ทำงานซ้ำซากจำเจ อาจเสี่ยง ‘อัลไซเมอร์’ เพิ่มขึ้น 37% อาชีพไหนเข้าข่าย?

ทำงานซ้ำซากจำเจ อาจเสี่ยง ‘อัลไซเมอร์’ เพิ่มขึ้น 37% อาชีพไหนเข้าข่าย?

งานแม่บ้าน, งานโรงงาน, ทำเอกสารทั่วไป นักวิจัยชี้ เข้าข่าย ‘งานซ้ำซากจำเจ’ ส่งผลให้การรับรู้ของสมองลดลง 66% และอาจเสี่ยง ‘อัลไซเมอร์’ เพิ่มขึ้น 37% หลังวัย 70 ปี

KEY

POINTS

  • นักวิจัยชี้ ‘งานซ้ำซากจำเจ’ ส่งผลให้การรับรู้ของสมองลดลง 66% และอาจเสี่ยง ‘อัลไซเมอร์’ เพิ่มขึ้น 37% หลังวัย 70 ปี
  • งานที่เข้าข่ายงานประจำที่ซ้ำซากจำเจ เช่น งานในโรงงาน งานเอกสารทั่วไป แม่บ้าน ผู้ดูแล คนงานก่อสร้าง คนส่งไปรษณีย์ เป็นต้น
  • งานที่กระตุ้นจิตใจและสมอง มักเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา เช่น ครู ทนายความ แพทย์ นักบัญชี วิศวกรเทคนิค ฯลฯ

ทำงานใช้สมองหนักๆ อาจเหนื่อย แต่ดีต่อสุขภาพสมอง! เมื่อการศึกษาชิ้นใหม่ค้นพบว่า การทำงานที่มีลักษณะงานที่ซับซ้อน ต้องคิดวิเคราะห์เยอะๆ และมีความท้าทายทางจิตใจนั้น เป็นงานที่ช่วยให้กระบวนการการรับรู้ทางสมองทำงานได้ดี และป้องกัน 'อัลไซเมอร์' เมื่ออายุมากขึ้น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโล ในประเทศนอร์เวย์ นำโดย “ดร.ทริน เอ็ดวิน” ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารด้านประสาทวิทยาของ American Academy of Neurology ค้นพบว่า การทำงานที่มีลักษณะงานซ้ำซากจำเจ หรือมีสิ่งกระตุ้นทางจิตใจเพียงเล็กน้อย ในช่วงอายุ 30, 40, 50 และ 60 ปี จะเสี่ยงต่อการเกิดความบกพร่องทางการรับรู้ของสมองเพิ่มขึ้น 66% และมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม หลังอายุ 70 เพิ่มขึ้น 37% 

“ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการมีอาชีพที่ต้องใช้กระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีรักษาความทรงจำและกระบวนการทางความคิดในวัยชรา อีกทั้งเราพบว่าสถานที่ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมสุขภาพทางปัญญาของพนักงาน” ดร.ทริน เอ็ดวิน กล่าว

 

การมีส่วนร่วมในที่ทำงานอย่างกระตือรือร้น ช่วยต่อสู้กับภาวะสมองเสื่อม

ขณะที่ ดร.ริชาร์ด ไอแซคสัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันโรคระบบประสาทเสื่อมในฟลอริดา (ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย) กล่าวถึงผลการศึกษาชิ้นนี้ด้วยว่า การมีส่วนร่วมในชีวิตอย่างแข็งขัน การรักษาความรู้สึกมีเป้าหมายในชีวิต การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการกระตือรือร้นในการเข้าสังคม เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการป้องกันความเสื่อมถอยของสมองเมื่อเราอายุมากขึ้น

“ในทำนองเดียวกัน การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมในที่ทำงานอย่างกระตือรือร้น มีประโยชน์อย่างมากในการต่อสู้กับภาวะสมองเสื่อม มันก็เหมือนกับการที่เราออกกำลังกายเพื่อพัฒนาร่างกายและรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรง แต่ในกรณีนี้ เป็นการออกกำลังกายทางสมองผ่านการทำงานที่น่าสนใจ มีกระบวนการคิดอยู่เสมอ และการมีปฏิสัมพันธ์ในเพื่อนร่วมงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้” ไอแซคสัน กล่าว

ลักษณะงานหรืออาชีพแบบไหนที่เข้าข่ายงานประจำที่ซ้ำซากจำเจ ?

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวทีมวิจัยได้ศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพและการประกอบอาชีพของชาวนอร์เวย์จำนวน 7,000 คน โดยมีการติดตามกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 30 ปี จนกระทั่งพวกเขาเกษียณอายุในวัย 60 ปี (ใช้ฐานข้อมูลระดับชาติในนอร์เวย์) จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และได้จัดหมวดหมู่ความต้องการด้านความรู้ความเข้าใจของอาชีพ 305 อาชีพในประเทศนอร์เวย์ 

โดยทีมวิจัยพบว่างานที่เข้าข่ายงานประจำที่ซ้ำซากจำเจ (ที่ไม่ช่วยป้องกันความเสี่ยงสมองเสื่อม) มักเกี่ยวข้องกับงานที่ใช้แรงกายและแรงใจซ้ำๆ เช่น งานในโรงงาน งานลงบันทึก/ทำบัญชีรายรับรายจ่ายทั่วไป แม่บ้าน ผู้ดูแล คนงานก่อสร้าง และคนส่งไปรษณีย์ เป็นต้น

ในขณะที่งานที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงเป็นงานที่กระตุ้นจิตใจและสมองนั้น (แม้ว่าบางครั้งจะต้องทำซ้ำก็ตาม) มักเป็นงานที่มีหน้าที่ที่ประกอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา และการอธิบายแนวคิดและข้อมูลให้ผู้อื่นทราบ และต้องใช้ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น การฝึกสอนหรือการจูงใจผู้อื่น เป็นต้น 

“งานในกลุ่มนี้ ได้แก่ ทนายความ แพทย์ นักบัญชี วิศวกรเทคนิค และเจ้าหน้าที่บริการสาธารณะ แต่อาชีพที่พบว่ากระตุ้นจิตใจและสมองได้ดีที่สุดคืองานด้านการสอน เนื่องจากครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก และต้องอธิบายและวิเคราะห์ข้อมูลอยู่เป็นประจำ” เอ็ดวินกล่าว

การป้องกันสมองเสื่อม ไม่ใช่แค่ฝึกลับสมองจากการทำงาน แต่ต้องกินอาหารดี-นอนหลับให้เพียงพอ

ดร.ริชาร์ด ไอแซคสัน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คำพูดที่ว่า “ถ้าคุณไม่ใช้มัน(สมอง) คุณจะสูญเสียมันไป” นั้นเป็นเรื่องจริง หากคุณฝึกฝนความคิด ทำงานที่ลับสมองบ่อยๆ ก็จะป้องกันไม่ได้สติปัญญาเสื่อมถอยลงเร็วเกินไป แต่ทั้งนี้ เขาคาดหวังว่าทีมวิจัยจะมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้แง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต เพื่อหาคำตอบว่ากิจกรรมใดที่มี มีประโยชน์ต่อสุขภาพสมองมากที่สุด

เขายังได้ให้คำแนะนำด้วยว่า นอกจากการทำงานในกลุ่มงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา ฯลฯ จะช่วยให้ห่างไกลภาวะสมองเสื่อมได้แล้ว อย่างไรก็ตาม วัยทำงานก็ควรดูแลสมองผ่านการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน (มีการศึกษาพบว่าช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้) จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่ 

“รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกินที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง ในขณะเดียวกัน การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและการจัดการความเครียด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อจากภาวะสมองเสื่อมได้” ไอแซคสัน กล่าว