Gen Y เสี่ยงป่วยมะเร็ง 17 ชนิดมากกว่าคนรุ่นก่อน พบมะเร็งมดลูกเพิ่มขึ้น 169%
Gen Y และ Gen X ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น 17 ชนิด พบคนป่วยมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ หรือรุ่น Baby Boomer นักวิจัยชี้ มะเร็งลําไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งมดลูก เจอบ่อยสุด
KEY
POINTS
- มะเร็งมดลูกเป็นมะเร็งที่พบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีอัตราสูงขึ้นประมาณ 169% ในกลุ่มคนรุ่น Gen Y และ Gen X ซึ่งมากกว่าคนรุ่น Boomer อย่างมาก
- คนรุ่น Gen X - Gen Y เป็นมะเร็งมากกว่าคนรุ่นก่อน 2-3 เท่า โดยป่วยมะเร็ง 17 ชนิดเพิ่มมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนๆ
- วัยทำงานที่ป่วยเป็นมะเร็งนั้น อาจเคยเป็นโรคอ้วนในวัยเด็ก หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่างในวัยเด็ก หรือได้สัมผัสสารก่อมะเร็งตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ อาหาร ฯลฯ
เมื่อเร็วๆ นี้ ผลการศึกษาชิ้นใหม่ล่าสุดจาก American Cancer Society ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Public Health (ณ 1 สิงหาคม 2567) เปิดเผยว่า อัตราอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในสหรัฐเพิ่มขึ้นในกลุ่มหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ทั้งคนรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) และคนรุ่น Gen X โดยพบผู้ป่วยมะเร็ง 17 ชนิดที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าคนรุ่นก่อน
[ประชากรรุ่น Gen X คือผู้คนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2508 - 2523 (ค.ศ. 1965-1980) ขณะที่กลุ่มประชากรรุ่น Millennials หรือ Gen Y คือผู้คนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2524 - 2539 (ค.ศ.1980-1996)]
ดร.วิลเลียม ดาหัต (William Dahut) หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ขององค์กร American Cancer Society ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยศึกษาครั้งนี้ บอกผ่านสำนักข่าว CNN ว่า มะเร็งมดลูกเป็นมะเร็งที่พบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีอัตราสูงขึ้นประมาณ 169% ตัวเลขนี้ได้จากการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2533 (Gen Y) และผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2493 (Baby Boomer) ทั้งนี้ พิจารณาจากช่วงอายุ 30 - 40 ปี ของกลุ่มคนทั้งสองรุ่น
“ข้อมูลใหม่ที่ทีมวิจัยค้นพบในครั้งนี้คือ มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่หลากหลายมากขึ้น (เกิดกับอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายมากขึ้น) จากมะเร็งทั้งหมด 34 ชนิด ตอนนี้พบผู้ป่วยเป็นมะเร็ง 17 ชนิด เราเห็นอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น โดยมีมะเร็งถึง 5 ชนิดที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี” ดร.วิลเลียม กล่าว
เปิดลิสต์มะเร็ง 17 ชนิดตามรายงานวิจัย American Cancer Society
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (ประเภท gastric cardia เชื่อมโยงกับกรดไหลย้อน)
- มะเร็งลําไส้เล็ก
- มะเร็งเต้านม (ประเภท Estrogen Receptor หรือ ER)
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งตับและท่อน้ําดีในตับในผู้หญิง
- มะเร็งมะเร็งช่องปากและคอหอย (ประเภท non-HPV ในผู้หญิง)
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก
- มะเร็งมดลูก
- มะเร็งถุงน้ําดี
- มะเร็งไตและเนื้อเยื่อไต
- มะเร็งตับอ่อน
- มะเร็ง Myeloma (มะเร็งไขกระดูก)
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (ประเภท Non-cardia เชื่อมโยงกับการติดเชื้อ กินอาหารไม่ดี)
- มะเร็งลูกอัณฑะ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็ง Kaposi sarcoma (มะเร็งเยื่อบุผิวหนังและหลอดเลือดน้ําเหลืองในผู้ชาย)
นักวิจัยจาก American Cancer Society และ University of Calgary ในแคนาดา ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมากกว่า 23 ล้านคน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง 34 ชนิด และมากกว่า 7 ล้านคนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 25 ชนิด โดยทีมวิจัยใช้แหล่งข้อมูลจาก North American Association of Central Cancer Registries และ US National Center for Health Statistics
คนรุ่น Gen X - Gen Y เป็นมะเร็งมากกว่าคนรุ่นก่อน 2-3 เท่า
นักวิจัยพบว่า คนที่เกิดตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2463-2493 (Baby Boomer) มีอัตราอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็ง 8 ชนิดจากทั้งหมด 34 ชนิดค่อนข้างสูง แต่เมื่อนำอัตราผู้ป่วยมะเร็งดังกล่าว มาเทียบกับคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2498 (Gen X) และคนเกิดในช่วงปี พ.ศ. 2533 (Gen Y) พบว่า
คนรุ่นหลังๆ มีอัตราป่วยมะเร็งมากกว่านั้น 2-3 เท่า ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งไต และมะเร็งลําไส้เล็ก ขณะที่ในคนรุ่น Gen X -Y พบป่วยมะเร็งรังไข่มากขึ้น 12% และป่วยมะเร็งมดลูกสูงขึ้น 169% เมื่อเทียบกับคนรุ่น Boomer
ดร.แอนเดรีย เซอร์เซค (Andrea Cercek) ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาทางเดินอาหาร และผู้บริหารของศูนย์มะเร็งกระเพาะอาหาร Center for Young Onset Colorectal and Gastrointestinal Cancers (ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งบางชนิดในคนรุ่นหลังๆ ทั่วสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นนี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม หรือรูปแบบวิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไปจากอดีต
คนป่วยมะเร็งในวัย 30-40 ปี สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากเคยเป็น 'โรคอ้วน' ในวัยเด็ก
นักวิจัยพบว่ามะเร็ง 10 ชนิด จาก 17 ชนิดที่พบบ่อยตามรายงานข้างต้น มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่เคยเป็นโรคอ้วนมาตั้งแต่วัยเด็ก (หรือบางกรณีมีภาวะอ้วนตั้งแต่แรกเกิด) ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นพวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งไต มะเร็งถุงน้ําดี มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งตับ-ท่อน้ําดี
เนื่องจากตามธรรมชาติของโรคมะเร็งต้องใช้เวลาในการพัฒนาโรคกว่าจะสังเกตเห็น จึงอาจพูดได้ว่ามะเร็ง 10 ชนิดดังกล่าว เกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวที่เคยอ้วนในวัยเด็ก หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพในวัยเด็กของพวกเขา หรือได้สัมผัสสารก่อมะเร็งตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ อาหาร หรืออะไรก็ตาม
“ถ้าคุณเป็นมะเร็งในวัย 20-30 ปี แปลว่าในช่วงที่คุณยังเป็นเด็กอายุน้อยก่อนหน้านั้น น่าจะเป็นเวลาที่คุณสัมผัสสารก่อมะเร็งหรือมีปัญหาทางสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดร.วิลเลียม บอก ขณะเดียวกันนักวิจัยยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นในคนรุ่น Gen X - Y อย่างต่อเนื่อง
ในทำนองเดียวกัน ดร.เออร์เนสต์ ฮอว์ก (Ernest Hawk) ประธานกองป้องกันมะเร็งและวิทยาศาสตร์ประชากร แห่งศูนย์มะเร็ง MD Anderson มหาวิทยาลัยเท็กซัส (ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้) ให้ความเห็นว่า อาหารการกินของผู้คนที่เปลี่ยนไปจากอดีต ระดับการออกกําลังกายที่ลดลง อัตราโรคอ้วนในวัยเด็กที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเห็นอุบัติการณ์มะเร็งที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นหลังๆ
แพทย์แนะ คัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยๆ และให้วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น
วิธีป้องกันโรคมะเร็งเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด ดร.เออร์เนสต์ แนะนำว่า อาจต้องเริ่มคัดกรองมะเร็งบางชนิดของประชากรตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีเครื่องมือในการวินิจฉัยมะเร็งหลายชนิดได้ในระยะแรก หากมีการคัดกรองมะเร็งให้คนรุ่นหนุ่มสาวตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะนําไปสู่โอกาสการรอดชีวิตที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ที่ผ่านมา องค์กรด้านสุขภาพอย่าง US Preventive Services Task Force (USPSTF) ซึ่งเป็นคณะอาสาสมัครของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อิสระ ได้ลดเพดานอายุประชากรสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งให้เริ่มได้เร็วขึ้น เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแต่เดิมให้คัดกรองในวัย 50 ปี ก็ลดเพดานลงมาเป็น 45 ปี หรือให้คัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 40 ปี จากเดิม 50 ปี เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ดร.วิลเลียม มีคำแนะนำเพิ่มเติมจากเกี่ยวกับ “สัญญาณและอาการผิดปกติ” เบื้องต้นของการเกิดโรคมะเร็ง โดยหากวัยทำงานสังเกตเห็นว่า มีเลือดออกผิดปกติขณะขับถ่าย (เลือดในอุจจาระ) อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือหากพบเลือดออกในช่องคลอดผิดปกติ ก็อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งมดลูก
นอกจากนี้อาการอื่นๆ ที่ต้องระวัง ได้แก่ อาการเจ็บปวดแบบตื้อๆ หรือปวดหนุบๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องซึ่งคุณไม่เคยมีอาการนี้มาก่อน รวมถึงอาการเหนื่อยล้าผิดปกติ น้ําหนักลดลงผิดปกติอย่างไม่ทราบสาเหตุ เหล่านี้ก็อาจเป็นสัญญานของมะเร็งระยะแรกหรือระยะลุกลาม อย่าปล่อยไว้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด เพราะโรคมะเร็งเป็นโรคที่ยิ่งตรวจพบเร็ว รักษาได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสหายได้มากขึ้นนั่นเอง