‘บูมเมอร์รุ่นสุดท้าย’ เกษียณอีก 30 ล้านคน ส่วนใหญ่ไร้เงินออม ทำงานจนตายคือทางรอด

‘บูมเมอร์รุ่นสุดท้าย’ เกษียณอีก 30 ล้านคน ส่วนใหญ่ไร้เงินออม ทำงานจนตายคือทางรอด

“บูมเมอร์รุ่นสุดท้าย” เกษียณเพิ่ม 30 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมตัว เงินออมใกล้หมด-พึ่งประกันสังคมเลี้ยงชีพ สื่อนอกชี้ หวั่นกระทบเศรษฐกิจ นายจ้างเตรียมหาแรงงานรุ่นใหม่ทดแทน ด้านบูมเมอร์บางส่วนมอง ยังต้องทำงานต่อไปจนแก่ตายถึงอยู่รอด

เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) คือกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2489 ถึง 2507 ปีนี้ซึ่งตรงกับปี 2567 กลุ่ม “บูมเมอร์รุ่นสุดท้าย” หรือ “Peak-boomer” จะมีอายุครบ 60 ปี และเข้าสู่การเกษียณอายุงาน

ในอดีตเราอาจมองว่า วัยเกษียณ คือช่วงเวลาที่จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หลังจากทำงานมาอย่างหนักทั้งชีวิต แต่ในยุคที่เศรษฐกิจซบเซา ข้าวของราคาแพงเช่นนี้ วัยเกษียณอาจกลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคน โดยเฉพาะกลุ่ม “Peak-boomer” ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมทางการเงิน ไร้เงินออม และมองว่า ตนเองต้องทำงานไปจนตายจึงจะมีชีวิตรอดต่อไปได้

ข้อมูลจากสำนักข่าวบิซิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) ระบุว่า ตลอดทั้งปี 2567 จะมีกลุ่มเบบี้บูมเมอร์เกษียณเพิ่มอีก 30 ล้านคน รายงานจาก “Alliance for Lifetime Income” ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนหลังเกษียณระบุว่า

หลายคนในกลุ่ม “Peak-boomer” กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงตามมา สำหรับคนทำงานที่ยังอยู่ในระบบ

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “Fed” และส่วนงานศึกษาด้านสุขภาพและการเกษียณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan Health and Retirement Study) พบว่า 52.5% ของคนบูมเมอร์รุ่นสุดท้าย มีสินทรัพย์ 250,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว “9.2 ล้านบาท” หรือน้อยกว่านั้น

ซึ่งหมายความว่า คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะใช้เงินออมจนหมด และหันมาพึ่งพาประกันสังคมแทน ส่วนอีก 14.6% มีสินทรัพย์ 500,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว “18.4 ล้านบาท” หรือน้อยกว่านั้น รายงานชิ้นนี้จึงสรุปผลออกมาว่า เกือบ 2 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มจะเครียด และวิตกกังวลตลอดช่วงวัยการเกษียณอายุงาน

ด้าน “โรเบิร์ต ชาปิโร” (Robert Shapiro) อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ความเห็นว่า การเกษียณอายุกลายเป็นความท้าทายทันที เนื่องจากพวกเขาขาดรายได้ที่ปลอดภัย ตรงกันข้ามกับกลุ่มบูมเมอร์รุ่นแรกๆ ที่ได้รับเงินบำนาญจำนวนมาก และยังมีเงินออมที่สูงกว่าด้วย

นอกจากนี้ พบว่า คลื่นคนบูมเมอร์รุ่นสุดท้ายที่เกษียณอายุพร้อมกันอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ขณะนี้นายจ้างกำลังเร่งหาแรงงานทดแทนเข้าสู่ระบบประมาณ 14.8 ล้านคน อุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูง ได้แก่ การผลิต สุขภาพ การศึกษา ระหว่างนี้อาจทำให้ผลผลิตโดยรวมลดลงไปชั่วขณะ

บิซิเนส อินไซเดอร์ วิเคราะห์ว่า วิกฤติครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแผนการเกษียณ ที่ก่อนหน้านี้จะได้รับเงินอุดหนุนจากนายจ้างมาช่วยสมทบ ทว่าถูกปรับเปลี่ยนเป็นแผนที่รู้จักกันในชื่อ “401k” แผนการลงทุนการเกษียณที่ผู้ลงทุนต้องหักเงินเดือนเพื่อเข้าสะสม ซึ่งก็พบว่า มีคนอเมริกันเพียง 24% เท่านั้น ที่ถือเงินบำนาญก้อนนี้

หากดูตัวเลขรายได้ของกลุ่มคนเกษียณพบว่า ชาวอเมริกันมีรายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มากกว่า 50% ของวัยเกษียณ มีรายได้ 300,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือน้อยกว่านั้น ในกลุ่มนี้สัดส่วนที่มีมากที่สุด คือกลุ่มที่มีรายได้ 10,000 ถึง 19,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว 369,935 ถึง 702,876 บาท ทำให้ชาวอเมริกันวัยเกษียณหลายคนในกลุ่ม “Peak-boomer” บอกว่า พวกเขาอาจต้องทำงานต่อไปจนกว่าจะตายหรือทุพพลภาพ จึงจะมีชีวิตอยู่รอดได้

“เฉพาะคนรวยเท่านั้นที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในวัยชรา พวกเราที่เหลือทำได้แค่สวดภาวนาให้คนกลุ่มอื่นๆ ตายในขณะที่ยังมีงานทำ เพราะไม่มีใครอยากตายอยู่ข้างถนน” แหล่งข่าวอายุ 58 ปี ให้สัมภาษณ์ปิดท้าย

 

อ้างอิง: Business Insider