เช็กก่อนหิ้วเข้า “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ปริมาณที่อนุญาตจะได้ไม่โดนยึดของ

เช็กก่อนหิ้วเข้า “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”  ปริมาณที่อนุญาตจะได้ไม่โดนยึดของ

อย.มีการกำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพถูกกฎหมายที่สามารถถือติดตัวเข้ามาในประเทศได้ เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งจะไม่โดนเจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยายึดของ

KEY

POINTS

  • อย.มีการกำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพถูกกฎหมายที่สามารถถือติดตัวเข้ามาในประเทศได้ เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งจะไม่โดนเจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยายึดของ
  • ตั้งแต่ปี 2567 อย.อนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์ได้ ในปริมาณเท่าที่จำเป็น และจะต้องส่งกลับหรือทำลายภายใน 30 วันหลังถ่ายเสร็จ
  • สั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านอีคอมเมิร์ซ ส่งพัสดุไปรษณีย์จากต่างประเทศเข้าไทย เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาตรวจสอบ จะต้องแจ้งตรงกับสินค้า

บ่อยครั้งที่เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำงานในต่างประเทศ จะต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับมาใช้ที่ประเทศไทย (ซื้อสินค้าต่างประเทศกลับไทย) ซึ่งในส่วนของ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือนนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแ(อย.) กำหนดปริมาณที่สามารถถือติดตัวเข้ามาได้ในแต่ละครั้ง โดยไม่มีความผิด

ปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพ อนุญาตหิ้วเข้าไทยได้

การนำหรือสั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้เฉพาะตัวเองเท่านั้น ต้องเป็นการนำเข้าในนามบุคคลธรรมดา ไม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ ห้ามนำเข้าตามกฎหมาย

อาหาร  เกณฑ์การนำอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้เฉพาะตัว การนำอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อบริโภคเฉพาะตัวเองสามารถนำเข้ามาได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้และเมื่อรวมทุกรายการแล้วต้องไม่เกิน 20 กิโลกรัม/20 ลิตร อย่างเช่น 

  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่เกิน 6 เดือน ต่อ 1 รายการ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 รายการ
  • พืช ผัก และผลไม้แห้ง ไม่เกิน 5 กิโลกรัม
  • กาแฟ ได้แก่ กาแฟคั่วบด เมล็ดกาแฟทั้งชนิดคั่วและไม่คั่ว กาแฟชนิดแคปซูล  ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มปรุงสำเร็จพร้อมชง เช่น ชาและกาแฟ 3 in 1 ไม่เกิน  5 กิโลกรัม
  • กาแฟชนิดฟรีซดราย ชา ได้แก่ ชาใบ ชาผง รวมถึงเครื่องดื่มและชาจากพืชชนิดอื่น เช่น ชาคาโมมาย, ชาเปปเปอร์มิ้นท์  ไม่เกิน 1 กิโลกรัม

เครื่องสำอาง สามารถนำหรือสั่งเข้ามาใช้เฉพาะตัวเองต้องเป็นเครื่องสำอางสำเร็จรูป โดยนำหรือสั่ง เข้ามาได้ชนิดละไม่เกิน 6 ชิ้น และรวมแล้วไม่เกิน 30 ชิ้น เช่น ถ้านำเข้าชนิดละ 3ชิ้น จะนำเข้าได้ทั้งหมด 10ชนิด แต่ห้ามนำเข้าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง      

เครื่องมือแพทย์ การนำหรือสั่งเครื่องมือแพทย์ในปริมาณเท่าที่จำเป็นเพื่อใช้เฉพาะตัวเอง ต้องแสดงเอกสารและหลักฐาน ดังนี้ (ก) เอกสารแสดงรายละเอียดของเครื่องมือแพทย์ เช่น ชื่อการค้า ฉลาก เอกสารกำกับ เครื่องมือแพทย์ ส่วนประกอบ ลักษณะเฉพาะ (specifications) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต (ข) หนังสือชี้แจงวัตถุประสงค์และรับรองว่าจะไม่นำเครื่องมือแพทย์ไปจำหน่าย (ค) ใบรับรองแพทย์โดยระบุรายละเอียดของผู้นำเข้า และรับรองว่าผู้นำเข้าเป็นโรคที่จำเป็น ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าวจริง

ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรได้ในปริมาณเท่าที่จำเป็นเพื่อใช้เฉพาะ ตัวเองเท่านั้น ในปริมาณสำหรับใช้ได้ไม่เกิน 90 วัน และต้องมีข้อมูลหรือรายละเอียดเพื่อทวนสอบได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่นำมาใช้เฉพาะตัวเอง

วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1, 2, 3 และ 4 โดยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ต้องดำเนินการแจ้งข้อเท็จจริงก่อนการนำหรือสั่งเข้า ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และ3 ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ สำเร็จรูปเพื่อมาใช้สอยเฉพาะตัวเอง และนำเข้าได้ไม่เกินครั้งละ 5 กิโลกรัม หรือ 5 ลิตร  และห้ามนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

สั่งอีคอมเมิร์ซ ส่งพัสดุไปรษณีย์ ต้องแจ้งตรง

ขณะที่การสั่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ ที่ส่งผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ผ่านพัสดุไปรษณีย์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจีนนั้น 

การตรวจสอบ โดยหลักทุกผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งมาจากต่างประเทศส่งเข้ามาสู่ประเทศไทยผ่านทางไปรษณีย์ จะมีด่านไปรษณีย์ตรวจสอบทุกพัสดุจะต้องถูกเอ็กซเรย์ โดยหากด่านศุลากรที่มีหน้าที่เก็บภาษีขาเข้าตรวจสอบแล้วว่าใบแสดงเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ก็จะส่งมาให้เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาตรวจสอบ

อย.มีระบบตรวจสอบเข้มข้น  ด้วยการเปิดพัสดุดูว่าตรงปกตามที่มีการแจ้งไว้หรือไม่  เช่น แจ้งว่าเป็นเครื่องนวดหน้า หากตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ ก็จะมีการดำเนินตามกฎหมายกับผู้ที่สั่งเข้ามา ซึ่งจะเป็นผู้ที่เดินทางมารับพัสดุนั้นๆกับเจ้าหน้าที่ก็จะไม่สามารถรับของไปได้ ศุลากรก็จะยึดอายัดไว้เป็นของกลาง

ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นำเข้าเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2567 เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power และนโยบายการกระตุ้นของรัฐบาล

อย. ให้การสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จึงได้ปรับข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์บางส่วนที่อาจเป็นข้อจำกัดให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น และลดอุปสรรค (Faster, Easier, Less Barrier)  มีมาตรการให้ยื่นขออนุญาตผ่านระบบ e-Submission เพียงผู้ประกอบธุรกิจเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขออนุญาตให้ครบถ้วน ได้แก่  ข้อมูลทั่วไปของสินค้า คือ ฉลากสินค้าและรูปภาพ, เอกสารแสดงความปลอดภัย ,หนังสืออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ ,หนังสือมอบอำนาจ สามารถนำเข้าได้ในปริมาณตามความจำเป็น ซึ่งจะบูรณาการข้อมูลกับกรมศุลกากรและกรมการท่องเที่ยว
รวมทั้งส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ติดตามดูแล โดย อย. พร้อมพิจารณาอนุญาตได้ภายใน 24 ชั่วโมง และแจ้งผลการพิจารณาแบบ Real time 
สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้ามาใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์ในประเทศไทย และต้องส่งกลับหรือทำลายภายใน 30 วัน หลังถ่ายทำเสร็จ

อ้างอิง : กองด่านอาหารและยา อย.