วางแผน "เกษียณ" ต้องเข้าใจ "เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" และ "ภาษี"

วางแผน "เกษียณ" ต้องเข้าใจ "เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" และ "ภาษี"

"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" หนึ่งในเครื่องมือการออมระยะยาวเพื่อวางแผน "เกษียณอย่างมีสุข" ที่ได้ผลดีทางหนึ่ง แต่ก็มีเรื่องของ "ภาษี" เข้ามาเกี่ยวข้องที่ต้องจัดการให้ถูกต้อง พนักงานที่สนใจลงทุน ควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุน

เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานมานานจะต้องคุ้นเคยกับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการออมเงินระยะยาวรูปแบบหนึ่งสำหรับพนักงานประจำที่ทำกับบริษัท เป็นการวางแผนเพื่อวัยเกษียณที่ได้ผลทางหนึ่ง

แต่เงินออมที่ผู้ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับนี้ จะมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องที่ต้องจัดการให้ถูกต้อง ส่วนพนักงานน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และบริษัทมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานที่สนใจลงทุน ก็ควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุน ดังสามารถอธิบายได้ดังนี้

  • ทำความรู้จัก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย แล้วนำไปฝากไว้ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งดำเนินการโดยผู้จัดการกองทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บออมเงินให้กับลูกจ้าง

โดยส่วนประกอบของ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 4 ส่วน ได้แก่ 1) เงินสะสม 2) ผลประโยชน์เงินสะสม 3) เงินสมทบ และ 4) ผลประโยชน์เงินสมทบ ซึ่งเป็นเงินเก็บสำรองไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตได้

วิธีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะประกอบไปด้วย

- เงินสะสมจากลูกจ้าง เป็นเงินที่มาจากลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ส่วนหนึ่ง ซึ่งจะหักจากเงินค่าจ้างตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง

และกฎหมายยังเปิดให้ลูกจ้างสามารถสะสมเงินในอัตราที่มากกว่าอัตราสมทบของนายจ้างได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุในข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัท

- เงินสมทบจากนายจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างนำฝากเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ให้ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง

  • ภาษีที่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับพนักงานประจำที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัท ถือเป็นการออมเงินระยะยาว และยังได้เงินส่วนสมทบจากนายจ้าง และกำไรจากการดำเนินงานของกองทุนอีกด้วย ซึ่งจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน อีกทั้งผู้ที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ซึ่งสามารถอธิบายแยกย่อยได้ดังนี้

1.นำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้

เงินสะสมที่พนักงานผู้ลงทุนนำเข้ากองทุน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทหนึ่ง เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อการออม หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

โดยเฉพาะเมื่อส่งเงินสะสมเข้ากองทุนมากเท่าไร จะยิ่งทำให้ประหยัดภาษีได้มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากมีจำนวนเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีน้อยลง แต่พนักงานประจำที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน ก็จะไม่สามารถประหยัดภาษีจากเงินส่วนนี้ได้

2.ผลตอบแทนจากเงินลงทุนของกองทุน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

ผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งหมดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตร ส่วนต่างกำไรจากการลงทุนหุ้น จะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นไปตามนโนบายการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ และสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ยังครอบคลุมกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝากเงินหรือลงทุนนตราสารหนี้ ซึ่งจะไม่ถูกหักภาษี 15% ของดอกเบี้ย

3.สิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน

เมื่อพนักงานที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้ง 4 ส่วนดังที่กล่าวไปแล้ว คือ เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ เงินในส่วนนี้ถือเป็นเงินได้ประเภทค่าจ้างที่ผู้รับเงินต้องเสียภาษี

แต่รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สมาชิกที่ได้รับเงินคืนจากกองทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดใน 3 กรณี คือ

3.1 กรณีออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ ในกรณีที่พนักงานผู้ลงทุนในกองทุนออกจากงานตอนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน หรืออาจเรียกว่า “เกษียณอายุ” ตามเงื่อนไขภาษี สมาชิกจะได้รับยกเว้นภาษีเงินกองทุนทั้ง 4 ส่วน ตอนนำเงินออกจากกองทุน เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวเพื่อเกษียณอายุ

แต่ถ้าสมาชิกออกจากงานตอนอายุ 55 ปี แต่เป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่อง จะต้องนำเงิน 3 ส่วน ได้แก่ 1) ผลประโยชน์ของเงินสะสม 2) เงินสมทบ และ 3) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี

ทว่าหากไม่มีความจำเป็นต้องรีบใช้เงินเงินก้อนนี้ และต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ ก็ให้คงเงินไว้ในกองทุนเดิม เพื่อรอโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ หรือสามารถโอนย้ายเงินกองทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า RMF for PVD เพื่อลงทุนจนครบ 5 ปีต่อเนื่อง แล้วจึงคอยถอนเงินออกจากกองทุน ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดเช่นกัน

3.2 กรณีออกจากงานก่อนเกษียณอายุ หากพนักงานผู้ลงทุนในกองทุนออกจากงานตอนอายุไม่ถึง 55 ปี แม้ว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนต่อเนื่องครบ 5 ปีแล้วก็ตาม จะถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้ง 4 ส่วน

หากสมาชิกต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาจต้องพิจารณาทางเลือกต่างๆ เช่น โอนเงินไปยัง RMF for PVD หรือคงเงินไว้ในกองทุนเดิมจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนครบ 5 ปี เมื่อนำเงินออกจากกองทุนจึงจะเข้าเงื่อนไขได้รับยกเว้นภาษี

หรือถ้าหากสมาชิกต้องการนำเงินออกจากกองทุน พร้อมกับลาออกจากงานโดยไม่รอให้ครบ 55 ปี แต่เป็นสมาชิกกองทุนครบ 5 ปีตามเงื่อนไขแล้ว จะต้องนำเงิน 3 ส่วน ได้แก่ 1) ผลประโยชน์ของเงินสะสม 2) เงินสมทบ และ 3) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

ทั้งนี้ สมาชิกกองทุนที่นำเงินออกจากกองทุน จะมีสิทธิ์ในการเสียภาษีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะออกจากงาน กรณีที่สมาชิกมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถ "ยื่นภาษี" ได้ 2 แนวทาง คือ

ทางเลือกที่ 1 นำเงิน 3 ส่วนดังที่กล่าวไปแล้ว รวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

ทางเลือกที่ 2 นำเงิน 3 ส่วนดังที่กล่าวไปแล้ว แยกคำนวณภาษีต่างหากจากเงินได้อื่นๆ โดยกรมสรรพากรกำหนดให้สามารถนำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายในจำนวน 7,000 บาท ที่คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เมื่อหักแล้วเหลือเท่าไรให้หักค่าใช้จ่ายอีก 50% ของเงินที่เหลือนั้น แล้วจึงนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ตามหลักทั่วไป

3.3 กรณีออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน หากพนักงานผู้ลงทุนลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะเงินสะสมเท่านั้น โดยไม่ต้องนำเงินสะสมไปรวมคำนวณภาษี เนื่องจากเป็นเงินได้ที่สมาชิกยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอยู่แล้ว และได้รับการยกเว้นภาษีเท่ากับจำนวนเงินสะสมทั้งหมดที่นำส่งเข้ากองทุน แต่สมาชิกต้องนำเงินกองทุนอีก 3 ส่วน ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

ดังนั้น มนุษย์เงินเดือนที่อยากออมเงินเพื่อไว้ใช้ในวัยเกษียณ หากมีโอกาสได้เข้าทำงานกับบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการให้ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการออมเงินระยะยาวที่ไม่ควรมองข้าม และยังสามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่