ลุ้นเศรษฐกิจปี 2568 เติบโตได้มากกว่า 3%

ลุ้นเศรษฐกิจปี 2568 เติบโตได้มากกว่า 3%

ย้อนไปปีที่แล้ว รัฐบาลเคยตั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 3 แต่ด้วยปัญหารุมเร้าทำให้เศรษฐกิจยังเติบโตได้ไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้

ปัญหาที่ 1 เศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวแบบแข็งแกร่งอย่างที่คาด เพราะดูจากปัญหาภายในของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ในสหรัฐยังคงมีปัญหาเรื่องคำสั่งซื้อที่ยังต่ำและสินค้าคงคลังสูง

ในขณะที่จีนก็มีปัญหาเรื่องอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 1 มาเหลือร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่ 3

นอกจากนี้ยังมีเงินเฟ้อต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และไทยก็ส่งออกสินค้าไป 2 ประเทศนี้ถึงร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมด

ปัญหาที่ 2 การจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้การเบิกจ่ายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้าตามไปด้วย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน จบปีงบประมาณเดือน ก.ย.2567 มียอดลงทุน 6.8 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 65.2 จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 75 ส่วนที่เหลือซึ่งก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว ก็ต้องรีบลงทุนในไตรมาสที่ 4 คือเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้

ปัญหาที่ 3 การลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 หดตัวลงไปถึงร้อยละ -6.8 ต่อปี หดตัวทั้งด้านการลงทุนในเครื่องจักรและการก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ก็คาดว่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคเอกชนหายไป

ปัญหาที่ 4 หนี้ 2 เสาหลักอยู่ในระดับสูง โดยครัวเรือนสูงทะลุร้อยละ 90 ของ GDP มาแล้ว 4 ปี ทำให้พี่น้องประชาชนจับจ่ายใช้สอยได้ไม่เต็มที่ เพราะได้รายได้มาก็ต้องนำไปผ่อนหนี้ก่อน ส่วนหนี้ภาคธุรกิจก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยเฉพาะกิจการร้านค้า SMEs ที่ยังมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้

ปัญหาที่ 5 น้ำท่วม ปัญหานี้เป็นตัวทำลายเศรษฐกิจฝั่งอุปทาน (Supply side) เพราะเรือกสวนไร่นา บ้านเรือน รถยนต์ อุปกรณ์ทำมาหากิน ถนนหนทาง ได้รับความเสียหาย ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู แต่ความเสียหายยังน้อยกว่าน้ำท่วมในปี 2554 มากนัก

แต่อย่างไรก็ตามเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการในช่วงปลายเดือน ก.ย.2567 โดยการให้เงิน 10,000 บาทต่อคน จำนวน 14.5 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท

คาดว่าเม็ดเงินจำนวนมากจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 4 ช่วยให้เศรษฐกิจน่าจะกลับมาขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ต่อปี แต่ก็ยังไม่พอที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึงร้อยละ 3 จึงต้องไปลุ้นต่อในปี 2568

ในปี 2568 กระทรวงการคลัง “คาดการณ์” ว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวแตะร้อยละ 3 สูงสุดหลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไป และอาจจะมากถึงร้อยละ 3.5 แต่ขอขีดเส้นใต้คำว่า คาดการณ์ เพราะหนทางยังอีกยาวไกลกว่าจะจบปี 2568 ระหว่างทางอาจจะมีปัจจัยลบโผล่มาหลอกหลอนอีกก็ได้ หรืออาจจะมีปัจจัยบวกมาช่วย แต่ถ้ามองแบบคิดบวก จะพบเหตุผลสนับสนุนหลายอย่าง

เหตุผลที่ 1 การจัดทำงบประมาณ 2568 ไม่ล่าช้าเหมือนปีก่อน และมีการเบิกจ่ายจริงแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 และผลการเบิกจ่ายก็ออกมาดีด้วย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ตั้งไว้ 9.6 แสนล้านบาท

นับจนถึงล่าสุดวันที่ 25 ต.ค. รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้แล้วกว่า 74,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 7.7 ซึ่งดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับเดือน ต.ค.ที่ร้อยละ 5.7 มากพอสมควร

ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลเหยียบคันเร่งอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พยายามให้อัตราการเบิกจ่ายจริงสูงกว่าเป้าหมายรายเดือนอย่างต่อเนื่อง การที่กรมบัญชีกลางตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2568 ไว้ที่ร้อยละ 80 จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ยิ่งเม็ดเงินไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจเร็ว เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้มากขึ้น

เหตุผลที่ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาน่าจะอยู่ที่ 39 ล้านคน ใกล้เคียงกับระดับก่อนเจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวขนเข้ามาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนคน

แต่การใช้จ่ายน่าอยู่ที่ 47,000-48,000 บาทต่อคนต่อทริป เท่านั้น น้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่สูงกว่า 50,000 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ได้ตลอดทั้งปี

เหตุผลที่ 3 อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงย่อมส่งสัญญาณด้านบวกต่อการลงทุนและภาระหนี้ที่เบาลง จริงอยู่ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.25 มีผลเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจ แต่กลับได้รับการตอบสนองทันทีจากธนาคารหลายแห่งลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม

ทำให้ต้นทุนในการกู้มาลงทุนถูกลง การวางแผนการลงทุนจึงถูกเอาออกมาจากลิ้นชักใหม่ การผ่อนหนี้ของพี่น้องประชาชนดูเบาลง ซึ่งทำให้บรรยากาศกลับมาคึกคักขึ้น

เหตุผลที่ 4 ค่าเงินบาทในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งกว่าปีนี้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์ การแข็งค่าขึ้นอาจจะไม่เป็นผลดีกับการส่งออก แต่จะเป็นผลดีต่อการเร่งนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะเครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ

เหตุผลที่ 5 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสลงมากกว่าขึ้น ทั้งๆ ที่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันดิบกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปัจจุบันยังคงอยู่ที่ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปีหน้าก็คาดว่าจะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น

เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวแบบพุ่งทะยาน บวกกับการผลิตที่ยังคงเพิ่มขึ้น ยกเว้นปัญหาสงครามเกิดขึ้นรุนแรง นั่นก็เป็นอีกเรื่อง

การพลาดเป้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 1.สถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างทางไม่เป็นดังที่หวัง 2.การเบิกจ่ายไม่เข้าเป้า 3.นักท่องเที่ยวไม่ถึง 39 ล้านคน 4.ค่าเงินแข็งมากเกินไปจนกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว และ 5.ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้นจนทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น

ถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ในปีนี้ และขยับขึ้นเป็นร้อยละ 3 หรือมากถึงร้อยละ 3.5 ได้ในปีหน้าตามที่ประมาณการไว้ ความเชื่อมั่นต่างๆ จะกลับมา การใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจจะไหลลื่นมากขึ้น อัตราการใช้กำลังผลิตจะเพิ่มขึ้นส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น การลงทุนและการจ้างงานจะมากขึ้น รายได้ของพี่น้องประชาชนจะเพิ่มขึ้น

ภาระหนี้และการผ่อนชำระหนี้จะเบาลง และรัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นและเดินหน้าปรับนโยบายการคลังเข้าสู่สมดุลได้ดีขึ้น

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

ลุ้นเศรษฐกิจปี 2568 เติบโตได้มากกว่า 3%