‘ปตท.’ ชูความร่วมมือโมเดลธุรกิจ ‘เก็บคาร์บอน - ไฮโดรเจนสะอาด ’สู่ ‘Net Zero’

‘ปตท.’ ชูความร่วมมือโมเดลธุรกิจ ‘เก็บคาร์บอน - ไฮโดรเจนสะอาด ’สู่ ‘Net Zero’

การดำรงชีวิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมถึงในระดับบุคคล ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

บรรยากาศ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวิกฤติที่ทุกคนต้องรับมือแต่หากทุกฝ่ายร่วมกันพลิกเกมด้วยการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ วิกฤตินี้อาจกลายเป็นโอกาสทั้งต่อทางธุรกิจ และการสร้างโอกาสใหม่ให้สิ่งแวดล้อม และโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกๆ คน 

 

ประเทศไทยประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี 2065 ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากหากร่วมมือกันในโอกาสที่ “กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizingfor Driving Business เมื่อเร็วๆ นี้ในส่วนเวที Panel Discussion : PTTInsightTogether for Sustainable

รัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่มดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งดำเนินธุรกิจบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก
   

“ผมขอเล่าว่าที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. เราได้ดำเนินการ ด้าน Energy Efficiency มาโดยตลอด โดยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้มากที่สุด นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ทำโครงการสำคัญ และประสบความสำเร็จแล้วคือ การปลูกป่า 1.2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นเครื่องมือดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ แต่ก็ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ปตท. เราตั้งเป้าปลูกป่าอีก 1 ล้านไร่ และในกลุ่ม ปตท. ร่วมกันดำเนินการอีก 1 ล้านไร่ รวมเป็น 2 ล้านไร่ภายในปี 2030 ซึ่งการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนนี้เป็น ส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของกลุ่ม ปตท. และประเทศได้”

‘ปตท.’ ชูความร่วมมือโมเดลธุรกิจ ‘เก็บคาร์บอน - ไฮโดรเจนสะอาด ’สู่ ‘Net Zero’
 

อย่างไรก็ตาม โครงการแบบนี้ยอมรับว่า ต้องใช้ความพยายามสูงมากเพราะมีความท้าทายต่างๆ รออยู่ แต่ผลที่ได้จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเกิดการสร้างงานในชุมชน แม้จะมีความยากแต่ผลที่ได้ก็ถือว่าคุ้มค่าซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือกัน
   

ขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต้องวัดผลได้ ซึ่ง ปตท. เป็นสมาชิก DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แสดงถึงการยอมรับในระดับสากลเรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืน
   

ปตท. ได้บูรณาการด้านความยั่งยืนควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่สร้างความแข็งแรงให้กับ สังคมไทย และเติบโตในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
   

นอกจากนี้ เพื่อให้ ปตท. คงสถานะเป็นสมาชิก DJSI ปตท. จึงได้กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุม ทั้งมิติ ESG หรือ Environment, Social, Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ ปตท. เติบโต และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล
   

“ปตท. มองเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ และเป็นโอกาส ซึ่งเป้านี้จะสำเร็จได้ต้องร่วมมือกันทั้งในกลุ่ม ปตท. และนอกกลุ่ม รวมถึงภาครัฐมีบทบาทสำคัญ อย่างมากในการออกกฎระเบียบรวมถึงมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายนี้ร่วมกัน ดังนั้นจากนี้ไป พอร์ตของ ปตท. จะลดการปล่อยคาร์บอนลงเรื่อยๆ และเพิ่มพลังงานสะอาดมากขึ้น”
   

สำหรับการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ปตท. ได้ดำเนินการผ่านแนวทาง C3 ประกอบด้วย
   

C1 : Climate-Resilience Business การปรับ Portfolio การดำเนินธุรกิจไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้น โดยการวางบทบาทการดำเนินธุรกิจในกลุ่ม ปตท. ให้ทำในสิ่งที่ถนัดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เช่น ปตท. ได้ออกจากธุรกิจ ถ่านหินไปแล้ว บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จะดำเนินธุรกิจด้านเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือแม้แต่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก็มุ่งไปที่การผลิตพลังงานสะอาด เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio-based fuel) เป็นต้น
   

C2 : Carbon-Conscious Asset ต้องพิจารณาการลดการปล่อยคาร์บอนภายในกลุ่ม ปตท. ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกัน การใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต รวมถึงการปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศหรือ Operational Excellence ซึ่งผลตอบแทนที่ได้นอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย
   

C3 : Coalition, Co-Creation, and CollectiveEfforts for All เป็นการประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยกลุ่ม ปตท. เป็นแกนหลักของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีในการลด ก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) รวมถึงการเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูก และบำรุงรักษาป่า ขอเล่าถึงโครงการ Eastern Thailand CCS Hub ซึ่งเริ่มจากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งปล่อยและขนส่งไปยังสถานีรวบรวมบนฝั่ง (Collection Terminal) สุดท้ายคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกรวบรวม จะถูกส่งผ่านท่อไปยังแหล่งกักเก็บนอกชายฝั่งบริเวณอ่าวไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. และพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ
   

“ทุกขั้นตอนของกลยุทธ์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี แต่ก็เป็นโครงการที่ลงทุนสูง และความท้าทายสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งเทคโนโลยี CCS เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้กลุ่ม ปตท. และประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้”
   

อย่างไรก็ตามกลุ่ม ปตท. ทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ และภาคธุรกิจที่สนใจการกักเก็บคาร์บอนเพื่อเป้าหมาย Net zero จึง ต้องร่วมกันคิดหา “โมเดลธุรกิจ” ที่จะลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด
   

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งอยู่ระหว่างการร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. และพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักคือ การผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทน (Renewable energy) แต่ในระยะสั้น จะต้องนำเข้าแอมโมเนียเพื่อนำมาแปลงเป็นไฮโดรเจน และนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และมีแผนในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ตอบดีมานด์ในภาคธุรกิจ ซึ่งต้องการ ทั้งเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย และราคา ที่เข้าถึงได้ ซึ่งกลุ่ม ปตท. กำลังทำงานกันเป็นทีมเวิร์ก และหากภาคธุรกิจอื่นต้องการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ใหญ่นี้ก็สามารถร่วมกันหาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมร่วมกันได้
   

กลุ่ม ปตท. พร้อมดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร เพื่อร่วมกับสังคมไทย และประเทศในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์