เปิดสาเหตุ!! ทำไม? ผู้หญิงไทย10ล้านคนไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก

เปิดสาเหตุ!! ทำไม? ผู้หญิงไทย10ล้านคนไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก

ข้อมูลการสำรวจความตระหนักรู้และทัศนคติต่อการตรวจสุขภาพของสตรี  2024 Asia Pacific Women’s Health Survey: GWI จัดทำการสำรวจในนาม โรช โดยจัดทำการสำรวจออนไลน์ในผู้หญิงอายุระหว่าง 25-50 ปี ขึ้นไป

KEY

POINTS

  • ผลการสำรวจพบว่าผู้หญิงเกือบ 3,000 คนใน เอเชีย แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย พบว่าผู้หญิงไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • ความกลัว ขาดการรับรู้ และขาดการสนับสนุน ความเข้าใจว่าการตรวจคัดกรองฯ นั้นเจ็บและความอับอายจากการตีตราของสังคม เป็นอุปสรรคในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • การจัดแคมเปญสัปดาห์ตรวจสุขภาพสตรีแห่งชาติหรือ National Women’s Check-up Week”ในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนอีกกว่า 60 แห่งทั่วประเทศรณรงค์ให้ผู้หญิงเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพสตรี เพิ่มขึ้น

ข้อมูลการสำรวจความตระหนักรู้และทัศนคติต่อการตรวจสุขภาพของสตรี  2024 Asia Pacific Women’s Health Survey: GWI จัดทำการสำรวจในนาม โรช โดยจัดทำการสำรวจออนไลน์ในผู้หญิงอายุระหว่าง 25-50 ปี ขึ้นไป จำนวน 2,836 คน ใน 8 ประเทศได้แก่  ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ประเทศไทย และเวียดนาม ลงพื้นที่สำรวจในเดือนธันวาคม 2566 พบว่าผู้หญิงไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และยังพบข้อจำกัดหลักๆ ที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ 

อาทิ ความกลัว: ผู้หญิงในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 1 ใน 3 มีความรู้ในเรื่องการตรวจสุขภาพสตรี รวมทั้งการตรวจคัดกรองในสตรีน้อยมาก รวมถึงวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูก  และพบว่ามีผู้หญิงถึง 17% รู้สึกกังวลเมื่อต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากความเจ็บและไม่สะดวก ในขณะที่อีก 17% กังวลเรื่องผลการตรวจ หรือรู้สึกเขินอาย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ในการไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองฯ   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"มะเร็งสตรี" รู้ก่อน รักษาไว มีโอกาสหาย ป้องกันได้ คุณภาพชีวิตดี

รวมวิธี- ช่องทางตรวจคัดกรอง '3 มะเร็งร้ายยอดฮิต' คร่าหญิงไทย

หญิงไทยเกือบ 10 ล้านคน ตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องน่าอาย

สำหรับประเทศไทย มีผู้หญิงเกือบ 10 ล้านคนที่เชื่อว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องน่าอาย โดย 1 ใน 4 กังวลเรื่องความเจ็บจากการตรวจคัดกรองฯ ในขณะที่อีก 14% รู้สึกอายที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง1 ทั้งนี้ การรอให้มีอาการก่อนจึงเข้ารับการตรวจนั้น มักจะสายเกินไปและเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงเหล่านั้นเสียชีวิต

ผู้หญิงเกินครึ่ง (66%) ในเอเชียแปซิปิก มีความรู้ในเรื่องการตรวจน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากจำนวนคนเข้ารับการตรวจคัดกรอง ในประเทศไทย มีผู้หญิงจำนวนมากถึง 5 ล้านคนที่ไม่มีความรู้เรื่องความเสี่ยงขอโรคมะเร็งปากมดลูกเลย และมีจำนวนเกินครึ่งมีความรู้ในเรื่องการตรวจน้อยมาก

ผู้หญิงกว่า 71% รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความสำคัญ และไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับโรคสตรี มีผู้หญิงไทยเกือบ 70% รู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรอันเนื่องมาจากระบบสุขภาพ ถือเป็นระดับอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่อีก 34% ของผู้หญิงในประเทศไทยไม่มีความคิดที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย   

เปิดสาเหตุ!! ทำไม? ผู้หญิงไทย10ล้านคนไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้หากฉีดวัคซีน

รศ.พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข อุปนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า แม้ว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้หากได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่มะเร็งปากมดลูกยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทย จึงต้องเร่งให้ความรู้ และสร้างการตะหนักรู้ให้ผู้หญิงเห็นถึงความจำเป็น และความสำคัญในการเข้ารับตรวจคัดกรอง

การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จะช่วยลดการตีตราทางสังคมและความเชื่อผิดๆ ข้อจำกัดต่างๆ และความรู้สึกอับอายให้ลดลงได้ แคมเปญนี้มุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง และสร้างวัฒนธรรมการรักตัวเอง ให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง

"มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นหนึ่งในมะเร็งที่ป้องกันได้หากได้รับวัคซีน การตรวจคัดกรอง และการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ แต่มะเร็งปากมดลูกยังถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก โดยเฉลี่ยมีผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวถึงนาทีละ 2 คน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีความพร้อมที่จะให้บริการประชาชน ที่ผ่านมาผู้หญิงไทยเข้ารับการคัดกรองประมาณ 50 % ขณะที่เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 70%เชื่อว่าแคมเปญนี้จะทำให้ผู้หญิงไทยที่เข้าเกณฑ์เข้ารับการคัดกรองมากขึ้น"

มร. มิไฮ อีริเมสซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่าแคมเปญ สัปดาห์ตรวจสุขภาพสตรีแห่งชาติ นี้ไม่ใช่เป็นเพียงแคมเปญ แต่เป็นความตั้งใจลงมือสร้างให้เกิดความตระหนักรู้ ให้ความรู้ สนับสนุนการตรวจคัดกรองให้ผู้หญิงในประเทศไทย และที่สำคัญที่สุด เป็นการส่งเสียงถึงผู้หญิง ให้รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมารัก และใส่ใจตัวเองด้วยเช่นกัน แม่ว่าจะมีภาระมากมายเพียงใดก็ตามคาดว่าใน 1 สัปดาห์ที่มีการรณรงค์จะสามารถทำให้ผู้หญิงไทยเข้าตรวจคัดกรองได้ประมาณ 10,000 คน 

ทั้งนี้ การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จะช่วยลดการตีตราทางสังคมและความเชื่อผิดๆ ข้อจำกัดต่างๆ และความรู้สึกอับอายให้ลดลงได้ แคมเปญนี้มุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง และสร้างวัฒนธรรมการรักตัวเอง ให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง

สำหรับแคมเปญ National Women’s Check-up Week” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการอีกกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ

โดยผู้ที่เข้าร่วมแคมเปญเข้ารับการตรวจสุขภาพสตรีในช่วงวันที่ 12 – 19 สิงหาคม 2567 ณ โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการจะได้รับผลิตภัณฑ์จาก ลอรีอัล เชอรีล่อน และมิสทิน ไปอีกด้วย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมแคมเปญได้ที่เว็บไซต์ www.tgcs.or.th

เปิดสาเหตุ!! ทำไม? ผู้หญิงไทย10ล้านคนไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก

ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

สถิติของกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย โดยมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 5,000 คน เฉลี่ยวันละ 13 คน โดยร้อยละ 85 ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์จะได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง 

แม้ว่าจะเป็นกลุ่มมะเร็งประเภทที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไทย ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากความเขินอายในการขึ้นขาหยั่ง ไม่มีอาการแสดง รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง และให้ความสำคัญกับการดูแลครอบครัวมากกว่าตนเอง ซึ่งการรอให้อาการปรากฏ อาจนำไปสู่ผลร้ายแรงต่อชีวิต

ศ.พญ.ศิริวรรณ ตั้งจิตกมล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่ามะเร็งปากมดลูก สาเหตุสำคัญ มาจากการติดเชื้อเอชพีวี โดยทั่วไปสายพันธุ์ของ “เชื้อไวรัส HPV” มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งได้มีการจัดสายพันธุ์ที่เสี่ยงน่ากังวล คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 และสายพันธ์เสี่ยงอื่นๆ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ HPV มากกว่าปีละ 1 แสนคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี

เชื้อไวรัส HPV นอกจากก่อโรค “มะเร็งปากมดลูก” ในผู้หญิงแล้ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหูดหงอนไก่, มะเร็งทวารหนัก, มะเร็งอวัยวะเพศ ไปจนถึงมะเร็งในช่องปากและลำคอ ในผู้ชายได้ด้วย โดยการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ปาก ซึ่งผู้ที่มีเชื้อไวรัส HPV อยู่ในร่างกายมักจะไม่มีอาการใดๆ ทำให้อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยที่ไม่รู้ตัว

เพื่อเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี แต่ที่ผ่านมาพบว่าหญิงไทยกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มารับการตรวจ เนื่องจากอายแพทย์ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน และอยู่ห่างไกลไม่สะดวกในการเดินทาง

นอกจากนี้การป้องกันอีกทางหนึ่งที่สามารถทำได้ด้วยการ ฉีดวัคซีนเอชพีวี ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุช่วงอายุระหว่าง 9-26 ปี หรืออาจขยายระยะเวลาได้ไม่เกินอายุ 45 ปี เพราะสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อได้มากถึงเกือบ 100% แต่ถ้าหากไม่สามารถฉีดได้ในช่วงอายุดังกล่าว ก็สามารถฉีดหลังจากนั้นได้ แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสก็อาจลดลงตามอายุที่มากขึ้น

เปิดสาเหตุ!! ทำไม? ผู้หญิงไทย10ล้านคนไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก

เก็บตัวอย่างเองแก้ปัญหาอายหมอ

ณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) กล่าวว่า N Health (เอ็นเฮลท์) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านโครงการ “ตรวจมะเร็งปากมดลูกให้หญิงไทย อายุ 30-59 ปี ด้วยวิธี HPV DNA Test แบบ Self-Collection ฟรีทั่วประเทศ” ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการการตรวจคัดกรองผ่านเครือข่ายและศูนย์ให้บริการตรวจสุขภาพที่ได้มาตรฐานของ N Health ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

N Health มีหน่วยที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยตรวจวิเคราะห์ HPV DNA จำนวน 5 หน่วยครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วไทย ทั้งกรุงเทพ ระยอง อุดรธานี เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ คลินิกเทคนิคการแพทย์ N Health (เอ็นเฮลท์) โดยการออกหน่วยเชิงรุกนี้ดำเนินงานเป็นพันธมิตรร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข

เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพ (ศบส.) ของสำนักอนามัยกรุงเทพฯ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนที่เข้าร่วมกับสปสช. หรือ กลุ่มคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น โดยให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีตามโครงการของภาครัฐไปแล้วกว่า 8,000 ราย และคาดหวังที่จะผลักดันไปให้ได้อย่างน้อย 100,000 รายในปีนี้

สธ.เปลี่ยนวัคซีน1เข็ม9สายพันธุ์

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 5 ส.ค. ซึ่งมีสมศักดิ์  เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ชนิด 9 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม ให้กลุ่ม เด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หรืออายุ 11-12 ปี และกลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่น เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมเห็นชอบแผนวัคซีน HPV เพิ่มเติม ปี 2567 จำนวน 1,747,000 เข็ม (กรณี ฉีด 2 เข็ม) สําหรับปี 2567 ภายใต้วงเงินไม่เกิน 643.2105 ล้านบาท

รวมทั้งให้ปรับชนิดของวัคซีนและจํานวนการฉีดตามข้อยืนยันทางวิชาการ โดยให้จัดหา1.จัดหาวัคซีน HPV จำนวน 200,000 เข็ม วงเงินไม่เกิน 73.636 ล้านบาท เพื่อฉีดเข็ม 2 ให้กลุ่มเป้าหมายปี 2566 ที่ยังอยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งได้รับวัคซีนเข็ม 1 เป็นชนิดที่จําเป็นต้องฉีด 2 เข็ม และ 2.จัดหาวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ จํานวน 773,500 เข็ม (ฉีด 1 เข็ม) สําหรับกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์และตามนโยบายรัฐบาล (อายุ 13-20 ปี รวมกลุ่มเก็บตก) วงเงินไม่เกิน 568.5745 ล้านบาทและให้ สปสช.แจ้งเโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อดําเนินการจัดหา

ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนชนิด 1 เข็ม ครอบคลุม 9 สายพันธุ์ ประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ประมาณ 90 % และมีราคาลดลง ถูกกว่า วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ซึ่งต้องฉีดถึง 2 เข็ม ประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ 60%คาดว่าจะสามารถใช้ได้ในปีงบประมาณหน้าราวๆ 7-8 แสนโดส ใช้งบประมาณของ สปสช. โดยจะฉีดให้กับผู้หญิงอายุ 11 – 20 ปี

สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ไปแล้ว 1 เข็ม ยังเหลืออีก 1 เข็ม ก็ให้เปลี่ยนมาฉีดวัคซีน 9 สายพันธุ์เลย และจะมีการหารือแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเด็กผู้หญิงที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่ไม่สามารถหาที่ฉีดวัคซีนดังกล่าวด้วย

เปิดสาเหตุ!! ทำไม? ผู้หญิงไทย10ล้านคนไม่ตรวจมะเร็งปากมดลูก