’คลัง‘ เร่งดันจีดีพีปี 68 โต 3.5% เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ แทนรัดเข็มขัด

’คลัง‘ เร่งดันจีดีพีปี 68 โต 3.5%  เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ แทนรัดเข็มขัด

“พิชัย” ชี้โอกาสที่ท้าทายดันจีดีพีปี 68 โตถึง 3.5% ชงเร่งเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการรัดเข็มขัด ดันไทยเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว สร้างกำลังแรงงานทักษะสูง

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future" ในงาน “CEO Econmass Awards 2024” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาวะที่เติบโตอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมาอย่างยาวนาน โดยในช่วง 10 ย้อนหลังเติบโตเฉลี่ยเพียง 10% ขณะที่ช่วงฟื้นตัวหลังโควิด-19 เติบโตเฉลี่ยที่ 0.4% และในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% บวกลบ โดยมีปัจจัยกดดันจากอุทกภัย

ทั้งนี้ในปี 2568 หากเศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพน่าจะอยู่ที่ 3% อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสที่ Real GDP จะขยายตัวถึง 3.5% โดยมีเป้าหมายระดับสมดุลของอัตราเงินเฟ้อขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 2-2.5%

นายพิชัย กล่าวว่า ก่อนที่ไทยจะมองโอกาสและความท้าทายข้างหน้า วันนี้ต้องกลับมามองปัญหาก่อนว่าตอนนี้ตกอยู่ในสภาพแบบใด ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทำให้อัตรากำลังการผลิตถดถอยและบางช่วงอยู่ที่ 50% เท่านั้น 

“ซึ่งในมุมผู้บริโภคแม้สินค้าจะราคาถูกแต่ก็ไม่มีเงินซื้อ แล้วคำถามคือระหว่างของถูกแต่ไม่มีเงินซื้อ หรือของราคาแพงขึ้นมาหน่อยแต่มีเงิน ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาก็คือต้องทำให้คนมีเงินซื้อ และสู้ให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ แทนที่จะใช้มาตรการรัดเข็มขัด”

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของประชาชนและเอสเอ็มอี มีสัดส่วน 89% ต่อจีดีพี ทำให้คนที่เป็นกำลังของประเทศกำลังมีปัญหาหนี้ท่วม ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลต้องช่วยเหลือ 2 ส่วนนี้ ซึ่งทำให้ระดับหนี้ของรัฐ หรือหนี้สาธารณะขยับเพิ่มขึ้นมาที่ 65-66% ต่อจีดีพี หมายความว่าขณะนี้รัฐเหลือช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ที่แคบลงในการดูแลประเทศ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท 

ปัจจุบันนโยบายการเงินไทยมีอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% ซึ่งไม่ถือว่าสูงมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาหนี้ต้องการระดับดอกเบี้ยต่ำลง แต่ฝั่งคนปล่อยเงินกู้ต้องการดอกเบี้ยสูง ปัญหาที่ตามมาคือสภาพคล่องที่หายไปจากตลาด และคนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่ 

แม้ว่าในความในความเป็นจริงประเทศไทยมี “สภาพคล่องเฟ้อ” หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทั้งยังมี เงินสำรองระหว่างประเทศไทย อยู่ในระดับสูง ซึ่งสถานะการเงินที่เป็นบวกสะท้อนการหยุดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการลงทุนใหม่น้อย ดังนั้นไทยจึงตกในฐานะเศรษฐี แต่ไม่มีอนาคต และจะรวยอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว 

’คลัง‘ เร่งดันจีดีพีปี 68 โต 3.5%  เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ แทนรัดเข็มขัด

นายพิชัย กล่าวว่า ไทยต้องเร่งเดินหน้าให้เศรษฐกิจโตให้ได้ โดยการดึงการลงทุนใหม่เข้ามาตามทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไป คือ การลงทุนใน Digital Economy และ Green Economy รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนะทักษะของคน