สธ.เปลี่ยนการให้ "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก" สปสช.ตั้งงบฯจัดหากว่า 800 ล้าน

สธ.เปลี่ยนการให้ "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก" สปสช.ตั้งงบฯจัดหากว่า 800 ล้าน

สธ.เปลี่ยนการให้ "วัคซีนปมะเร็งปากมดลูก"ที่จัดให้กลุ่มเป้าหมายฟรี  จากแบบ 2 สายพันธุ์ 2 เข็ม เป็น 9 สายพันธุ์ 1 เข็ม ชี้ราคาถูกลง มีประสิทธิภาพป้องกันเพิ่มขึ้น จาก 60% เป็น 90% คาดเริ่มใช้ปีงบฯ68 สปสช.ตั้งงบประมาณจัดหารวมกว่า 800 ล้าน  

KEY

POINTS

  • สถานการณ์มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย เป็นมะเร็งพบมากในผู้หญิงสูงอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยรายใหม่กว่า 6,000 รายต่อปี  เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี(HPV) มีวัคซีนมะเร็งปากมดลูกป้องกัน
  • สธ.เปลี่ยนการให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูก  จากแบบ 2 สายพันธุ์ 2 เข็ม เป็น 9 สายพันธุ์ 1 เข็ม ชี้ มีประสิทธิภาพป้องกันเพิ่มขึ้น จาก 60% เป็น 90% คาดเริ่มใช้ปีงบประมาณ 2568
  •  วัคซีนมะเร็งปากมดลูก สปสช.ตั้งงบประมาณจัดหากว่า 800 ล้านบาท รองรับทั้งกลุ่มเดิมที่เคยได้แบบ 2 สายพันธุ์ 1 เข็มไปแล้ว และกลุ่มที่จะได้แบบ 9 สายพันธุ์ รวมกว่า 9 แสนเข็ม

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,500 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิต 2,000 รายต่อปี สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากถึง 70%

ที่ผ่านมาภาครัฐมีการจัดหา"วัคซีนมะเร็งปากมดลูก"เพื่อป้องกันให้กับผู้หญิงอายุ 11-20 ปีฟรี ซึ่งเป็นแบบ 2 สายพันธุ์ 2 เข็ม

เปลี่ยนวัคซีนมะเร็งปากมดลูก

ล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2567 ได้มีการหารือถึงเรื่องการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก จากที่ประเทศไทย ได้มีการจัดสรรวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฉีดให้กับผู้หญิงอายุ 11-20 ปี มาระยะหนึ่งแล้ว เป็นวัคซีนชนิด 1 เข็ม ครอบคลุมการป้องกันเชื้อ HPV 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 

แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนชนิด 1 เข็ม ครอบคลุม 9 สายพันธุ์ ประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ประมาณ  90% และมีราคาลดลง ถูกกว่า วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ซึ่งต้องฉีดถึง 2 เข็ม ประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ 60%

ดังนั้น ถ้าราคาลดลงจริง ก็มีโอกาสได้ใช้วัคซีนชนิด 1 เข็ม 9 สายพันธุ์ ตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำ  คาดว่าน่าจะสามารถใช้ได้ในปีงบประมาณหน้า ประมาณการณ์ว่าจะใช้ราวๆ 7-8 แสนโดส งบประมาณเท่าๆกันกับกรณีการจัดหาวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์

และจะใช้งบประมาณของ สปสช. โดยจะฉีดให้กับผู้หญิงอายุ 11 – 20 ปี รวมถึงกรณีมีข้อร้องเรียนว่า กลุ่มเด็กผู้หญิงที่อยู่นอกระบบการศึกษายังไม่ได้รับวัคซีน ไม่สามารถหาที่ฉีดวัคซีนดังกล่าวได้นั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการหารือ เพื่อหาช่องทางในการนำคนกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนได้ด้วย

กลุ่มเป้าหมายรับวัคซีนมะเร็งปากมดลูก

ทั้งนี้  ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีนายสมศักดิ์เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการให้ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) ชนิด 9 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม สําหรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หรืออายุ 11-12 ปี

และกลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่น เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   พร้อมเห็นชอบให้ยืนยันแผนความต้องการวัคซีน HPV เพิ่มเติม ปี 2567 จำนวน 1,747,000 เข็ม (กรณี ฉีด 2 เข็ม) ตามผลการทบทวนความต้องการวัคซีนสําหรับปี 2567 ภายใต้วงเงินไม่เกิน 643.2105 ล้านบาท ตามที่ได้รับการอนุมัติไว้แล้ว

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ตั้งงบกว่า 800 ล้านจัดหา

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบปรับรายละเอียดแผนการจัดหาวัคซีนมะเร็งปากมดลูก เนื่องด้วยมีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับชนิดของวัคซีน วิธีการฉีด และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ปรับชนิดของวัคซีนและจํานวนการฉีดตามข้อยืนยันทางวิชาการแล้ว โดยให้จัดหาดังนี้

1.จัดหาวัคซีน HPV ชื่อการค้าเดิม จำนวน 200,000 เข็ม วงเงินไม่เกิน 73.636 ล้านบาท เพื่อฉีดเข็ม 2 ให้กลุ่มเป้าหมายปี 2566 ที่ยังอยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งได้รับวัคซีนเข็ม 1 เป็นชนิดที่จําเป็นต้องฉีด 2 เข็ม

และ 2.จัดหาวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ จํานวน 773,500 เข็ม (ฉีด 1 เข็ม) สําหรับกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์และตามนโยบายรัฐบาล (อายุ 13-20 ปี รวมกลุ่มเก็บตก) วงเงินไม่เกิน 568.5745 ล้านบาท

รวมถึง มอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ประสานแจ้งเครือข่ายหน่วย บริการด้านยาฯ (โรงพยาบาลราชวิถี) เพื่อดําเนินการตามกระบวนการจัดหาต่อไป และมอบ สปสช.ปรับประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขฯ กรณีบริการวัคซีน HPV 1 เข็ม และเสนอประธานกรรมการพิจารณาลงนามต่อไป รวมถึงให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อวัคซีน HPV แบบการจัดซื้อหลายปี (Multi-year tender)