สามเป้าหมายของ "โดนัลด์ ทรัมป์" | อาร์ม ตั้งนิรันดร
“ทรัมป์” มีสามเป้าหมายที่อาจดูขัดแย้งกัน แต่อยู่ในหัวเขาพร้อมกัน นั่นคือ เขาอยากให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปได้สวย เขาอยากทำดีลกับประเทศต่างๆ และเขาต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจการค้าโลกในระดับรากฐาน
บางคนมองว่า ทรัมป์ให้ความใส่ใจตลาดหุ้นมาก เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ทำอะไรที่จะช็อกตลาดมากจนเกินไป บางคนมองว่า เป้าหมายเขา คือ การกดดันประเทศต่างๆ ให้มาเจรจา เพื่อได้ดีลที่ดี เพราะทรัมป์พูดมาตลอดว่าเขาเป็น Deal Maker
ดังนั้น การขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ จึงน่าเป็นเพียงคำขู่ไว้ใช้ต่อรองเจรจาตักตวงประโยชน์จากคู่เจรจา มากกว่าการตั้งใจจะทำจริงในระดับที่หาเสียงไว้
แต่บางคนก็มองว่า ทรัมป์คราวนี้มาแรงและมาจริง เพราะเป้าหมายของเขาอยู่ในระดับที่ต้องการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจการค้าโลก เลิกโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยเป้าหมายสำคัญสุดท้าย คือ การรื้อฟื้นภาคอุตสาหกรรมผลิตในสหรัฐฯ และสร้างงานให้ชนชั้นกลางสหรัฐฯ ที่เป็นฐานเสียงของเขา โดยกดดันให้โรงงานย้ายกลับมาสหรัฐฯ ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้าทั่วโลก
ผมมองว่า ความเป็นจริงจะเป็นการผสมผสานกันทั้งสามเป้าหมาย อันดับแรก ทรัมป์แคร์ตลาดหุ้น ดังนั้น วิธีการดำเนินนโยบายของเขาจะเน้นนโยบายที่เป็นมิตรกับตลาด เช่น การลดภาษีเงินได้ การลดทอนกฎระเบียบต่อภาคธุรกิจ
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ตลาดไม่ชอบ เช่น การตั้งกำแพงภาษีศุลกากร ทรัมป์จะขู่ให้สูง แต่ตอนทำจะทำน้อยและค่อยเป็นค่อยไป เช่น บอกจะเก็บร้อยละ 60 แต่สุดท้ายเก็บร้อยละ 10 ก่อน และค่อยทำเล่นไปทีละประเทศ (เช่น เริ่มที่จีน เม็กซิโก แคนาดา) เริ่มที่บางกลุ่มสินค้าก่อน ค่อยๆ ทำยกระดับไปทีละขั้น เป็นต้น
ระหว่างที่ขึ้นกำแพงภาษีบางประเทศ ทรัมป์ก็คงขู่จะขึ้นกำแพงภาษีประเทศที่เหลือ และกดดันให้ประเทศเหล่านั้นมาเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับสหรัฐฯ และคงตั้งโต๊ะแถลงข่าวดีลเมกกิ้งกับประเทศต่างๆ ตามสไตล์ทรัมป์
เพียงแต่รอบนี้หลายคนมองว่าจะดีลกับจีนคงไม่ง่าย เพราะความเชื่อใจกันนั้นตกต่ำมาก หลังจากที่ในรัฐบาลทรัมป์ 1 เคยทำข้อตกลงการค้า Phase 1 กับจีนช่วงก่อนโควิด แต่สุดท้ายจีนก็ไม่ได้ซื้อสินค้าสหรัฐฯ ตามที่ตกลงกันไว้
หลายคนมองว่าจีนใช้วิธีซื้อเวลารอเปลี่ยนรัฐบาลมากกว่า เพียงแต่สุดท้ายถึงเปลี่ยนเป็นรัฐบาลไบเดน ไบเดนก็ยังคงไม่ยกเลิกกำแพงภาษีใดๆ ที่ทรัมป์ตั้งไว้อยู่ดี
ดีลที่จะตกลงกับจีนนั้นไม่ง่าย เพราะสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจากจีน จีนไม่น่าจะยอมหรือให้สหรัฐฯ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้จีนปรับค่าเงิน ให้จีนซื้อสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้น หรือให้จีนเปิดตลาดมากขึ้น และจีนเองก็คงไม่ยอมที่จะให้เห็นภาพว่าถูกกดดันจนต้องยอมอ่อนข้อลง แต่น่าจะยืนหยัดสู้พร้อมทนเจ็บตัวเสียมากกว่า
ความคิดเห็นในจีนตอนนี้ก็เปลี่ยนไปมาก เพราะในยุครัฐบาลทรัมป์ 1 จีนยังมองว่ามีช่องทางที่จะเจรจา และมองว่าสุดท้ายหากเปลี่ยนรัฐบาล สงครามการค้าก็คงจะยุติลง (ซึ่งสุดท้ายไม่ได้เป็นเช่นนั้น)
แต่ในรอบนี้กระแสภายในจีนเปลี่ยนเป็นแนวคิดว่านี่เป็นศึกระยะยาวที่ต้องสู้และอดทน เพราะสหรัฐฯ อย่างไรก็คงไม่ลดราวาศอกแน่ หากยอมเจรจาหรือยอมให้ประโยชน์กับสหรัฐฯ ก็คงเพียงผ่อนหนักเป็นเบาระยะสั้น แต่สุดท้ายก็จะกลับมาโดนอีกหลายดอกอยู่ดี
ส่วนประเทศอื่นๆ ก็คงพยายามเจรจากับทรัมป์ และต่างคงเตรียมแพคเกจประโยชน์ที่จะให้กับสหรัฐฯ ไปยื่นหมูยื่นแมวแลกกับทรัมป์ ขอว่าอย่าขึ้นกำแพงภาษี แต่ถ้าใครคิดว่าจะสำเร็จ
ผมคิดว่าทำได้ก็แค่ผ่อนหรือยื้อเวลา แต่สุดท้ายทิศทางและแนวโน้มก็คือทรัมป์คงจะเดินหน้าตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากทุกประเทศอยู่ดี
ความเห็นผมก็คือทรัมป์ทำแน่ ยังไงสุดท้ายก็ไม่รอด เพราะกำแพงภาษีเป็นเรื่องความเชื่อทางเศรษฐกิจของทรัมป์ ไม่ใช่เพียงคำขู่เพื่อเรียกหาประโยชน์อย่างเดียว
ตอนนี้เริ่มพูดกันว่าทรัมป์ต้องการยกระดับเรื่องการขึ้นกำแพงภาษีให้เป็นกฎหมาย ไม่ใช่เพียงคำสั่งฝ่ายบริหาร เพราะหากออกเป็นกฎหมาย ก็จะมีลักษณะที่ถาวรระยะยาวขึ้น
ประธานาธิบดีคนต่อไปก็ยากที่กลับลำ หรือเปลี่ยนทิศทางนี้ และหากออกเป็นกฎหมาย ก็สามารถตั้งกำแพงภาษีได้เป็นการทั่วไป เช่นกับทุกประเทศทุกกลุ่มสินค้า แตกต่างจากคำสั่งบริหาร ซึ่งฝ่ายบริหารต้องชี้แจงว่าประเทศใดมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าใด จึงจะตั้งกำแพงภาษีได้
ดังนั้น สุดท้ายที่ทรัมป์หาเสียงไว้ว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากทุกประเทศ ผมว่า ทิศทางนี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่คำขู่เล่นๆ
เพียงแต่คงต้องผสมผสานกับเป้าหมายสองอย่างแรกคือไม่ให้ช็อคตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากจนเกินไปและต้องการต่อรองผลประโยชน์กับประเทศต่างๆ ระหว่างทาง จึงคงค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ขึ้น ทีละขั้น แต่สุดท้ายทิศทางนี้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ใช่พูดขู่เล่นๆ ครับ.