เข้าใจใหม่! โต๊ะทำงานแบบยืน ไม่ได้ช่วยให้วัยทำงานสุขภาพดีไปกว่าโต๊ะนั่ง

เข้าใจใหม่! โต๊ะทำงานแบบยืน ไม่ได้ช่วยให้วัยทำงานสุขภาพดีไปกว่าโต๊ะนั่ง

‘โต๊ะทำงานแบบยืน’ ไม่ได้ช่วยให้วัยทำงานสุขภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนทำงานนานๆ ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวัน ล้วนแต่ทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ

KEY

POINTS

  • โต๊ะทำงานแบบยืน อาจไม่ได้ดีต่อสุขภาพอย่างที่คิด และชุดคำพูดที่ว่า “การนั่งทำงานเป็นเวลานานไม่ดีต่อสุขภาพ ควรใช้การยืนทำงานแทน” ก็อาจไม่จริงทั้งหมด เมื่อการยืนทำงานนานๆ ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันมากนัก 
  • การศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ครั้งใหม่ค้นพบว่า การยืนทำงานนานติดต่อกันกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงต่อหลอดเลือดและหัวใจ ที่มักเกิดจากการนั่งนานเกินไปได้
  • วิธีการปรับปรุงสุขภาพขณะทำงานแบบดั้งเดิมดีที่สุด นั่นคือ การพักเบรกเป็นช่วงๆ แล้วออกไปขยับร่างกายยืดเส้นยืดสาย เช่น ลุกไปเดินเล่นไปรอบๆ ออฟฟิศของคุณสักสองสามนาทีทุกๆ ครึ่งชั่วโมง

ก่อนหน้านี้วัยทำงานหลายคนคงเคยได้ยินว่า “การนั่งทำงานเป็นเวลานาน ไม่ดีต่อสุขภาพ ควรสลับใช้การยืนทำงานแทน” แต่รู้หรือไม่? การยืนก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันมากนัก ล่าสุด.. มีการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ครั้งใหม่ค้นพบว่า การยืนทำงานนานติดต่อกันกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงต่อหลอดเลือดและหัวใจได้ เมื่อเทียบกับการนั่งทำงานนานๆ 

ผลการศึกษาใหม่ครั้งนี้ได้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใหญ่วัยทำงานจำนวนกว่า 83,000 คน พบว่า การยืนทำงานซึ่งส่วนใหญ่ใช้โต๊ะทำงานแบบยืนนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ที่เกิดจากการนั่งนานเกินไปได้ แถมยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาระบบไหลเวียนโลหิตที่ร้ายแรง เช่น เส้นเลือดขอด ความดันโลหิตต่ำผิดปกติ และลิ่มเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่นั่งทำงานเป็นประจำ

แมทธิว เอ็น. อาห์มาดี (Matthew N. Ahmadi) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้ อธิบายว่า แม้การยืนจะดีกว่าการนั่ง แต่การยืนเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเรามีสุขภาพที่ดีขึ้น หากต้องการปรับปรุงสุขภาพโดยรวมและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ต้องผสมผสานการเคลื่อนไหวจริงเข้าไปด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การใช้โต๊ะทำงานแบบยืนเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อสุขภาพ

การใช้โต๊ะยืนทำงานแทนโต๊ะนั่งทำงาน ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้สุขภาพดี

เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า “วัยทำงานควรนั่งนานๆ ให้น้อยลง” โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการนั่งบนเก้าอี้เป็นเวลานานทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ปัญหาหลอดเลือด อาการปวดข้อ เบาหวาน โรคอ้วน และอาการป่วยอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น

ตามทฤษฎีแล้ว การยืนตัวตรงจะสามารถป้องกันอันตรายนี้ได้ เนื่องจากเป็นท่าทางที่ตรงกันข้ามกับการนั่ง ตามการศึกษาทางระบาดวิทยาล่าสุด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสนับสนุนให้พนักงานออฟฟิศลุกยืนแทนการนั่งนานๆ นั่นทำให้ “โต๊ะทำงานแบบยืน” ได้รับความนิยมมากขึ้น และปัจจุบันมีพนักงานหลายคนในหลายๆ บริษัทยืนทำงานแทนนั่งทำงานนานถึง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน 

แต่ที่น่าประหลาดใจคือ มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงน้อยนิดที่สนับสนุนแนวคิดนี้ และการศึกษาวิจัยบางส่วนก็ได้ตั้งข้อสงสัยขึ้นมา ตัวอย่างเช่น การทดลองในปี 2019 พบว่าผู้ที่ยืนเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่าผู้ที่นั่งอยู่เพียง 9 แคลอรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการยืนไม่ได้ช่วยป้องกันโรคอ้วนได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของการนั่งทำงานนานๆ คือส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และแม้ว่าการยืนจะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานมากนัก แต่ล่าสุดในการศึกษาวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Epidemiology เมื่อเดือนตุลาคม 2024 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์และนักวิจัยร่วมจากแห่งอื่นๆ ได้รวบรวมข้อมูลวัยทำงานชายและหญิงมากกว่า 83,000 คนที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัยของ UK Biobank 

เพื่อค้นหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการนั่งและยืนทำงานนานๆ ว่ามีความเชื่อมโยงกับภาวะหัวใจที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง หรือปัญหาการไหลเวียนโลหิต (เส้นเลือดขอด ลิ่มเลือด) หรือไม่? โดยศึกษาจากบันทึกข้อมูลไลฟ์สไตล์ สุขภาพ และนิสัยประจำวันที่ได้จากเครื่องติดตามกิจกรรมบนข้อมือ รวมถึงตรวจสอบฐานข้อมูลทางการแพทย์ว่ากลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากปัญหาหลอดเลือดและหัวใจในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาหรือไม่

การนั่งหรือการยืนทำงานนานๆ ล้วนเป็นปัญหาทั้งคู่

ผลการศึกษาพบว่าการนั่งทำงานและการยืนทำงานนานๆ ล้วนเชื่อมโยงกับโรคร้ายแรงทั้งคู่ โดยเฉพาะกับการนั่ง ผู้ที่นั่งนานเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ในกลุ่มตัวอย่าง มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาหัวใจร้ายแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมามากกว่าผู้ที่นั่งน้อยกว่าถึง 13% นอกจากนี้ พวกเขายังมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตสูงขึ้นประมาณ 26% 

อย่างไรก็ตาม การยืนกลับไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ดีนัก เนื่องจากผลวิจัยชิ้นเดียวกันพบด้วยว่า หากพนักงานยืนทำงานนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาระบบไหลเวียนโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 11% แม้การยืนนานๆ จะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาหัวใจร้ายแรงเมื่อเทียบกับผู้ที่ยืนน้อยกว่า แต่มันก็ไม่ได้ลดความเสี่ยงเหล่านั้นลงไปเลย 

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ แม้ว่าการศึกษาดังกล่าวจะไม่ได้เปรียบเทียบผลกระทบของ “การนั่ง” กับ “การยืน” ต่อความเสี่ยงการเกิดหัวใจโดยตรง แต่ อาห์มาดี เน้นย้ำว่า การยืนไม่ได้มีส่วนช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแต่อย่างใด 

ขณะที่ เอ็มมานูเอล สตามาทาคิส (Emmanuel Stamatakis) ศาสตราจารย์ด้านกิจกรรมทางกาย วิถีการดำเนินชีวิต และสุขภาพของประชากรที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการศึกษาวิจัยใหม่นี้ อธิบายเพิ่มเติม

สตามาทาคิส ชี้ให้เห็นว่าการยืนนิ่งนานๆ เลือดจะไหลเวียนผ่านขาของคุณอย่างช้าๆ และจะคั่งค้างอยู่ที่นั่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด นอกจากนี้ การยืนก็ไม่ได้ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น (ไม่เหมือนการเดินหรือวิ่ง) ดังนั้น การยืนจึงไม่ได้ช่วยปรับปรุงสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด

เมื่อพิจารณาข้อมูลจากทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่าประโยชน์ต่อสุขภาพที่ควรได้รับจากการยืนมากกว่าการนั่งนั้น “เกินจริงอย่างมาก”

วิธีที่ถูกต้องคือ ควรขยับตัวทุกครึ่งชั่วโมงระหว่างทำงาน

ย้อนกลับมาที่วิธีดั้งเดิมในการปรับปรุงสุขภาพวัยทำงานให้ดีขึ้น นั่นคือ การพักเบรกเป็นช่วงๆ แล้วออกไปขยับร่างกายยืดเส้นยืดสาย นักวิจัยทั้ง อาห์มาดี และ สตามาทาคิส ต่างเห็นตรงกันว่าการลุกไปเดินเล่นไปรอบๆ ออฟฟิศของคุณสักสองสามนาทีทุกๆ ครึ่งชั่วโมง หรือใช้เวลาพักเบรกไปกับการเดินขึ้นลงบันไดสักครู่ หรือกายบริหารด้วยการลุก-นั่ง สลับกันสัก 2-3 เซ็ต จะช่วยให้กล้ามเนื้อต่างๆ ได้ทำงาน และเพิ่มอัตราเผาผลาญได้ดีกว่าการนั่งหรือยืนนิ่งนานๆ 

แน่นอนว่าการศึกษานี้ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสรุปได้ว่า การนั่งทำงานหรือการยืนทำงานแบบไหนดีกว่ากัน เพราะไม่ใช่การทดลอง ดังนั้นจึงไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการนั่งหรือการยืนทำให้ผู้คนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองอย่างนี้มีความเชื่อมโยงกันกับปัญหาทางสุขภาพ  

อย่างไรก็ตาม การขยับแขนขาหรือการเคลื่อนไหวร่างกายย่อมมีประโยชน์มากกว่า “การยืนนิ่งๆ หรือนั่งนิ่งๆ” เพียงอย่างเดียว เพราะการไม่ขยับร่างกายก็เท่ากับไม่ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาหัวใจหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยสรุปคือ อย่าขี้เกียจลุกจากโต๊ะมาเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ระหว่างวัน เพื่อให้วัยทำงานมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นนั่นเอง