รับมือกับความผันผวนในการลงทุน

รับมือกับความผันผวนในการลงทุน

ความคาดหวังที่จะเห็นในปี 68 ก็คือความผันผวน และเราจะมีวิธีการจัดการกับความผันผวนอย่างไร สิ่งที่ต้องทำเมื่อความผันผวนในการลงทุนเพิ่มขึ้นคือ ผู้ลงทุนต้องถามตัวเองก่อนว่า วัตถุประสงค์ของเงินลงทุนก้อนนั้น เป็นเงินลงทุนระยะสั้น ระยะยาว หรือ เงินลงทุนระยะกลางๆ

ก่อนสิ้นปีดิฉันได้กล่าวถึงความผันผวนที่จะมาพร้อมกับว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ทันข้ามปีดี ความผันผวนก็มาเป็นระลอกๆ รวมถึงความผันผวนในตลาดพันธบัตรของสหรัฐด้วย เพราะมีการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่ลดลงไปอีกตามที่ควรจะเป็นเนื่องจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐ ด้วยการกีดกันสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนผลิตต่ำกว่า และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐก็อาจจะไม่ลดลงตามคาด ส่งผลให้ผู้ค้ากลุ่มหนึ่งเทขายพันธบัตรระยะยาว

เมื่อผู้ลงทุนและผู้ค้ามองว่าตลาดจะผันผวน พฤติกรรมการลงทุนก็จะเปลี่ยนเป็นการลงทุนและซื้อขายแบบเก็งกำไรมากขึ้นกว่าหากมองว่าตลาดจะมีแนวโน้มขาเดียว คือถ้าเป็นขาขึ้น ก็จะซื้อแล้วถือเอาไว้ ส่วนหากมองว่าตลาดเป็นขาลง ก็จะขายออกไปก่อนและรอเข้าซื้อใหม่ นอกจากนี้ เมื่อตลาดผันผวน ผู้ลงทุนก็จะเข้าๆออกๆมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดผันผวนเพิ่มขึ้นอีก

ความคาดหวังที่เราจะเห็นแน่ๆในปี 2568 ก็คือความผันผวน และเราจะมีวิธีการจัดการกับความผันผวนอย่างไร

สิ่งที่ต้องทำเมื่อความผันผวนในการลงทุนเพิ่มขึ้นคือ ผู้ลงทุนต้องถามตัวเองก่อนว่า วัตถุประสงค์ของเงินลงทุนก้อนนั้น เป็นเงินลงทุนระยะสั้น ระยะยาว หรือ เงินลงทุนระยะกลางๆ

หากเป็นระยะสั้น คือ ระยะเวลาลงทุนน้อยกว่า 1 ปี ห้ามทำอย่างอื่นนอกจากให้ลงทุนในที่ปลอดภัย เช่น ฝากธนาคาร ซื้อกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนพันธบัตรกำหนดเวลาแน่นอน (Term Fund) อายุไม่เกิน 1 ปี

หากเป็นเงินลงทุนระยะยาว ควรยึดเป้าหมายแผนการเงินเป็นหลัก เช่น เงินลงทุนเพื่อการเกษียณในอีก 15 ปีข้างหน้า ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้นมากนัก แต่ก็ควรปรับพอร์ตให้ถือหลักทรัพย์คุณภาพดี มีปัจจัยพื้นฐานหนุน และเป็นหลักทรัพย์ที่เข้ากับสถานการณ์ลงทุนในขณะนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของหลักทรัพย์ (หุ้น หรือ ตราสารหนี้ หรือผสม) ภูมิภาคที่ลงทุน กลุ่มธุรกิจ และบริษัท จะได้มีภูมิต้านทานในระดับหนึ่ง เพราะความผันผวนในระยะสั้น เมื่อมองภาพรวมในระยะยาวแล้วจะดูเล็กน้อยมากค่ะ

หากท่านมีเงินลงทุนในระยะปานกลาง มีประสบการณ์ในการซื้อขายหลักทรัพย์พอสมควร มีเวลาติดตามข้อมูล และมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้สูงระดับหนึ่ง ท่านอาจจะใช้นโยบายลงทุนแบบมืออาชีพ (แบบผู้จัดการกองทุน) ได้ค่ะ คือแบ่งเงินส่วนหนึ่งของพอร์ตท่านไปเทรด หมายถึงไปซื้อๆขายๆ เพื่อโอกาสในการรับผลกำไรมากขึ้น แต่การทำเช่นนี้ก็มีโอกาสในการขาดทุนมากขึ้นเช่นกัน หากท่านลงทุนผิด

โดยทั่วไป ที่ดิฉันเคยดำเนินการ ผู้จัดการกองทุนจะแบ่งพอร์ตไปเทรดประมาณ 20% โดยส่วนที่เทรดนี้ ท่านต้องมีวินัยในการตัดขาดทุน และขายทำกำไรเมื่อได้กำไรถึงจุดหนึ่ง จะใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เหตุผลเดียวที่ท่านจะไม่ขายหรือซื้อเมื่อถึงราคาเป้าหมาย คือเมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไป เช่นมีเหตุการณ์หรือนโยบายบางอย่างที่อาจทำให้มูลค่าที่ควรจะเป็นของหลักทรัพย์นั้นเปลี่ยนไป เป็นต้น การตัดขาดทุน หรือขายทำกำไรนี้ เป็นวิธีการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัดที่เราสามารถรับได้ค่ะ

เวลาที่ตลาดทุนมีความผันผวนเพิ่มขึ้น (ซึ่งในทางการเงินเราถือว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น) จะหมายถึงการแกว่งของราคาจะมีช่วงกว้างขึ้น ซึ่งหากเป็นบวก ก็ทำให้มีโอกาสกำไรมากขึ้น แต่หากเป็นลบ ก็จะมีโอกาสขาดทุนมากขึ้นด้วย เครื่องมือที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในสถานการณ์นี้คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอย และในที่สุดทุกอย่างก็จะกลับสู่ดุลยภาพ” เราจะใช้การวิเคราะห์นี้ เพื่อจับจังหวะเข้า-ออกค่ะ

อย่างไรก็ดี หลักทรัพย์ที่จะนำมาลงทุนแบบ trading นี้ ยังต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีนะคะ เพราะหากผิดพลาด เกิดอะไรขึ้น จะยังสามารถถือลงทุนระยะยาวได้ แม้อาจจะเสียโอกาส หรือบาดเจ็บไปบ้าง จะไม่ถึงกับหายไปหมดเลยทีเดียว

ดิฉันพยายามค้นหาดูว่า ผู้ลงทุนมักจะทำอะไรผิดพลาดบ้างในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน เพื่อฝากไว้เป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ลงทุน พบข้อเขียนของคุณแดน ฮันท์ ของมอร์แกน สแตนลีย์ รวบรวมห้าข้อผิดพลาดของผู้ลงทุนยามตลาดผันผวนไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

1. ขายทิ้งอย่างตื่นตระหนก

2. ขายออกแล้วถือเงินสดไปเรื่อยๆ

3. มั่นใจเกินไปและเลือกผิด (เขาเปรียบข้อนี้เสมือนการเอามือเปล่าไปรับมีดที่กำลังหล่น)

4. ขาดทุนเยอะขึ้นและพยายามกลบการขาดทุนโดยเลือกผิดวิธี

5. ลืมกลับมาปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน (ดิฉันขออธิบายเพิ่ม เช่น ขายหุ้นออกไปถือตราสารหนี้ แล้วลืมกลับมาซื้อหุ้นอีกหลังจากราคาตกลงมาถึงจุดที่น่าสนใจลงทุน)

รับทราบความผิดพลาดของคนทั่วไปแล้ว เราจะได้ระวังตัวเรานะคะ ไม่อยากให้ท่านเลือกการเทรด หากท่านไม่ได้มีประสบการณ์ในการลงทุนมากมาย อยากแนะนำให้ใช้บริการของมืออาชีพ คือลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือหากท่านมีขนาดทรัพย์สินมากเพียงพอ ก็อาจให้ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารกองทุนส่วนบุคคลให้ได้ค่ะ

ขออนุญาตประชาสัมพันธ์เล็กน้อย สำหรับท่านที่อยากสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับตัวเองและคนรอบข้าง อยากเชิญชวนซื้อหนังสือ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน” ของดิฉัน เชื่อว่า ถ้าได้ดูลิสต์คำถามเพื่อถามตัวเองก่อนลงทุนตามที่มีผู้มาชักชวน ในหน้า 121 เรื่อง “แชร์ลูกโซ่” และได้ใช้เทคนิคเคล็ดลับการลงทุนในหน้า 160 สอบถามตัวเองให้แน่ใจก่อนการลงทุนไม่ว่าจะลงทุนในอะไรก็ตาม ก็คงจะไม่มีเหยื่อสักคนในโศกนาฏกรรมทั้งหลายบนโลกออนไลน์ที่ปรากฏในปัจจุบัน คุ้มค่าเงิน 200 บาทที่จ่ายค่าหนังสือจริงๆค่ะ

นอกจากนี้ ท่านจะยังได้ร่วมในการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาแก่น้องๆผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย 

ที่สำคัญคือ ดิฉันไม่ได้รับบริหารเงินให้ใคร เพราะฉะนั้นหากมีการนำชื่อไปแอบอ้าง รับประกันว่าปลอม 100% ค่ะ