วัยทำงาน 50+ หางานยังไงให้ได้งาน? ผู้เชี่ยวชาญเผย 6 เคล็ดลับต้องรู้!
วัยทำงานอายุ 50 ปีขึ้นไป หางานยังไงให้ได้งาน? ผู้เชี่ยวชาญเผย 6 เคล็ดลับ โดยเฉพาะการเน้นประสบการณ์ของตน และรู้จักปรับตัวกับโลกการทำงานยุคใหม่
KEY
POINTS
- วัย 50 ปีขึ้นไป หางานยังไงให้ได้งาน? ผู้เชี่ยวชาญเผย 6 เคล็ดลับ โดยเฉพาะการเน้นประสบการณ์ของตน และมีทักษะปรับตัวกับโลกใหม่
- พนักงานที่มีอายุมาก มักจะเผชิญกับคำถามที่มีอคติเกี่ยวกับความรู้และทักษะด้านดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ การขัดเกลาทักษะใหม่ในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
- พนักงานวัย 50+ อย่าตกหลุมพรางของการตีค่าตัวเองต่ำเกินไป ข้อได้เปรียบสำหรับวัยทำงานสูงอายุคือ “ประสบการณ์อันกว้างขวาง” ที่พวกเขามีมากกว่า
เมื่อธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งจากเทคโนโลยี AI เข้ามาดิสรัปต์ และจากปัญหาเศรษฐกิจผันผวน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่งสูง ทำให้วัยแรงงานกลุ่มอายุ 50-60 ปียังเกษียณไม่ได้และต้องทำงานต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มที่เกษียณอายุงานก่อนวัย (ช่วงอายุ 50 กว่าๆ) อาจจะต้องกลับเข้าสู่ระบบแรงงานอีกครั้ง เพราะรายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพในยุคนี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในหลายๆ ประเทศ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องขยายอายุงานออกไปอีก
ยกตัวอย่างรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ภาครัฐของประเทศอังกฤษมีประกาศให้ประชากรวัย 50+ ที่เกษียณอายุก่อนกำหนด ให้กลับมาทำงานอีกครั้งเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา แต่การจะให้คนสูงวัยมาหางานใหม่อาจจะไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทจัดหางานชี้ว่า หากมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและมีทักษะในการปรับตัว ก็ย่อมมีตำแหน่งงานดีๆ พร้อมเสนอให้วัยทำงานคนเก่งวัยเก๋าเสมอ ทั้งนี้ มีเคล็ดลับในการหางานสำหรับวัยทำงานอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนี้
1. เน้นที่ความสามารถ ไม่ใช่อายุ
เจมส์ รี้ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทจัดหางาน Reed ให้คำแนะนำว่า แม้ทุกวันนี้โลกการทำงานยังพบปัญหาเรื่องการ “เหยียดอายุ” อยู่บ้าง แต่หากมีประสบการณ์การทำงานสูงก็ย่อมเอาชนะความอคติเหล่านั้นได้ โดยเขาให้คำแนะนำให้แก่ผู้หางานที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ว่า เมื่อส่งใบสมัครงานหรือไปสัมภาษณ์งานให้เปลี่ยนความสนใจจากอายุของคุณไปที่ความสามารถของคุณแทน
“แม้ว่าคุณจะไม่ควรโกหกเรื่องอายุของตัวเอง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องอายุเช่นกัน และควรปรับปรุงข้อมูลส่วนตัวในใบสมัครงาน โดยควรตัดข้อมูลด้านการศึกษาหรือข้อมูลเก่าๆ ที่มากกว่า 10 ปีออกไป เน้นเขียนความสามารถและประสบการณ์การทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่องค์กร เช่น มีทักษะการสื่อสาร ทักษะการบริหารดูแลทีม เป็นต้น”
2. เปิดใจเกี่ยวกับข้อกังวลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
เพตรา แทกก์ ผู้อำนวยการของ Manpower ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ให้คำแนะนำว่า หากสุขภาพเป็นสาเหตุของการลาออกจากงานครั้งล่าสุด อาจเป็นเรื่องยาก แต่คุณไม่จำเป็นต้องพูดถึงมันในการสัมภาษณ์งานใหม่ เว้นแต่ว่า หากปัญหาสุขภาพนั้นจะส่งผลกระทบต่องานของคุณในอนาคตก็ควรบอกกล่าวให้ชัดเจนจะดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่กระทบต่อการไปพบแพทย์หรือวันลาหยุดต่างๆ
“ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยประวัติการเจ็บป่วย ถ้ามองว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของคุณ แต่อย่างไรก็ตาม ควรพูดความจริงเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องสุขภาพที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน หรือในกรณีที่คุณอาจต้องการวันหยุด” เธอกล่าว
3. อัปเดตทักษะของคุณ
เจมส์ รี้ด บอกอีกว่า พนักงานที่มีอายุมาก มักจะเผชิญกับคำถามที่มีอคติเกี่ยวกับความรู้และทักษะด้านดิจิทัล ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองว่าการขัดเกลาทักษะใหม่ในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งนายจ้างจะให้ความสนใจคนที่มีทักษะเหล่านี้เป็นพิเศษ ดังนั้น คนวัย 50+ จึงควรเปิดใจที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และควรแจ้งในตอนสัมภาษณ์งานไว้ด้วยว่า คุณสนใจหรือกำลังเรียนรู้ทักษะใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ นั่นจะช่วยให้คุณโดดเด่นจากคนอื่นๆ
ขณะที่ สจวร์ต ลูอิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Rest Less เว็บไซต์ที่ให้บริการแพลตฟอร์ม และสนับสนุนทรัพยากร ดิจิทัลที่ปรับให้เหมาะกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป กล่าวว่า การไปเป็นอาสาสมัครในหน่วยงานต่างๆ จะช่วยเพิ่มทักษะของคนทำงานวัย 50+ ได้ โดยเฉพาะการเป็นอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติในเทคโนโลยี จากนั้นควรระบุให้ชัดเจนในใบสมัครของคุณว่าคุณสนใจความท้าทายใหม่ๆ และการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ก็จะช่วยให้มีโอกาสได้งานมากขึ้น
4. อย่ากังวลกับการขอทำงานอย่างยืดหยุ่น
ผู้สูงอายุบางคนพบว่าพวกเขาไม่มีแรงในการทำงานเต็มเวลา หรือมีภาระความรับผิดชอบอื่นๆ ที่ต้องจัดการที่บ้าน ดังนั้น เทรซี่ ริดเดล เจ้าหน้าที่จาก Center for Aging Better จึงให้คำแนะนำว่า เวลาไปสัมภาษณ์งาน ผู้สมัครงานสูงวัยไม่ต้องกลัวที่จะขอทำงานแบบยืดหยุ่นหรือแบบไฮบริด เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ในปัจจุบัน โดยทุกวันนี้ธุรกิจต่างๆ ตระหนักมากขึ้นว่าการมอบความยืดหยุ่นในการทำงานให้แก่พนักงานจะช่วยรักษาพนักงานให้ยังอยู่กับองค์กรไปได้นานๆ
5. สร้างตัวเองใหม่ ฝึกงานใหม่
เจมส์ รี้ด บอกอีกว่า ผู้หางานที่มีอายุมาก ไม่ควรละทิ้งการได้รับคุณวุฒิทางวิชาชีพใหม่ๆ โดยสามารถแสดงให้ผู้จ้างงานเห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งเป็นการเริ่มต้นอาชีพใหม่ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การฝึกงานไม่ได้มีไว้สำหรับเยาวชนเท่านั้น แต่พนักงานที่มีอายุมากก็สามารถทำได้ และเปลี่ยนงานสู่สายอาชีพใหม่ๆ ได้เช่นกัน
ขณะที่ แคลร์ แม็กคาร์ตนีย์ จาก Chartered Institute of Personnel and Development ให้คำแนะนำว่า ลองนึกถึงทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้ของคุณ เช่น หากคุณเป็นนักสื่อสารที่ดีหรือมีประสบการณ์ความเป็นผู้นำมากมาย คุณสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาเป็นจุดเด่นในการสมัครงานในองค์กรที่กำลังต้องการทักษะนั้นๆ ได้
6. อย่าดูถูกตัวเอง
อีกหนึ่งคำแนะนำสำคัญจาก เพตรา แทกก์ ก็คือ พนักงานสูงวัยที่มีอายุ 50+ ควรพยายามหลีกเลี่ยงการตกหลุมพรางของการตีค่าตัวเองต่ำเกินไป เธอกล่าวว่า บ่อยครั้งข้อได้เปรียบสำหรับวัยทำงานสูงอายุคือ “ประสบการณ์อันกว้างขวาง” ที่พวกเขามีมากกว่าพนักงานที่อายุน้อยกว่า ดังนั้น จงเตือนตัวเองไว้เสมอว่า สิ่งที่ทำให้คุณโดดเด่นจากวัยทำงานรุ่นเด็กกว่า ก็คือ การเป็นผู้สั่งสมประสบการณ์การทำงานอันมีคุณค่า นั่นเป็นวิธีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด ในการสร้างความตระหนักรู้และสร้างความมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง
“ในระหว่างการสัมภาษณ์งาน อย่าลืมที่จะดึงเอาทุกสิ่งที่คุณทำได้ออกมาให้นายจ้างเห็น และยกตัวอย่างจริง แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่งานที่คุณไม่มีประสบการณ์” เพตราแนะนำทิ้งท้าย