อรรถวิชช์ ชี้ปลดล็อกโซลาร์ หนุนปชช.ใช้ไฟถูก เอกชนแนะรัฐเปิดช่องเข้าถึงแหล่งทุน

อรรถวิชช์ ชี้ปลดล็อกโซลาร์ หนุนปชช.ใช้ไฟถูก เอกชนแนะรัฐเปิดช่องเข้าถึงแหล่งทุน

"อรรถวิชช์" ยันแก้กฎหมายปลดล็อกติดตั้งโซลาร์ เอื้อคนไทยได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก "ส.อ.ท." แนะภาครัฐ เปิดช่องเข้าถึงแหล่งเงินทุน หวังรัฐบาลเดินหน้าปลดล็อก "โซลาร์ฟาร์ม-โฟลทติ้ง" ในเฟสต่อไป

รายงานข่าว ระบุว่า จากกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นำเสนอร่างกฎหมายสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า ระบบโซลาร์รูฟท็อป เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา 

โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าแพงให้กับประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของพรรคที่มุ่งลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน และเป็นการร่วมทำงานระหว่างกระทรวงเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ซึ่งปัจจุบันการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย ยุ่งยาก ซับซ้อน และมีราคาแพง อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึง 5 แห่ง จึงได้ดำเนินการประสานกันระหว่างกระทรวงพลังงาน และอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดล็อคให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยกเว้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิตที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ไม่ต้องขอใบอนุญาตอีกต่อไป  

ขณะที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ก็กำลังเร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อปลดล็อคเรื่องการขออนุญาตติดตั้งเช่นกัน

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 5 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งต่างก็มีกฎหมายของตนที่ตีความว่าการจะติดตั้งระบบโซลาร์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของหน่วยงานตน ไทยมีกฎหมายเยอะมาก แต่ไม่เคยมีกฎหมายที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานจากแสงแดด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าp

อย่างไรก็ดี ได้ยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าสภาผู้แทนราษฏร และกฎหมายฉบับดังกล่าวจะปลดล็อคอย่างถาวรจากฎหมายอื่นที่เคยนำมาอ้างอิง 

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ มีกระแสเริ่มตั้งคำถามต่อร่างกฏหมายมากขึ้นว่า ประชาชนต้องลงทุนซื้อ Solar rooftop ก่อนหรือไม่ จึงจะมีค่าไฟที่ถูกลงได้ จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งคนรวยสามารถติดตั้งได้มากกว่า ทำให้ลดค่าไฟได้มากกว่าคนจนที่ไม่มีเงินลงทุน ทำให้ค่าไฟจ่ายเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งควรจะหาวิธีการอื่นเพราะวิธีนี้เป็นการผลักภาระให้ประชาชนมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคำถามถึงการที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ กรณีที่ติดตั้งไม่เกิน 1 เมกะวัตต์จะไม่ต้องขออนุญาต โดยจะกระทบกับโรงงานทั้งประเทศที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เกิน 1 เมกะวัตต์หรือไม่ และหากถามโรงงานขนาดใหญ่ต่างบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีจำหน้าที่/ผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว

อีกทั้ง การแก้ไขกฏหมายจากต้องขออนุญาตเป็นไม่ต้องขออนุญาต จะเกิดประโยชน์กับอีกกี่โรงงานซึ่งอาจไม่มากเหมือนที่ผ่านมาแล้ว เพราะปัจจุบันแทบจะไม่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว 

อีกทั้งสาเหตุที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้การติดตั้งโซล่าเกิน 1 เมกะวัตต์ คือ เรื่องของความปลอดภัย การกำจัดขยะอุตสาหกรรมอย่างแบตเตอรี่และแผงโซลาร์เซลที่เสื่อม หมดอายุ การกำหนดเขตอุตสาหกรรมชนิดต่างๆและกำหนดโซนนิ่งเพื่อวางแผนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

และวันนี้หลายคนคิดว่าการยกเลิกการขออนุญาตคือการแก้ปัญหา ทั้งที่ไม่เคยเป็นปัญหา แต่อีก 10-20 ปี จะรู้ว่านี่คือการสร้างปัญหา เหมือนกับการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการเปิดให้เอกชนผลิตไฟฟ้า

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ถือเป็นข้อสงสัยที่ดีจึงขอชี้แจง ดังนี้

1. การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะมี SME D bank ธนาคารในกำกับกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามามาช่วยในเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูก

2. ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพัฒนา Inverter ฝีมือคนไทยของกระทรวงพลังงาน โดยเตรียมจัดทำชุดโซลาร์ที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดเกินครึ่งหนึ่ง และจะมีงบประมาณในการฝึกฝนทางเทคนิคในการติดตั้งโซลาร์เพื่อเป็นการสร้างอาชีพใหม่

3. ในกฎหมาย จะมีการเขียนเรื่องของสถานรวบรวม สถานกำจัด รีไซเคิลที่ไปผูกกับมาตรฐานของกากอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะออกด้วย

4 ในส่วนของประเด็นการติดตั้งต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานที่เคยติดตั้งอยู่แล้ว อาจจะไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะขั้นตอนจะยังยุ่งยากอยู่มาก 

5. หัวใจของกฎหมายโซลาร์ฉบับใหม่ คือ การปลดล็อกให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นของประชาชนโดยแท้จริง ซึ่งจะสามารถเข้าถึงได้เลยไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด

ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของคนรวยกับคนจนในการเข้าถึงโซลาร์ได้ ซึ่งภาครัฐหากมองถึงประโยชน์ก็ควรจะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ ซอฟท์โลน ที่เหมาะสมให้กับประชาชนตั้งแต่ระดับกลางลงมาระดับล่าง จะช่วยเฉลี่ยค่าไฟที่ถูกลงมาจ่ายดอกเบี้ยตรงนี้ได้

ในทางอ้อมการที่คนมีเงินหนีไปใช้โซลาร์จะเป็นการแบ่งเบาดีมานด์ไฟฟ้าส่วนรวมของประเทศไปได้ส่วนหนึ่งทำให้ใช้ไฟในแหล่งที่แพงน้อยลง  

อย่างไรก็ตาม การลดขออนุญาตติดตั้งโซลาร์ถือเป็นการลดขั้นตอนการทำงานได้ดี เมื่อมีการติดตั้งมากขึ้น ก็สามารถขายไฟในส่วนที่เหลือให้รับภาครัฐผ่านระบบเน็ตบิลลิ่งได้ จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมระบบเน็ตบิลลิ่งจะช่วยคืนทุนจากตรงนี้ด้วย 

นอกจากนี้ ในส่วนของแผงโซลาร์ส่วนใหญ่แล้วจะมีอายุการใช้งาน 25 ปี และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันมีอุตสาหกรรมรีไซเคิลอยู่แล้ว มองว่าควรเข้มกับโรงงานเครื่องยนต์และเครื่องจักรที่ต้องใช้ระบบออโตเมชั่นมากกว่า ส่วนโซลาร์ดูแค่ระบบความปลอดภัย โครงหรือแผงโซลาร์ว่ามีความแข็งแรงเพียงพอ และขึ้นทะเบียนเพื่อกำลังในอนาคตเพื่อไม่ให้หลุดไป    

"เมื่อยกเลิกการขออนุญาตโซลาร์บนหลังคาแล้ว ก็อยากจะให้ยกเลิกโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์โฟลทติ้งด้วย ถ้าจะส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดโลกร้อน ดังนั้น การที่เอกชนลงทุนเองจะลดภาระรัฐบาบในการติดตั้งระบบโรงไฟฟ้าดีกับประเทศ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG เพื่อลดราคาค่าไฟ และเคลื่อนประเทศสู่ Net Zero" นายอิศเรศ กล่าว