จีนลุยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 เน้นเพิ่มการบริโภคในประเทศ จ่อขาดดุลแตะ 4.5%

จีนลุยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 เน้นเพิ่มการบริโภคในประเทศ จ่อขาดดุลแตะ 4.5%

"รัฐบาลจีน" ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ลดดอกเบี้ย เพิ่มงบประมาณ และเสริมระบบประกันสังคม มุ่งหวังกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ หลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจซบเซาและสงครามการค้า

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (13 ธ.ค.) ว่า รัฐบาลจีนส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญในปี 2568 ผ่านการกู้ยืมและการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นการบริโภคเป็นหลักเนื่องจากต้องการอุดรูรั่วของเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐ

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนและคณะผู้บริหารระดับสูง ประกาศหลังจากการประชุม Central Economic Work Conference ณ กรุงปักกิ่ง ว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับ "การยกระดับการบริโภคอย่างเต็มที่" และกระตุ้นความต้องการซื้อโดยรวมภายในประเทศ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังให้คำมั่นที่จะเสริมความแข็งแกร่งของ “ระบบประกันสังคม” ด้วยประโยคกว้างๆ ว่าจะให้การสนับสนุนด้านดูแลสุขภาพและเบี้ยบำนาญ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เนื่องจากจีนกำลังเข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัยและครัวเรือนพยายามเก็บออมเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน

ด้าน ลาร์รี่ ฮู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศจีนของ Macquarie Group Ltd กล่าวว่า แนวโน้มของการประชุมจะสนับสนุนการเติบโตอย่างเต็มที่แต่ขาดรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับนโยบาย

"ผมคิดว่ารัฐบาลจะไม่แจกเงินให้ผู้บริโภคโดยตรง" เขากล่าว พร้อมเสริมว่า "แต่รัฐบาลน่าจะกระตุ้นโดยการใช้จ่ายมากขึ้นผ่านการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้ความต้องการซื้อโดยรวมสูงขึ้น นี่คือกลยุทธ์หลัก"

ทั้งนี้ สัญญาซื้อหุ้นของจีนร่วงลง โดยสัญญาของดัชนี Hang Seng China Enterprises ลดลงมากกว่า 1% ในช่วงกลางคืน ดัชนี Nasdaq Golden Dragon China เพิ่มขึ้น 0.2% ในการซื้อขายของสหรัฐและหยวนในตลาดต่างประเทศแทบไม่เปลี่ยนแปลงในวันศุกร์ ซื้อขายต่ำกว่า 7.28 ดอลลาร์ต่อหยวน

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า การประชุม Central Economic Work Conference  มักจะให้ภาพกว้างๆ ของทิศทางและโฟกัสนโยบายโดยไม่เปิดเผยรายละเอียดมากนัก รายละเอียดต่างๆ เช่น เป้าหมายการเติบโตหรืองบประมาณของรัฐบาลจะเปิดเผยในเดือนมี.ค.ระหว่างการประชุมนิติบัญญัติประจำปี โดยขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมน่าจะประกาศโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา ประชาชนจีนเริ่มประหยัดมากขึ้นเห็นได้ชัดจากการใช้จ่ายที่น้อยลง โดยการเติบโตของการใช้จ่ายของผู้บริโภคน้อยกว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อต่างประเทศสำหรับสินค้าจีนจะช่วยชดเชยแรงกดดันภายในประเทศ แต่ปัจจุบันจีนกำลังเผชิญกับการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการส่งออกสินค้าราคาถูกจำนวนมาก

เจเน็ต เยลเลน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะ เรียกร้องให้จีนเพิ่มการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยโต้แย้งว่ารัฐบาลให้การอุดหนุนผู้ผลิตอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดกำลังการผลิตล้นเกิน

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า มีสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่ของจีนเริ่มตระหนักถึงการร้องขอดังกล่าว ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี หุ้นจีนที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคพุ่งขึ้นด้วยความหวังนโยบายเพื่อกระตุ้นความต้องการภายในประเทศจากการประชุมที่ผ่านมา เมืองใหญ่รวมถึงเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งเปิดตัวโครงการแจกเงินรอบใหม่เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในท้องถิ่นก่อนช่วงวันหยุด ซึ่งช่วยยกระดับความรู้สึกของประชาชนโดยรวม

ปัจจุบันผู้กำหนดนโยบายของจีนยังคงทำให้นักลงทุนตั้งคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับขนาดและรายละเอียดเกี่ยวกับแผนของพวกเขา โดยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนต่อต้านข้อเสนอของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ในการแจกเงินกับประชาชน โดยสีเตือนว่าเป็นการติดกับดักของการ “สงเคราะห์” และ “เลี้ยงคนขี้เกียจ”

นักวิเคราะห์มองว่าการขยายเงินอุดหนุนของรัฐบาลสำหรับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงความช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงสำหรับครอบครัวและกลุ่มเปราะบาง มีความเป็นไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีหน้า

มุมมองทางเศรษฐกิจของจีนปีหน้าและอนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้ว่าการประชุมงานจะส่งสัญญาณชัดอีกครั้งว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดพยายามบรรลุเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ "ประมาณ 5%" ในปีนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าหมายที่คล้ายกันในปีหน้า

ภัยคุกคามของสงครามการค้าใหม่กับสหรัฐหลังจากการเข้ามาของโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้การส่งออกจะไม่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลังจากที่ในปีนี้ภาคการส่งออกขับเคลื่อนจีดีพีได้ถึง 25% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้

"ผลกระทบทางลบจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงกำลังทวีความรุนแรง และเศรษฐกิจของจีนยังคงเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายหลายประการ" ซินหัวรายงานจากการประชุม

นอกจากนี้ จีนก็ยังเผชิญความท้าทายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจยังซบเซา ส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง เงินเฟ้อในภาพรวมลดลงต่อเนื่องหกไตรมาสซึ่งเป็นช่วงยาวนานที่สุดในศตวรรษนี้และวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงดำเนินต่อไป

เจ้าหน้าที่ในการประชุมงานต่างเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ว่าจีนเผชิญกับภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยพวกเขาสัญญาว่าจะ "รับประกันความมั่นคงโดยรวมของการจ้างงานและเงินเฟ้อ" พวกเขายังเน้นถึงความต้องการที่จะทำให้รายได้ของประชาชนสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญที่จำกัดการบริโภคท่ามกลางการตัดเงินเดือนและการเลิกจ้างอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เลียน ผิง นักเศรษฐศาสตร์จาก Guangkai Chief Industry Research Institute เขียนใน Xinhua Finance ว่า กรุงปักกิ่งอาจจะเพิ่มอัตราการขาดดุลงบประมาณเป็น 4% ถึง 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์สำนักอื่นประเมินไว้ที่ประมาณ 4% ซึ่งมากกว่าแนวปฏิบัติปกติที่อยู่ประมาณ 3%

นอกเหนือจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น จีนจะเพิ่มการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาวพิเศษในปีหน้า ซึ่งบางส่วนจะถูกใช้ในการอุดหนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และจะเสนอขายพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังจะออกนโยบายเพื่อส่งเสริมอัตราการเกิดอีกด้วยแต่ไม่ได้ให้รายละเอียด นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลแจกเงินสดให้กับครอบครัวที่มีบุตรและให้ผลประโยชน์ทางภาษีมากขึ้นหลังจากอัตราเจริญพันธุ์ของประเทศลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ที่ผ่านมามลฑลต่างๆ ของจีนออกเงินอุดหนุนท้องถิ่นในประเด็นดังกล่าวแต่ยังไม่มีมาตรการจูงใจจากรัฐบาลกลางให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้น

ทั้งนี้ รายละเอียดการประชุมส่วนใหญ่ยืนยันความมุ่งมั่นที่ได้ให้ไว้ในการประชุมโปลิตบูโรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งจะสูบฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงินของจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีเป็นกลยุทธ์ "ผ่อนคลายระดับปานกลาง"

ผู้กำหนดนโยบาย เปิดเผยผ่านการประชุมว่า จะลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราสำรองขั้นต่ำสำหรับธนาคาร "ในเวลาที่เหมาะสม" โดยเป็นการกล่าวถึงเครื่องมือนโยบายเฉพาะเช่นนี้เป็นครั้งแรกในช่วงอย่างน้อยที่สุดคือทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งบ่งชี้ถึง “ภาษาที่ไม่ปกติ” ซึ่งแสดงถึงความเร่งด่วนในการสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจในประเทศ

"ขณะนี้ผู้นำระดับสูงให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในปี 2568 โดยเปลี่ยนความสนใจจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมของปี 2567 " บรูซ แปง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่ของ Jones Lang LaSalle Inc กล่าว พร้อมเสริมว่า "การหันเหครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มความต้องการซื้อภายในประเทศเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนภายนอกให้ดียิ่งขึ้น"

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า การประชุมไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาที่เป็นไปได้ของการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ยังคงกล่าวซ้ำถึงคำมั่นตามปกติที่จะรักษาหยวนให้ "มีเสถียรภาพมากขึ้น" ซึ่งน่าจะสัญญาณว่าธนาคารกลางจะพยายามชะลอการลดค่าเงินหยวนขณะที่ผ่อนคลายนโยบายการเงิน

นักเศรษฐศาสตร์คาดหวังการตัดลดอัตราสำรองขั้นต่ำ (RRR) ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีเงินปล่อยกู้และลงทุนโดยธนาคารกลางสัญญาณก่อนหน้านี้ภายในสิ้นปีนี้ การคาดการณ์โดยทั่วไปเห็นว่าการตัดอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปีหน้า

ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายคาดว่าพีบีโอซีจะตัดอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบทศวรรษด้วยการลดลงอย่างน้อย 0.4% ซึ่งเสี่ยงต่อการกดดันให้หยวนอ่อนค่าลง

"สารจากทั้งการประชุมครั้งนี้และโปลิตบูโรถือเป็นข่าวในเชิงบวก" จาง จื่อเหว่ย ประธานบริหาร Pinpoint Asset Management กล่าว พร้อมเสริมว่า "การแถลงนโยบายในครั้งนี้มีความสำคัญมากกว่าการประกาศในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.ย.ที่ผ่านมา"

สรุปนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจีน

1. กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

- เน้นการยกระดับการบริโภคอย่างเต็มที่

- มุ่งเพิ่มความต้องการซื้อภายในประเทศ

- อาจขยายเงินอุดหนุนสำหรับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

2. นโยบายการเงิน

- ลดอัตราดอกเบี้ย

- ลดอัตราสำรองขั้นต่ำสำหรับธนาคาร

- เพิ่มการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษ

- เพิ่มงบประมาณขาดดุลเป็น 4-4.5% ของจีดีพี

3. การสนับสนุนทางสังคม

- เสริมความแข็งแกร่งของระบบประกันสังคม

- สนับสนุนค่าดูแลสุขภาพและเบี้ยบำนาญ

- ส่งเสริมอัตราการเกิด (รายละเอียดยังไม่ชัดเจน)

4. เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

- มุ่งหวังการเติบโตประมาณ 5% ในปี 2568