"ไทย" ลุ้น อินเดียยกเลิกมาตรการAD สินค้า ECH จากไทย

"ไทย" ลุ้น อินเดียยกเลิกมาตรการAD สินค้า ECH จากไทย

"อินเดีย"เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด AD  สินค้า ECH สารตั้งต้นทำสี สารเคลือบผิว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กาว เลนส์แว่นตา ในอัตรา 298- 327 ดอลลาร์ต่อตันเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ไทยยื่นอุทธรณ์ รอลุ้นผล เผย ไทยส่งออก ECH อินเดียปริมาณ 56,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านบาท

KEY

POINTS

Key Point

  • รัฐบาลอินเดียเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (มาตรการ AD ) Epichlorohydrin : เอพิคลอโรไฮดรินจากจีน เกาหลี ไทย ระยะเวลา 5 ปี
  • Epichlorohydrin (ECH) เป็นสารตั้งต้นในการผลิต Epoxy Resin ซึ่งเป็นพลาสติกเหลวชนิดหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น สีและสารเคลือบผิว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กาว เลนส์แว่นตา การผลิตยางสังเคราะห์และวัสดุยืดหยุ่น
  • ผู้ประกอบการไทยที่โดนมาตรา AD  อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คำสั่งการเรียกเก็บอากร AD ของกระทรวงการคลังอินเดียต่อ Customs, Excise And Service Tax Appellate Tribunal (CESTAT)
  • ปัจจุบันมีประเทศคู่ค้าใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าของประเทศไทย รวม 88 รายการ จาก 18 ประเทศ

เว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย รายงานว่า  รัฐบาลอินเดียเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (มาตรการ AD ) Epichlorohydrin : เอพิคลอโรไฮดรินจากจีน เกาหลี ไทย

โดยกระทรวงการคลังอินเดีย ออกประกาศฉบับที่ 24/2024 เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ว่าด้วยการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้านำเข้า “Epichlorohydrin”เอพิคลอโรไฮดริน” ที่ส่งออกจากจีน เกาหลีใต้ และไทย โดยระบุสินค้าดังกล่าวถูกส่งออกไปยังอินเดียในราคาต่ำกว่ามูลค่าปกติ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศอินเดีย

ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศ รัฐบาลอินเดียได้กำหนดเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากสินค้าดังกล่าว โดยมีระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา(เว้นแต่จะมีการเพิกถอน แทนที่หรือออกประกาศใหม่) โดยสินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 298- 327 ดอลลาร์ต่อตัน

การจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้รับการจัดเก็บตามคำแนะนำของหน่วยงาน  Directorate General of Trade Remedies (DGTR) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย โดยมีภารกิจหลักในการสอบสวนและพิจารณาเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าจากต่างประเทศที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อให้การค้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และเพื่อสร้างสภาพการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดภายในประเทศ

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องทบทวนโครงสร้างราคาและการกำหนดราคาขายเพื่อให้เหมาะสมกับตลาดอินเดีย โดยต้องมั่นใจว่าราคาส่งออกไม่ต่ำกว่าราคาปกติ (Normal Value) ตามที่อินเดียกำหนด

สำหรับสินค้า Epichlorohydrin (ECH) เป็นสารตั้งต้นในการผลิต Epoxy Resin ซึ่งเป็นพลาสติกเหลวชนิดหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น สีและสารเคลือบผิว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กาว เลนส์แว่นตา การผลิตยางสังเคราะห์และวัสดุยืดหยุ่น เป็นต้น  โดยในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกสินค้า ECH ไปอินเดียปริมาณ 56,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านบาท

นางสาวอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เหตุผลในการเปิดไต่สวน AD คือ มีการทุ่มตลาด และสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมภายในของอินเดีย ส่วนมาตรการ CVD ผู้ส่งออกไทยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลไทยในการส่งออกสินค้า และสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมภายในของอินเดียระยะเวลา

การใช้มาตรการ AD  5 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2567 ถึงวันที่ 10 พ.ย. 2572 โดย อัตราอากร AD รายประเทศ คือ ไทย ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 298-327 ดอลลาร์ต่อ ตัน  เกาหลีใต้ 274-557 ดอลลาร์ต่อตัน และจีน 0-216 ดอลลาร์ต่อตัน

ทั้งนี้ กรมในฐานะดูแลเรื่องดังกล่าวได้ให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการไทย โดยในส่วนของมาตรการ CVD: อินเดียเปิดการไต่สวน CVD เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ก่อนเข้าร่วมกระบวนการไต่สวน วันที่ 11 ต.ค. 2566 กรมฯ จัดประชุมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมกระบวนการไต่สวน CVD ร่วมกับผู้ส่งออกไทย 2 ราย และหน่วยงานภาครัฐ 9 ราย และให้คำแนะนำในการตอบแบบสอบถาม การเข้าร่วมกระบวนการ และการจ้างทนายความให้กับผู้ส่งออกไทย และในระหว่างกระบวนการไต่สวน

 

กรมฯ เข้าร่วม Consultation กับ DGTR เพื่อเรียกร้องให้ยุติการไต่สวน เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการเปิดไต่สวน และรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อตอบแบบสอบถามในกระบวนการแก้ต่างในนามรัฐบาลไทย รวมถึงประสานงานกับผู้ส่งออกไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันแก้ต่างในกระบวนการไต่สวน  ผลการไต่สวน วันที่ 12 ก.ย. 2567 DGTR ประกาศยุติการไต่สวน CVD กับสินค้า Epichlorohydrin จากไทย

นางอารดา กล่าวว่า สำหรับมาตรา AD อินเดียเปิดการไต่สวน AD เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ก่อนเข้าร่วมกระบวนการไต่สวน กรมฯ ให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการไทยที่โดนมาตรการ AD   ในการเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนและการจ้างทนายความที่ปรึกษา ซึ่งผลการไต่สวน วันที่ 14 ส.ค. 2567 ทาง DGTR ประกาศผลการไต่สวน โดยเรียกเก็บอากร AD กับสินค้าที่ส่งออกจากไทย ในอัตรา 298-327 ดอลลาร์ ต่อตัน เป็นระยะเวลา 5 ปี

ต่อมา วันที่ 19 ก.ย. 2567 กรมฯ มีหนังสือในนามของรัฐบาลไทยแสดงข้อคิดเห็น ข้อโต้แย้งต่อผลการไต่สวน ADถึงกระทรวงการคลังอินเดีย โดยเรียกร้องพิจารณาข้อโต้แย้งของบริษัทฯ ในการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด และความเสียหายของอุตสาหกรรมภายในอินเดียไม่ได้เกิดจากการนำเข้าสินค้าจากไทย
ล่าสุดวันที่ 24 ก.ย. 2567 กรมฯ มีบันทึกถึง สคต. ณ กรุงนิวเดลี ขอความอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยในการนัดพบกระทรวงการคลังของอินเดียเพื่อชี้แจงข้อมูลที่ใช้ในกระบวนการไต่สวนซึ่งกระทรวงการคลังอินเดียปฏิเสธการขอเข้าพบ 

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยรายดังกล่าว  อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คำสั่งการเรียกเก็บอากร AD ของกระทรวงการคลังอินเดียต่อ Customs, Excise And Service Tax Appellate Tribunal (CESTAT) ของอินเดีย ในประเด็นการพิจารณาความเสียหายของอุตสาหกรรมภายใน และวิธีการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด

ข้อมูลจากรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศคู่ค้าใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าของประเทศไทย อาทิ สหรัฐ  จีน อินเดีย สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย อาเจนตินา บราซิล เวียดนาม เป็นต้น โดยมีการใช้ มาตรการตอบโต้การทุ่ม ตลาด (Anti-Dumping Measures: AD) สินค้า รวม 88 รายการ จาก 18 ประเทศ

ประกอบด้วย 1. สินค้าที่อยู่ในระหว่างการเรียกเก็บภาษีอากร AD รวม 48 รายการจาก 10 ประเทศ

 2. สินค้าที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการ AD สินค้ารวม 23 รายการจาก 10 ประเทศ

3 .สินค้าที่อยู่ระหว่างเปิดทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการ AD หรือทบทวนเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตรา  อากร AD สินค้ารวม 17 รายการจาก 12 ประเทศ