เปิดภาพ "เซลล์ปอด" เกิดช่องโหว่ ติดเชื้อง่าย อันตราย“บุหรี่ไฟฟ้า
อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจฯเผยภาพเซลล์ปอด ถูกทำลาย หลังอัดนิโคติน-ซินนาม่อน เกิดรอยโหว่ ทำติดเชื้อง่าย สงสัยบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนทำวัยรุ่นติดเชื้อวัณโรคง่ายขึ้น เหตุบุหรี่ไฟฟ้าทำภูมิต้านทานในปอดลดลง
KEY
POINTS
- อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ เผยภาพเซลล์ปอด หลังอัดนิโคตินและชินนาม่อน เหมือนการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เกิดช่องโหว่ ติดเชื้อง่าย
- แพทย์สงสัย บุหรี่ไฟฟ้า ทำวัยรุ่นติดเชื้อวัณโรคมากขึ้น เหตุภูมิต้านทานในปอดลดลง ซึ่ง ตัวชี้วัดอันแรกเลยคือวัณโรคจะค่อยๆออกเหมือนเห็ด ค่อยๆ กินไปเรื่อยๆ
- 5 สัญญาณเตือน สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครู เพื่อสังเกตว่า ลูก หลาน เด็กเยาวชนอาจจะกำลังติดบุหรี่ไฟฟ้า และข้อสังเกตบุหรี่ไฟฟ้าในแบบพอด(Pod) และทอยพอด(Toy Pod)
เมื่อ สูบบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสมอง หัวใจ และปอด คือ เข้าสู่ทางเดินหายใจใน 1-5 วินาที กระทบต่อระบบทางเดินหายใจและปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคปอดชนิดรุนแรงที่เรียกว่าอิวาลี( EVALI)
- เข้าสู่หลอดเลือดใน 10-20 วินาที กระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งไม่ยืดหยุ่น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรค
- เข้าสู่สมองใน 10-30 วินาที กระทบต่อระบบสมอง นิโคตินเข้าสู่สมองทำให้เกิดการเสพติด และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง กระทบต่อความจำและสภาวะอารมณ์
นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ กล่าวถึง อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เผยแพร่ผ่านโฆษณารณรงค์ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีการโฆษณาว่าไอจาก บุหรี่ไฟฟ้า มีความโปร่งใสของเขม่ามากกว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่มวน แต่ไม่ได้มีความใสจริง เพราะซ่อนสารพิษเอาไว้จำนวนมาก
ทั้งนี้ มีข้อสังเกต ควันบุหรี่ไฟฟ้า ที่ปล่อยออกมาเมื่ออุณหภูมิเริ่มต่ำจะเกิดการควบแน่นเป็นน้ำ ไม่ใช่ควันที่ลอยระเหยออกไป มีการทดลองเทียบสำลีระหว่างก่อนและหลังนำไปกรองไอบุหรี่ไฟฟ้า ชั่งน้ำหนักแล้ว
พบว่า สำลีหลังมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จาก 25 เป็น 58 ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้คืออะไร ปลอดภัยจริงหรือไม่ แล้วน้ำที่ว่านี้เข้าไปสู่ปอดของคนเรา เป็นน้ำธรรมดาหรือน้ำที่เต็มไปด้วยสารหรือโลหะหนัก
“บุหรี่ไฟฟ้าเปรียบเสมือน PM 2.5 บางสารเคมีเล็กกว่าฝุ่นด้วยซ้ำ เมื่อสูดเข้าไปก็จะลงไปที่หลอดลมกระจายไปในเนื้อปอด แล้วเมื่อนั้นจะมีการส่งเข้าไปในเส้นเลือดและใช้เวลาเพียงไม่นานก็จะวิ่งเข้าสู่ร่างกาย อวัยวะสำคัญคือหัวใจ สารนี้จะไปกระตุ้นการอักเสบในเส้นเลือดหัวใจ ทำให้เข้าสู่ภาวะหัวใจอักเสบ หรือกระตุ้นให้มีไขมันอุดตันในเส้นเลือดง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังวิ่งไปที่สมองทำให้เกิดการเสพติด รบกวนการทำงานของสมองให้ช้าลง” นพ.วินัย กล่าว
บุหรี่ไฟฟ้า ทำเซลล์ปอดห่าง ติดเชื้อโรคง่าย
นอกจากนี้ ยังพบว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับวัณโรคปอดด้วย เพราะตนเคยรักษาผู้หญิงวัย 26 ปีที่มีปัญหาเนื้อปอดใช้การได้เพียงเล็กน้อย ทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่มีปัญหาภูมิต้านทานต่ำ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร แต่มีประวัติอยู่ในกลุ่มที่เพื่อนๆ ทุกคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า
ขณะเดียวกันก็มีการวิจัยด้วยการนำเซลล์ปอด ซึ่งมีลักษณะเชื่อมกันเป็นร่างแห เหมือนใยแมงมุม จากนั้นมีการพ่นสารนิโคตินลงไปเหมือนกับที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แล้วติดตามวัดความหนาแน่นของร่างแห พบว่า ทำให้ร่างแหนั้นห่างออกจากกันไปเรื่อยๆ เกิดการทำลายร่างแห จึงเป็นการเปิดประตูให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอดได้ง่าย ความหนาแน่นของเยื่อบุปอดเสียไป ทำให้ไวต่อการติดเชื้อ รับสารพิษได้ตลอด
และยังทดลองพ่นสารนิโคตินบวกกับชินนาม่อน หรือสารปรุงสี ปรุงกลิ่น เทียบกับการพ่นชินนาม่อนอย่างเดียว และเทียบกับการพ่นแอร์ธรรมชาติ พบว่า การพ่นชินนาม่อนบวกกับนิโคติน ยิ่งทำให้เยื่อบุถูกทำลาย ร่างแหเกิดการทำลายมากกว่า โดยสรุปนิโคตินบวกกับชินนาม่อนจะทำให้เกิดปัญหามากกว่า รองลงมาคือนิโคติน, ชินนาม่อน และอากาศบริสุทธิ์ตามลำดับ
สงสัยบุหรี่ไฟฟ้า ทำวัยรุ่นติดวัณโรคง่ายขึ้น
นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า เดิมทีจะพบ วัณโรคระยะแพร่กระจาย ในกลุ่มคนยากจน คนที่อยู่ในพื้นที่แออัด คนไข้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือคนไข้ที่กินยากดภูมิ คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
แต่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ตนเจอคนไข้เป็นวัณโรคระยะลุกลามในกลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างมาก ทั้งที่ไม่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง แต่ที่สังเกตพบ คือมี พฤติกรรมใช้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนกันหมด ถ้าถามว่าวัณโรคเชื่อมโยงกับบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างไร ก็ต้องยอมรับว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ภูมิต้านทานในปอดลดลง โดยมีรายงานชัดเจน ซึ่งเมื่อไหร่ที่ภูมิต้านทานในปอดลดลง ตัวชี้วัดอันแรกเลยคือวัณโรคจะค่อยๆออกเหมือนเห็ด ค่อยๆ กินไปเรื่อยๆ
“นี่เป็นสิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกต จึงอยากเชิญชวนนักวิจัย โดยเฉพาะหมอปอดที่อยู่ในวงการร่วมกันตั้งข้อสังเกตนี้ และเริ่มเก็บตัวเลข ดูความสัมพันธ์ว่าวัณโรคระยะลุกลามในวัยรุ่นไทย เชื่อมโยงกับบุหรี่ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงพอสมควร”นพ.วินัยกล่าว
5 สัญญาณเตือน ลูกติดบุหรี่ไฟฟ้า
สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครู สามารถสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่า เด็กเยาวชนอาจจะกำลัง ติดบุหรี่ไฟฟ้า คือ
1.ได้กลิ่นหอม กลิ่นผลไม้ หรือเมนทอลออกมาจากประตูที่ปิด
2.พบแฟลชไดร์ฟหรืออุปกรณ์การเรียนที่ไม่เคยเห็นในกระเป๋านักเรียน หรือในห้องนอน
3.ใช้เงินมากขึ้นกว่าปกติ หรือซื้อของที่บอกไม่ได้
4.มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือผลการเรียนแย่ลง
5.มีอาการปวดหัวบ่อยๆ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
นอกจากนี้ ข้อสังเกตบุหรี่ไฟฟ้า แบบพอด(Pod) และทอยพอด(Toy Pod)
1.มีรูชาร์จแบต
2.มีกลิ่นคล้ายผลไม้หรือเมนทอล
3.คล้องคอคล้ายสเปรย์แอลกอฮอล์
4.รูปทรงคล้ายอุปกรณ์การเรียน
5.มีรู้ไว้สำหรับสูบ