ปมฉาว ‘อดานี’ สั่นคลอนพลังงานสะอาดอินเดีย ผู้ปล่อยก๊าซอันดับ 3 ของโลก
ปมฉาว ‘โกตัม อดานี’ กลายเป็นภาพสะท้อนปัญหาเรื้อรังของภาคพลังงานสะอาดในอินเดีย ไม่เพียงทำลายชื่อเสียงของมหาเศรษฐีรายนี้ แต่ยังฉุดรั้งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศให้ช้าลงยิ่งกว่าเดิม
KEY
POINTS
- ถ่านหินคิดเป็น 75% ของการผลิตไฟฟ้าของอินเดีย โดยพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ไม่รวมพลังงานน้ำ คิดเป็นประมาณ 12%
- รัฐต่าง ๆ ในอินเดีย ยังคงขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งไฟฟ้า ขาดระบบกักเก็บพลังงาน และต้องการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าที่จะเสี่ยงกับพลังงานหมุนเวียนแบบ “ไม่ต่อเนื่อง”
- “Adani Green” หลังจากชนะประมูลโครงการพลังงานสะอาด บริษัทต้องใช้เวลานานถึง “3 ปีครึ่ง” ในการหาลูกค้ามารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมหาศาล 8 กิกะวัตต์
จากกรณีปมฉาว “โกตัม อดานี” (Gautam Adani) มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของอินเดีย ถูกทางการสหรัฐตั้งข้อหาว่า วางแผนทุจริตด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียด้วยมูลค่ากว่า 265 ล้านดอลลาร์หรือราว 9,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้ข้อตกลงจัดหาพลังงานแสงอาทิตย์ที่คาดว่าจะสร้างผลกำไร 2 พันล้านดอลลาร์หรือราว 69,000 ล้านบาทใน 20 ปี
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ข้อกล่าวหาที่หนักหน่วงดังกล่าว นอกจากเผยเรื่องฉาวแล้ว ยังสะท้อนปัญหาเรื้อรังด้านพลังงานของแดนภารตะด้วย โดยที่ผ่านมา แม้รัฐบาลอินเดียมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านจาก “พลังงานถ่านหิน” สู่พลังงานสะอาดอย่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังงานลม” แต่บริษัทขายไฟฟ้าของประเทศในแต่ละรัฐกลับ “ล่าช้า” ในการทำข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างเชื่องช้า
- โกตัม อดานี (เครดิต: AFP) -
ยังคงติดกับดักเชื้อเพลิงฟอสซิล
สำหรับ “อินเดีย” ประเทศดาวรุ่งที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวสูงขึ้นเรื่อย ๆ กลับพึ่งพาพลังงานสกปรกอย่าง “ถ่านหิน” เป็นหลัก โดยเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับสามของโลก รองจากจีนและสหรัฐ
ถ่านหินคิดเป็น 75% ของการผลิตไฟฟ้าของอินเดีย โดยพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ไม่รวมพลังงานน้ำ คิดเป็นประมาณ 12%
ในปัจจุบัน กำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนของอินเดียยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 โดยขณะนี้ยังขาดอยู่กว่า 10% ของเป้าหมายดังกล่าว นั่นจึงทำให้รัฐบาลเปิดการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2030 ที่ทะเยอทะยานขึ้นกว่าเดิม ด้วยเป้าการเพิ่มกำลังผลิตพลังงานสะอาดเป็น 500 กิกะวัตต์
ไม่เพียงเท่านั้น ภายในห้าปีถึงเดือนมีนาคม 2028 รัฐบาลอินเดียวางแผนที่จะประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนมากกว่าสี่เท่าของกำลังการผลิตที่ได้มอบหมายในห้าปีก่อนหน้านี้ และกำหนดให้พื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้ส่วนแบ่งของประเทศเพิ่มสองเท่าเป็น 43.3% ในเดือนมีนาคม 2030
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ รัฐต่าง ๆ ในอินเดีย ยังไม่พร้อมรับมือกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน ขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งไฟฟ้า ขาดระบบกักเก็บพลังงาน และยังคงต้องการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าที่จะเสี่ยงกับพลังงานหมุนเวียนแบบ “ไม่ต่อเนื่อง”
ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของ “Adani Green” หลังจากชนะประมูลโครงการใหญ่ที่สุดของประเทศ บริษัทพลังงานหมุนเวียนยักษ์ใหญ่ของอินเดียรายนี้ ต้องใช้เวลานานถึง “3 ปีครึ่ง” ในการหาลูกค้ามารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมหาศาล 8 กิกะวัตต์
อาร์ ศรีกันธ์ ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมพลังงานและคณบดีสถาบันวิทยาศาสตร์ขั้นสูงแห่งชาติของอินเดียกล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายสำหรับการประกวดราคาและการออกสัญญานั้น “ไร้ความหมาย” ตราบใดที่ความสนใจจากเหล่าบริษัทจ่ายไฟฟ้ายังคงต่ำ
ปมฉาวอดานี ฉุดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
สำหรับข้อกล่าวหาต่ออดานี ศรีกันธ์มองว่า มีแนวโน้มทำให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชะลอตัวลง เนื่องจากการระดมทุนระยะยาวจากนักลงทุนต่างชาติอาจทำได้ยากขึ้น
ด้าน อาร์.พี. กุปตา อดีตกรรมการผู้จัดการของบริษัท Solar Energy Corporation of India มองว่า ก่อนที่รัฐบาลจะตกลงซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปริมาณที่มากขึ้น จำเป็นต้องสร้างความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในตลาดก่อน และรัฐบาลเองก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานสะอาดมากขึ้นด้วย
กุปตาเผยว่า โครงการพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยเผชิญกับการยกเลิกสัญญา โดยมีสัดส่วนประมาณ 4-5% ของโครงการทั้งหมดที่เข้าร่วมการประมูล นอกจากนี้ ยังพบปัญหาความล่าช้าในการพัฒนาระบบส่งกระแสไฟฟ้าอีกด้วย
ราเคช นาธ อดีตประธานคณะกรรมการไฟฟ้ากลางของอินเดียให้ทางออกหนึ่ง คือ การต้องรู้ว่าผู้ซื้อต้องการพลังงานไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะมีการเสนอราคาโครงการ
“การสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อก่อนเชิญชวนให้เสนอราคา อาจช่วยลดความล่าช้าในการลงนามข้อตกลงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า” นาธกล่าว
ทุกการโจมตีที่เกิด ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
ด้านโกตัม อาดานี โต้ตอบข้อกล่าวหาจากรัฐบาลสหรัฐอย่างเผ็ดร้อนว่า “ทุกการโจมตีที่เกิด ได้ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น”
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายเช่นนี้” อาดานีกล่าวโต้ในเมืองชัยปุระ ในงานมอบรางวัลอัญมณีและเครื่องประดับ “สิ่งที่ผมบอกคุณได้คือ การโจมตีทุกครั้งทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น และอุปสรรคทุกอย่าง จะกลายเป็นการก้าวกระโดด”
“ในโลกปัจจุบัน ความคิดเชิงลบแพร่กระจายเร็วกว่าความจริง” อาดานีกล่าว “ขณะที่เรากำลังดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย ผมต้องการยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของเราในการปฏิบัติตามกฎระเบียบระดับโลก”
ทั้งนี้ หลังจากที่สหรัฐตั้งข้อหาอดานีในสัปดาห์ก่อน พันธมิตรต่างชาติบางรายของอาดานีได้พยายามสร้างระยะห่าง โดย TotalEnergies ของฝรั่งเศสได้ระงับการลงทุนในโครงการพลังงานร่วมกับกลุ่มบริษัทอินเดียรายนี้ ซึ่ง TotalEnergies ระบุว่าไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการสอบสวนคดีทุจริตดังกล่าว
อ้างอิง: reuters, ft