ปฏิรูป “กำลังคน สธ.” 10 ปี แก้ขาดแคลน - รับเมดิคัลฮับ
ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกําลังพล และภารกิจด้านบริการสาธารณสุข 10 ปี ผลิตเพิ่ม 9 วิชาชีพ ช่วยแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลน รองรับนโยบายศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) เป้าเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้า และบริการสุขภาพต่อ GDP เป็น 1.7% หรือ 3.8 แสนล้านในปี 2570
KEY
POINTS
- ครม.ไฟเขียวยุทธศาสตร์การปฏิรูปกําลังคน สธ.และภารกิจด้านบริการสาธารณสุขภาพรวมในระยะเวลา 10 ปี ผลิตเพิ่ม 9 วิชาชีพ
- ยุทธศาสตร์ กำลังคน สธ.ช่วยแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน รองรับนโยบายศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
- หนึ่งในเป้าหมายยุทธศาสตร์ กำลังคน สธ. จะเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้า และบริการสุขภาพต่อ GDP จาก 1.33 % เป็น 1.7% หรือ 3.8 แสนล้านบาท ในปี 2570
คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบข้อเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปกําลังคน สธ.และภารกิจด้านบริการสาธารณสุขภาพรวมในระยะเวลา 10 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เพื่อเป็นการเร่งผลิต และพัฒนากําลังคนให้เพียงพอต่อการดูแลทางด้านสาธารณสุข
“ข้อเสนอนี้จะช่วยลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนสนับสนุนการก้าวไปสู่ Medical and Wellness Hub ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 เรื่องหลักของวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เป็นประเทศไทยเป็นศูนย์การดูแลสุขภาพของโลก ควบคู่กับการยกระดับการให้บริการสาธารณสุขผ่านนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่”เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุ
แผนกำลังคน สธ. ผลิตเพิ่ม 9 วิชาชีพ
สำหรับแผนผลิตกำลังคน สธ.เพิ่ม 10 ปีใน 9 วิชาชีพ ประกอบด้วย 1.แพทย์ อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:922 เป้า 1:650 ผลิตเพิ่ม 33,074 คน
2.ทันตแพทย์ อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:3,650 เป้า 1:3,000 ผลิตเพิ่ม 4,106 คน
3.เภสัชกร อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:2,735 เป้า 1:1,966 ผลิตเพิ่ม 9,800 คน
4.พยาบาล อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:316 เป้า 1:200 ผลิตเพิ่ม 124,558 คน
5.นักกายภาพบำบัด อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:4,792 เป้า 1:2,000 ผลิตเพิ่ม 19,590 คน 6.แพทย์แผนไทย อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1: 11,339 เป้า 1:2,782 ผลิตเพิ่ม 18,169 คน 7.นักรังสีเทคนิค อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:9,954 เป้า 1:5,000 ผลิตเพิ่ม 7,364 คน
8.นักสาธารณสุข อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:2,220 เป้า 1:1,000 ผลิตเพิ่ม 36,993 คน และ 9.นักเทคนิคการแพทย์ อัตราส่วนบุคลากรต่อประชากร ปัจจุบัน 1:4,793 เป้า 1:2,804 ผลิตเพิ่ม 10,000 คน
แยกตัวออกจาก ก.พ.มีตำแหน่งรองรับ
ขณะที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนนี้ จะเป็นกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุข อย่างสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยจะช่วยแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนได้อย่างเหมาะสม และรวดเร็ว เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข และรองรับนโยบายสำคัญ อย่าง ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และนโยบาย Wellness & Medical Hub(เวลเนส &เมดิคัลฮับ)
ส่วนแผนตำแหน่งรองรับหลังจากมีการผลิตเพิ่มตามแผนกำลังคน สธ. สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องตำแหน่ง ค่าตอบแทน รายได้ กำลังเร่งรัดร่างพ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ.... ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว จากนี้จะมีการรวบรวมข้อมูล และเสนอตน เพื่อนำเข้าสู่ ครม.คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะถามความเห็นของหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาประกอบ และเข้าสู่การพิจารณา
ทั้งนี้ ผลการรับฟังความคิดเห็น ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น 90,348 เห็นด้วยกับการ มีพ.ร.บ.แยก สธ.ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) 91 % , เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.จะใช้บังคับกับข้าราชการทั้งสายงานวิชาชีพ และสายงานสนับสนุน 92.69 %, เห็นด้วยองค์ประกอบของ กสธ.91.88 % และเห็นด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ เหมือนกับกฎหมายข้าราชการพลเรือน 93.96 %
เพิ่มกำลังคน สธ. เพิ่มมูลค่าเพิ่ม
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคน สธ. ซึ่งมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเร่งพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคสำคัญ ครอบคลุมทั้งการผลิต พัฒนา ส่งเสริม และกำกับดูแล, การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเชิงพื้นที่เป็นหนึ่งเดียว จัดระบบความร่วมมือภาครัฐเอกชนในพื้นที่, การสนับสนุนส่งเสริมบริการสุขภาพที่มีศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และการสร้างเสริมระบบกลไกการอภิบาลกำลังคนด้านสุขภาพให้เข้มแข็ง ซึ่งจะได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลงนาม และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนเป้าหมายสำคัญ คือ1.คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ลดอัตราการตายในโรคที่สำคัญ โดยผลิตบุคลากรรองรับ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ทารกแรกเกิด โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
2.เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ผลิตบุคลากรให้เพียงพอ กระจายตัวอย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ และรองรับการบริการในอนาคต เช่น เร่งรัดการผลิตแพทย์ 4,000 คนต่อปี พยาบาล 15,000 คนต่อปี กายภาพบำบัด 2,000 คนต่อปี แพทย์แผนไทย 1,500 คนต่อปี
และ3. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้า และบริการสุขภาพต่อ GDP จาก 1.33 % หรือ 2.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 เป็น 1.7% หรือ 3.8 แสนล้านบาท ในปี 2570
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์