‘ไทยบีเอ็มเอ’ จ่อคลอดเกณฑ์คุม ‘หุ้นกู้ไฮยิลด์’ ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน
“สมาคมตราสารหนี้” จ่อคลอด “เกณฑ์ใหม่” คุมออก “หุ้นกู้ไฮยีลด์” หวังสกัดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อเร่งฟื้นคืนความเชื่อมั่น-ปกป้องผลประโยชน์นักลงทุน
สถานการณ์ การผิดนัดชำระคืน “หุ้นกู้” เมื่อครบกำหนด ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
โดยเฉพาะจากผู้ออกกลุ่ม “ไฮยีลด์บอนด์” ที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำ ที่เห็นความเสี่ยงในการผิดนัดชำระคืนดอกเบี้ย และชำระคืนเงินต้น หรือการขอเลื่อนจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปมากขึ้น
ซึ่งยังเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อ “นักลงทุน” ต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังทำลายบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนไทยให้ซบเซา เหล่านี้นำมาสู่การหารือร่วมกับกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
รวมถึงสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ต่อเนื่อง เพื่อสร้างเกาะป้องกันให้กับทั้งนักลงทุนและผู้ออกหุ้นกู้ (Issuer) และเพื่อปกป้องเหตุการณ์ซ้ำรอยจากการผิดนัดชำระหุ้นกู้ต่างๆ เช่นในอดีต
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนปี 2568 มีหลายเรื่องที่สมาคมยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนเพิ่มขึ้น การปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุน โดยเฉพาะการสร้างกลไก หรือ กลไก Mecthnism เพื่อปกป้องนักลงทุน ที่เกี่ยวกับตลาดไฮยีลด์บอนด์
โดยปี 2567 เป็นปีที่สมาคมฯ มีการศึกษาไปพอสมควร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปีนี้จะเป็นอีกปีในการพูดคุยกับคณะทำงานต่างๆ เพื่อทำให้ “กฏเกณฑ์” แนวปฏิบัติต่างๆ มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเกณฑ์การออกไฮยีลด์บอนด์ จะต้องมี “ข้อความ” มีเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อเป็นการดูแลนักลงทุนให้ดี ทั้งเรื่อง Market education รวมถึงส่งเสริมสร้างขีดความสามารถ
เช่นเดียวกับการ “เพิ่มความระมัดระวัง” ในการออกไฮยีลด์บอนด์ที่มากขึ้น ที่อาจจะมีการนำ Standard Practice มาตรฐาน แนวปฏิบัติต่างๆ จากต่างประเทศ เข้ามาใช้ในการทำดีล กฏเกณฑ์ในการออกไฮยีลด์บอนด์มากขึ้น หากดูในต่างประเทศในส่วนการกำกับดูแล สำหรับผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์มีการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดค่อนข้างมากสำหรับผู้ออก
เช่นหากจะกู้เงิน หรือออกหุ้นกู้ ที่ต้องมีกำหนดหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ และมีกำหนดเพิ่มเติมว่าเงินที่ได้จะนำไปทำอย่างไร กระแสเงินสดปัจจุบันยังเพียงพอในการจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นเมื่อครบกำหนดหรือไม่ รวมถึงการเพิ่มเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่นไม่สามารถนำเงินออกนอกบริษัทไปลงทุน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการได้ หรืออาจต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้ก่อน ซึ่งไทย เกณฑ์เหล่านี้บางด้านไม่ได้มีกำหนดเลย ดังนั้น จะเห็นว่าเกณฑ์กำกับของต่างประเทศเข้มงวดค่อนข้างมาก สำหรับการออกไฮยีลด์บอนด์
“เราไม่ได้บอกว่าจะออกเป็นกฎ แต่เรามองว่าน่าจะเอา Standard practice มาเริ่มสำหรับ Underwriter ในการทำดีลสำหรับไฮยีลด์บอนด์ ทำให้ส่วนหนึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลงทุนด้วย และเวลาออกหุ้นกู้นักลงทุนจะมั่นใจมากขึ้น ว่ามีกรอบปกติเพิ่มเติมบ้าง อย่างน้อยช่วยปกป้องนักลงทุนได้ระดับหนึ่ง เพราะประสบการณ์ที่เราเห็นมาในช่วงที่ผ่านมาคือ เวลาออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บนอด์ งบการเงินดีทุกอย่าง กระแสเงินสดเยอะ แต่พอผ่านไป 1-2 ปี บริษัทเอาเงินไปลงทุนต่างๆ พอถึงครบดีลต้องชำระคืน ก็เงินไม่เหลือแล้ว”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หลังจากนี้ จะเห็นการออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ยากขึ้น และจะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพมากขึ้ จากการยกระดับเกณฑ์ของ ตลท. และก.ล.ต. ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับผู้ออกที่มีการคัดกรองเข้มข้นมากขึ้น