชีวิต
"ยังต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันอหิวาตกโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มีการเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน จะมีความเสี่ยงเกิดการแพร่เชื้อได้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากเรื่องสุขอนามัย สุขาภิบาลอาหารและน้ำ จึงต้องเน้นให้ความรู้การป้องกันโรค โดยเฉพาะเรื่องของการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และเข้มงวดผู้ประกอบการอาหาร เครื่องดื่ม และตลาด" นพ.สุภโชค กล่าว
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันโรค อหิวาตกโรค ดังนี้
1. เจ้าของตลาดทุกประเภททุกแห่ง ให้ล้างตลาด ห้องสุขา ตามหลักการสุขาภิบาล รวมทั้งให้มีการฆ่าเชื้อทุกวัน และให้เจ้าของประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม รถเข็น หาบเร่ แผงลอยทุกชนิดดำเนินการตามหลักการสุขาภิบาล ปฏิบัติตามสุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร รวมถึงผู้สัมผัสอาหารทุกคน
2. หน่วยงานราชการ โรงเรียน ศาสนสถาน องค์กร เอกชน ผู้รับผิดชอบห้องสุขาสาธารณะ ให้ล้างทำความสะอาดห้องสุขาตามหลักการสุขาภิบาล รวมทั้งให้มีการฆ่าเชื้อทุกวัน
3. หน่วยงาน องค์กร เอกชน ผู้รับผิดชอบระบบประปา ให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาตามมาตรฐาน โดยกำหนดให้มีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำต้นท่อจ่ายไม่น้อยกว่า 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) ปลายท่อจ่าย ไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm)
4. ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันสมควรสงสัยติดเชื้ออหิวาตกโรค มารับการตรวจคัดกรองหรือรักษา จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค
5. ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานที่ผลิตน้ำดื่ม/น้ำแข็ง ที่มีอหิวาตกโรคเกิดขึ้นหรือมีเหตุว่าปนเปื้อนเชื้อ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการตรวจคัดกรองโรคและกำจัดเชื้อ หรือทำลายเชื้อ
6. ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน สื่อสารข้อมูลความรู้การป้องกัน การปฏิบัติตัว ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง