เศรษฐกิจปี 2568 ต้องคิดใหม่ ทําใหม่ พูดใหม่ ตั้งใจใหม่

เศรษฐกิจปี 2568 ต้องคิดใหม่ ทําใหม่ พูดใหม่ ตั้งใจใหม่

อาทิตย์ที่แล้ว มีคําถามจากแฟนคอลัมน์เข้ามา ขอความเห็นเรื่องเศรษฐกิจปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งผมก็บอกไปตรงๆ ว่า ตอบยาก เพราะปัจจัยลบมีมากโดยเฉพาะต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศเองปัญหาเราก็เยอะ และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาก็ยังไม่ตรงจุดและมีข้อจํากัดมาก ทําให้ปีนี้หลายอย่างจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่รัฐบาลทำในแง่นโยบาย วันนี้จึงอยากให้ความเห็นเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ขณะนี้มองคล้ายกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ดี อาจขยายตัวตํ่ากว่าร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวปีที่แล้ว เพราะหลายปัจจัยรุมเร้าทั้งปัจจัยภายในและภายนอก

ปัจจัยภายนอกคือความไม่แน่นอนที่จะมีมากขึ้นในเศรษฐกิจโลกปีนี้ ทั้งความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจประเทศหลักโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่จะส่งผลกระทบกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงิน ซึ่งจะสร้างข้อจํากัดให้กับการส่งออก การท่องเที่ยว เงินทุนไหลเข้าและสภาพคล่องประเทศเรา เพราะเราเป็นเศรษฐกิจเปิด

สำหรับปัจจัยในประเทศสําคัญสุดคือ กําลังซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อ่อนแอมากเพราะเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ตํ่ามานาน รายได้แท้จริงของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นต่ำมากหรือติดลบ ปีที่แล้วค่าจ้างนอกภาคธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4

ความสามารถในการหารายได้และความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ลดลงเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจขาดการลงทุน ภาคธุรกิจไม่ปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ไม่มีนวัตกรรม ภาคส่งออกจึงมีข้อจํากัดที่จะแข่งขัน ปริมาณหนี้ที่สูงทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐก็ฉุดรั้งการเติบโตของการใช้จ่ายและเศรษฐกิจเพราะภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงจํากัดการใช้การกู้ยืมหรือการสร้างหนี้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนในอดีต 

ล่าสุดหนี้ภาคเอกชนซึ่งรวมหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 167.2 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่หนี้ภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 64.4 ของจีดีพี สิ้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นี่คือความอ่อนแอที่เศรษฐกิจเรามี ทําให้ประเทศไม่มีเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจนอกจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ และถ้ารัฐใช้จ่ายมากขึ้นก็ต้องมาจากการกู้ยืมหรือสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเพราะรัฐเองก็ไม่มีรายได้ นอกจากนี้ประเทศก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่มีการแก้ไข เช่น คุณภาพการศึกษา ทักษะแรงงาน ผลิตภาพหรือ Productivity ที่ตํ่า ประสิทธิภาพระบบราชการ ปัญหาธรรมาภิบาล การทุจริตคอร์รัปชัน และผลกระทบของสังคมสูงวัย สิ่งเหล่านี้เมื่อไม่แก้ไขก็ยิ่งกดทับโอกาสและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการการแก้ปัญหาที่จริงจัง ลูบหน้าปะจมูกไม่ได้ ความหวังจึงอยู่ที่การดําเนินนโยบายของผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลว่าจะจริงจังต่อการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีหรือไม่และแค่ไหน ที่น่าเสียดายคือ ที่ผ่านมา นโยบายเศรษฐกิจของหลายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน ลดหรือตรึงราคาพลังงาน หรือออกโครงการใหม่ๆ 

สิ่งเหล่านี้ออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่เศรษฐกิจต้องการเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา นั้นคือ ต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ผลคือเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องและประเทศเข้าสู่แนวโน้มของความตกตํ่าทางเศรษฐกิจหรือ Secular decline เห็นได้จากอัตราการขยายตัวระยะยาวของเศรษฐกิจและสินเชื่อที่ลดลงต่อเนื่อง ความหวังจึงอยู่ที่การดําเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะทําอะไรแตกต่างหรือไม่ ที่จะแก้ปัญหาจริงจังและดึงเศรษฐกิจออกจากแนวโน้มความตกต่ำที่เป็นอยู่ นี่คือโจทย์เศรษฐกิจสําหรับรัฐบาลในปี 2568 และปีต่อๆ ไป

ที่ต้องยํ้าเรื่องนี้เพราะข้อเท็จจริงหลายอย่างขณะนี้ชี้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจกําลังซํ้ารอยเดิมของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ไม่นําประเทศไปสู่การแก้ปัญหา เห็นได้จากช่องว่างมากมายที่มี

ช่องว่างเเรก คือช่องว่างระหว่างสิ่งที่รัฐบาลทําในแง่นโยบายเศรษฐกิจสะท้อนจากผลงาน 90 วันกับมาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรทําเพื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นั้นคือการปฏิรูปเศรษฐกิจ ช่องว่างนี้ชัดเจน 

สอง ช่องว่างระหว่างตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่ชี้ว่าเศรษฐกิจกําลังฟื้นตัวกับความเป็นจริงในระดับจุลภาคที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ความเป็นอยู่ฝืดเคือง สะท้อนจากเงินเฟ้อที่อ่อนแรง การว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น หนี้เสียมีมากขึ้น และตลาดหุ้นซบเซา ชี้ว่าสิ่งที่รัฐทํายังไม่ทําให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น 

สาม ช่องว่างในการสื่อสาร ที่จะสร้างความมั่นใจโดยเฉพาะต่อนักลงทุนว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศกําลังมีการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบ อันนี้ยังไม่มี ตรงข้ามสิ่งที่เห็นคือนโยบายที่ออกมาโดยหน่วยงานต่างๆ แบบต่างคนต่างทํา ไม่ประสานเพื่อสร้างอิมแพ็คหรือสร้างทิศทางที่ชัดเจน สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ที่จะแก้ปัญหา

เดือนนี้เดือนมกราคม เป็นเดือนแรกของปี 2568 จึงขอจบบทความวันนี้ด้วยคําสอนของ หลวงปู่ คำแปลง ปุณณชิ วัดหนองบัวคําแสน จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้รับฟังมาช่วงปีใหม่ว่า ปีใหม่เป็นโอกาส ที่เราจะคิดใหม่ ทําใหม่ พูดใหม่ ตั้งใจใหม่ ตามปีใหม่ที่มาถึงเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น โดยทําความดีให้มาก

ผมคิดว่า นโยบายเศรษฐกิจก็เช่นกัน ปีใหม่เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะคิดใหม่ ทําใหม่ พูดใหม่ ตั้งใจใหม่ เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ โดยมองประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่แก้ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการ