ล่าข้ามโลก! หลอกมะกันโอนเงินมาไทย ตุ๋นชาวไทยเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

ล่าข้ามโลก! หลอกมะกันโอนเงินมาไทย ตุ๋นชาวไทยเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

ปฏิบัติการ “ล่าข้ามโลก” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ ตุ๋นมะกันโอนเงินมาไทย ตุ๋นชาวไทยเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

กรณีปฏิบัติการ “ล่าข้ามโลก” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ ตุ๋นมะกันโอนเงินมาไทย ตุ๋นชาวไทยเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค.67 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ บช.สอท.นำโดย

  • พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท.,
  • พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท.,
  • พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2,
  • พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 ร่วมกับ 
  • Caroline A. Marshall รักษาราชการแทน ผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย สำนักงานสอบสวนกลาง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
  • MR.August Goodman , Assistant Legal Attache', Federal Bureau of Investigation (FBI) รองผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย สำนักงานสอบสวนกลาง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย
  • ดุจหทัย สมบูรณ์นิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มกำกับงานกฎเกณฑ์ สายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ตัวแทนผู้เสียหาย อาทิ วนิษา โคตรแสง และ Christopher Kalis พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “ปฏิบัติการ “ล่าข้ามโลก” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ”

ขบวนการหลอกมะกันโอนเงินมาไทย ตุ๋นชาวไทยเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 67 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีผู้เสียหายเป็นหญิงสูงอายุสัญชาติอเมริกันรายหนึ่ง มีปัญหาเรื่องการล็อกอินเข้าบัญชีอีเมล์ของไมโครซอฟต์ (Microsoft Account) จึงได้ลองค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของทีมช่วยเหลือจากบริษัทไมโครซอฟต์ผ่าน Google Search และได้พบหมายเลขโทรศัพท์ จากเว็บไซต์หนึ่ง

จึงได้ลองติดต่อ จากนั้นได้มีบุคคลปลายสายซึ่งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดีย ได้แอบอ้างว่าเป็นทีมช่วยเหลือของบริษัทไมโครซอฟท์ โดยได้ทำทีให้การช่วยเหลือผู้เสียหาย แล้วหลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งโปรแกรมควบคุมการเข้าถึงคอมพิวเตอร์จากระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามที่คนร้ายแนะนำ และกดอนุญาตให้คนร้ายแก้ไขข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์

ล่าข้ามโลก! หลอกมะกันโอนเงินมาไทย ตุ๋นชาวไทยเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

ต่อมา คนร้ายแจ้งว่าได้แก้ไขบัญชีอีเมล์ให้เสร็จแล้ว ทางไมโครซอฟต์จะ Refund เงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 49.99 USD แต่คนร้ายอ้างว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหายเกินไป เป็นจำนวน 49,999 USD คนร้ายจึงแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินคืน เนื่องจากใส่ตัวเลขจำนวนเงินผิด หากผู้เสียหายไม่โอนเงินคืน คนร้ายต้องถูกไล่ออกจากบริษัท ผู้เสียหายสงสารและหลงเชื่อ สุดท้ายจึงโอนเงินไปยังบัญชีนิติบุคคลของธนาคารหนึ่ง

ในประเทศไทย จำนวน 49,840 USD หรือประมาณ 1,738,916 บาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) นอกจากนี้ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเรียบร้อย คนร้ายยังได้ส่งข้อความเยาะเย้ยผู้เสียหายว่าถูกหลอกให้โอนเงินอีกด้วย

ต่อมา ผู้เสียหายได้ติดต่อธนาคารและแจ้งกับเจ้าหน้าที่ FBI ในสหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินเบื้องต้น ทำให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว ผู้เสียหายมีบัญชีธนาคารจำนวน 2 บัญชี โดยคนร้ายได้ใช้โปรแกรมควบคุมระยะไกลโอนเงินของผู้เสียหายจากบัญชีธนาคาร A ไปยังบัญชีธนาคาร B จำนวน 49,999 USD ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้ทำรายการโอนด้วยตนเองแต่อย่างใด ทำให้มียอดเงินเข้าบัญชีธนาคาร B คนร้ายจึงหลอกว่าโอนผิด แล้วให้ผู้เสียหายโอนเงินจากธนาคาร เข้าบัญชีคนร้ายที่อ้างว่าเป็นของบริษัทไมโครซอฟ

ต่อมา FBI สหรัฐอเมริการได้ประสานมายัง บช.สอท. เพื่อดำเนินการอายัดบัญชี และสืบสวนจับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้อง โดย พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 พร้อมชุดสืบสวนได้สืบสวนจนพบหลักฐานว่า มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยได้ใช้บัญชีธนาคารที่จดทะเบียนโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด รับโอนเงินจากผู้เสียหายในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตัวการสำคัญที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดและใช้บัญชีธนาคารดังกล่าว เป็นคนสัญชาติอินเดีย

โดยคนอินเดียกลุ่มนี้ มักหลอกลวงคนไทยที่ต้องการกู้เงินหรือยืมเงินให้นำเอกสารส่วนตัวไปให้ จากนั้นจะนำเอกสารของคนไทย มอบให้ตัวแทนนายหน้าที่รับจดทะเบียนนิติบุคคลไปดำเนินการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยตัวแทนมีค่าดำเนินการจดทะเบียนจำนวน 7,000 บาท จากนั้นจะนำเอกสารนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นบัญชีม้าในการรับเงินจากเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ โดยบัญชีม้านิติบุคคลสามารถโอนเงินได้ครั้งละเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องยืนยันตัวตน และสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อโอนเงินง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อนิติบุคคล

จากการสืบสวน พบความเชื่อมโยงของเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้าย ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารของ นายชาญ (ขอสงวนนามสกุล) กรรมการของ หจก.พัลเมตโต โดยในวันเกิดเหตุนั้น พบว่ามีการโอนเงินจาก หจก.ทินท์ เรียลตี้(บัญชีม้า) ไปยังบัญชีธนาคารของนายชาญ จำนวน 104,400 บาท

เมื่อตรวจสอบข้อมูลบัญชีนายชาญ พบว่ามีเงินในบัญชีถึง 1,000,048.96 บาท จึงได้อายัดบัญชีธนาคารดังกล่าว เพื่อส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้

ยังพบว่าบัญชีธนาคารของนายชาญ ได้ถูกใช้โอนเงินซื้อทองคำแท่งจากร้านทองแห่งหนึ่ง ย่านพาหุรัด กทม.เป็นจำนวนมาก โดยมีชายชาวอินเดียเป็นผู้ไปรับทองคำแท่งดังกล่าว จึงเชื่อว่าเป็นลักษณะการกระทำเป็นขบวนการและมีการแบ่งหน้าที่กันทำ

ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.สอท.2 พร้อม เจ้าที่ตำรวจกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมนำหมายค้นศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 243/2567 ลง 19 มิ.ย. 67 เข้าทำการตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.สามกอ อ.เสนา จว.พระนครศรีอยุธยา พบ นางสาวอารยา (ขอสงวนนามสกุล) และนายอาสวานิ สัญชาติอินเดีย เป็นผู้ครอบครองและพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าว ตรวจค้นภายในบ้าน พบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และบัตร ATM ซึ่งเป็นชื่อบัญชีของนายชาญ และของกลางอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 19 รายการ พร้อมสืบสวนขยายผลในเวลาต่อมา

จากการขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐาน สามารถแจ้งข้อกล่าวหาคนไทยจำนวน 3 รายได้แก่

(1) นายชาญ (ขอสงวนนามสกุล) ในข้อหา ยินยอมให้ผู้อื่นนำบัญชีไปใช้, (2) น.ส.ประนอม (ขอสงวนนามสกุล) กรรมการ หจก.ทินท์ เรียลตี้ และ (3) น.ส.สร้อย (ขอสงวนนามสกุล) กรรมการ หจก. ทินท์ เรียลตี้

โดยทั้ง 3 ราย ให้การเบื้องต้นว่า พวกตนได้นำเอกสารส่วนตัว อาทิ บัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน ให้แก่ชายชาวอินเดียรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ในพื้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อมาจึงทราบภายหลังว่าตนเองถูกนำหลักฐานไปจดทะเบียนนิติบุคคลและเปิดบัญชีม้านิติบุคคล

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจนขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ

ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญได้อีกจำนวน 2 ราย คือ (1) นายกฤษณะฯ ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 5696/2567 ลงวันที่ 25 พ.ย.67 และ (2) นายอาสวานิ ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 5697/2567 ลงวันที่ 25 พ.ย.67 ในข้อหา “สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน” พร้อมกับได้ประสานตำรวจสากลในการออกหมายแดง เพื่อติดตามจับกุมคนร้ายซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีมาดำเนินคดีต่อไป

โดย (2 ธ.ค.67) ตำรวจไซเบอร์ นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. ร่วมกับ ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา อาทิ U.S. Secret Service, FBI และ HSI

และผู้แทนจากธนาคารที่สามารถประสานอายัดเงินในบัญชีของคนร้ายได้ทันเวลา ได้ร่วมกันส่งมอบเงินคืนให้แก่ตัวแทนผู้เสียหาย จำนวน 1,643,349.40 บาท โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

และตัวแทนผู้เสียหาย ต่างได้แสดงความขอบคุณผู้บังคับบัญชา และชุดสืบสวนของตำรวจไซเบอร์ ที่ร่วมกันปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตามนโยบายนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ โดยข้อที่ 9ได้กำหนดว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ในการรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่อได้อย่างทันท่วงที โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยประสานความร่วมมือระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกา