จาก 'เพลโต' ถึง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เมื่อประชาธิปไตยสหรัฐกำลังอยู่ในขาลง (?)

จาก 'เพลโต' ถึง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เมื่อประชาธิปไตยสหรัฐกำลังอยู่ในขาลง (?)

"กรุงเทพธุรกิจ" ชวนอ่านบทวิเคราะห์ของ "เจสัน สแตนลีย์" ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยเยล และผู้เขียนหนังสือ "Erasing History: How Fascists Rewrite the Past to Control the Future"

ตั้งแต่สมัยที่เพลโตประพันธ์งานเขียน Republic เมื่อ 2,300 ปีที่แล้ว ทำให้นักปรัชญาเข้าใจกระบวนการที่ผู้นำประชานิยม (Demagogues) ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งที่ว่ากันว่าเสรีและเป็นธรรม โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อล้มล้างประชาธิปไตยและสถาปนาการปกครองแบบเผด็จการ กระบวนการนี้เป็นเรื่องตรงไปตรงมาและเราเพิ่งได้เห็นมันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ตั้งแต่คืนวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้รับข้อความทางโทรศัพย์มือถือมากมายถามว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร (เพื่อนๆ เพื่อนร่วมงาน และคนรู้จักของผมบางคนทราบดีว่าผมเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างง่ายดาย) แทนที่จะตอบทุกข้อความโดยละเอียด ผมจะอธิบายเหตุผลของผมที่นี่

นักปรัชญาจำนวนมากทราบดีอยู่แล้ว (อย่างน้อยๆ ก็ประมาณ 2,300 ปีแล้วหลังจากงานประพันธ์ชิ้นสำคัญ Republic ของเพลโต) ว่าผู้นำประชานิยมและผู้ที่หวังจะเป็นทรราช (Tyrants) จะชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยได้อย่างไร กระบวนการนั้นตรงไปตรงมา และเราเพิ่งได้เห็นมันเกิดขึ้น 

 

 

 

 

ในระบอบประชาธิปไตย ใครก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ รวมถึงผู้ที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง (Thoroughly Unsuitable) ที่จะนำหรือปกครองสถาบันของรัฐบาล หนึ่งสัญญาณเตือนของความไม่เหมาะสมคือความเต็มใจที่จะโกหกอย่างไม่ยั้ง โดยเฉพาะการแสดงตนว่าเป็นผู้ปกป้องประชาชนจากศัตรูที่พวกเขารับรู้ทั้งจากภายนอกและภายใน เพลโตมองว่าประชาชนคนธรรมดาถูกควบคุมด้วยอารมณ์ได้ง่าย ดังนั้นจึงอ่อนไหวต่อคำโฆษณาเช่นนี้ ซึ่งข้อความทั้งหมดเป็นจุดยืนหลักของปรัชญาการเมืองประชาธิปไตย (Democratic Political Philosophy)

นักปรัชญาทราบดีว่าการเมืองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จเสมอไป ดังที่หนึ่งในนักปรัชญาคนสำคัญอย่าง ฌอง-ฌากส์ รุสโซ โต้แย้งว่า ประชาธิปไตยมีความเปราะบางที่สุดเมื่อความไม่เท่าเทียมในสังคมฝังรากลึกและเติบโตจนเห็นได้ชัดเจนเกินไป ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึกสร้างเงื่อนไขให้ผู้นำประชานิยมกอบโกยผลประโยชน์จากความไม่พอใจของประชาชนและท้ายที่สุดประชาธิปไตยก็ล่มสลายตามที่เพลโตได้อธิบายไว้ รุสโซจึงสรุปว่าประชาธิปไตยต้องการความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เมื่อนั้นประชาชนจึงจะไม่ถูกนักการเมืองเอาเปรียบ 

ผู้เขียนได้พยายามอธิบายอย่างละเอียดถึงสาเหตุและกระบวนการซึ่งผู้คนที่รู้สึกว่าตัวเขาถูกดูหมิ่น (ทั้งด้านวัตถุหรือทางสังคม) ออกมาจำนนต่อเหตุการณ์ผิดปกติในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน การเกลียดผู้หญิง ชาตินิยมทางชาติพันธุ์ และความคลั่งไคล้ทางศาสนา ซึ่งภายใต้บริบทสังคมที่มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ผู้คนในสังคมจะไม่ออกมาจำนนต่อเหตุการณ์เหล่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ เงื่อนไขที่เป็นรูปธรรม (Material Conditions) ที่สหรัฐอเมริกาขาดไปสำหรับประชาธิปไตยที่มีสุขภาพดีและมั่นคง หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ความเหลื่อมล่ำทางความมั่งคั่ง อันมหาศาลคือนิยามของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ “ไม่อาจไม่บ่อนทำลาย” ความสามัคคีของประชาชนและก่อให้เกิดความไม่พอใจ เมื่อปรัชญาการเมืองประชาธิปไตยที่มีอายุกว่า 2,300 ปีชี้ว่าประชาธิปไตยไม่อาจยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ดังนั้นผลการเลือกตั้งล่าสุดในปี 2024 จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้นจึงไม่เกิดกับสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เหตุผลหลักคือมี ข้อตกลงกันภายใน (Unspoken Agreement) ระหว่างนักการเมืองที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองที่แบ่งแยกและเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 จอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกัน ตอนนั้นเขาสามารถใช้ประโยชน์จากการเหมารวมทางเชื้อชาติ (Racist Stereotypes) หรือทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการเกิดของบารัค โอบามา แต่แมคเคนปฏิเสธที่จะเลือกหาเสียงจากวิธีเหล่านั้น ที่สำคัญแมคเคนมีชื่อเสียงจากการ “แก้ไขข้อเท็จจริง” หลังจากผู้สนับสนุนของเขากล่าวหาว่าโอบามาอย่างผิดๆ ว่าเป็น "ชาวอาหรับ" ที่เกิดในต่างประเทศไม่ใช่ชาวอเมริกัน ท้ายที่สุดแม้แมคเคนแพ้การเลือกตั้ง แต่เขาได้รับการจดจำว่าเป็นรัฐบุรุษอเมริกันที่มีความซื่อสัตย์ไม่มีที่ติ

แน่นอนว่า นักการเมืองอเมริกันมักใช้การเหยียดเชื้อชาติและการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันมาเป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จ แต่ข้อตกลงภายในที่นักการเมืองสหรัฐทุกคนจะไม่เล่นการเมืองในลักษณะนี้ (สิ่งนี้นักทฤษฎีการเมือง ทาลี เมนเดลเบิร์ก เรียกว่าบรรทัดฐานของความเท่าเทียม) ห้ามการอ้างถึงการเหยียดเชื้อชาติอย่างเปิดเผยเกินไป แทนที่เล่นการเมืองลักษณะนั้นอย่างโจ่งแจ้ง ทว่ากลับต้องทำผ่านข้อความที่ซ่อนเร้น การส่งสัญญาณที่เข้าใจเฉพาะกลุ่ม และการเหมารวม (เช่น การพูดถึงความขี้เกียจและอาชญากรรมในเมืองชั้นในระหว่างการหาเสียง)

แต่ภายใต้เงื่อนไขของความไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากลึกในปัจจุบัน การเมืองแบบที่กล่าวไปข้างต้นกลับมีประสิทธิภาพในการหาเสียงเลือกตั้งน้อยกว่าการกล่าวถ้อยคำในเชิงลบออกไปอย่างโจ่งแจ้ง โดยสิ่งที่ทรัมป์ทำตั้งแต่ปี 2016 คือการทิ้งข้อตกลงเดิมที่เหล่านักการเมืองรู้กันเป็นนัยผ่านการเริ่มตีตรา ผู้อพยพ ว่าเป็นสัตว์ร้ายและคู่แข่งทางการเมืองว่าเป็น "ศัตรูภายใน" การเมืองแบบ "พวกเราต่อต้านพวกเขา" ที่ชัดเจนเช่นนี้ นักปรัชญาทราบมาโดยตลอดว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในการเรียกคะแนนนิยม

ปรัชญาการเมืองประชาธิปไตยจึงเป็นทฤษฎีที่ถูกฝาถูกตัวในการวิเคราะห์ “การเมืองเรื่องทรัมป์” ทว่าก็ยังน่าเศร้าที่ทฤษฎีนี้ยังทำนายฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแจ่มแจ้ง ตามที่เพลโตกล่าวไว้ว่า คนประเภทที่หาเสียงแบบนี้จะปกครองแบบทรราช

จากทุกสิ่งที่ทรัมป์ได้พูดและทำระหว่างการหาเสียงครั้งนี้รวมทั้งในวาระแรกของเขา ผู้เขียนคาดหวังได้ว่าทฤษฎีของเพลโตจะได้รับการพิสูญความแม่นยำและถูกต้องอีกครั้ง การครอบงำรัฐบาลทุกกิ่งก้านโดยพรรครีพับลิกันจะทำให้สหรัฐเป็นรัฐพรรคเดียว อนาคตอาจมีโอกาส “บ้าง” ให้พรรคการเมืองอื่นได้แข่งขันเพื่อแย้งชิงอำนาจ แต่การแข่งขันทางการเมืองที่รออยู่ข้างหน้าส่วนใหญ่อาจไม่เข้าข่ายเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

อ้างอิง: Project Syndicate