“เงิน” หรือ “สุขภาพ” ต้องมีก่อน “สูงวัย”
เมื่อการเกษียณอายุที่มีคุณภาพ หากไม่มีเงินออม ชีวิตวัยเกษียณจะลำบาก ฉะนั้นการออมเพื่อวัยเกษียณจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการมีสุขภาพที่ดี และสังคมที่ดี ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสู่การเกษียณอายุที่มีคุณภาพ
ปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะสร้างผลกระทบในระดับบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยแรงงานที่มีภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ไทยมีสัดส่วนของ กำลังแรงงาน : ผู้สูงอายุ : เด็ก อยู่ที่ 4 : 1 : 1 คาดว่าในปี 2579 จะปรับลงไปอยู่ที่ 2 : 1 : 1 และยังกระทบในเรื่องผู้สูงอายุที่มีสภาวะขาดเงินออม ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
คาดการณ์ว่าปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยถึง 28% ของประชากรทั้งหมด หรือเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.5 แสนคนเท่านั้นในปี 2564 โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเหลือ 1.5 จากเดิมที่อยู่ที่ 2.0
เมื่อเด็กเกิดใหม่น้อยลงขณะที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น "การออมเงิน" เพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณ จึงมีความสำคัญพอๆ กับการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อวัยเปลี่ยน อายุเพิ่มขึ้น ความเสื่อมของร่างกายย่อมต้องเกิดขึ้นตามมา
ผลที่เกิดขึ้นจากการที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น แถมมีอายุยืนยาวมากขึ้น ขณะที่วัยทำงานลดลง จำนวนคนเสียภาษีก็น้อยลง ทำให้รัฐบาลมีรายได้ลดลง แต่มีความจำเป็นต้องนำเงินงบประมาณส่วนหนึ่งไปดูแลผู้สูงอายุ คาดว่า ในอนาคตอาจจะต้องมีนโยบายให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงเกษียณแล้วสามารถกลับมาทำงานได้ เพื่อหารายได้ให้ครอบครัว ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้แต่ละครอบครัวมีลูกที่มีคุณภาพประมาณ 2 คน และมีแนวทางป้องกันให้แม่วัยรุ่นท้องลดลงเหลือ 1.5 ต่อพันประชากร เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง “ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families)” กับการส่งเสริมให้มีเด็กเกิดใหม่
อีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องตระหนักคือการเข้าสู่ "สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ" จำเป็นต้องมีเงินเพื่อใช้ชีวิต และต้องมีร่างกายที่แข็งแรงเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ปราศจากการเจ็บป่วย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการสร้างสุขก่อนสูงวัย
ซึ่งในงาน “สัมมนา HEALTH&WEALTH FORUM” นำเสนอไว้ว่า อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 75-80 ปีมากกว่าอายุเกษียณที่กำหนดไว้ที่ 60 ปี หมายความว่า อายุเกษียณของคนจะยืนยาวมากขึ้น ซึ่งการเกษียณอายุที่มีคุณภาพต้องมีเงิน สุขภาพที่ดีและสังคมที่ดี หากไม่มีเงินออม ชีวิตวัยเกษียณจะลำบาก ฉะนั้นการออมเพื่อวัยเกษียณเป็นสิ่งสำคัญ
การ “เกษียณที่มีคุณภาพ” ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจสุขภาพ เป็นการส่งเสริมการป้องกันแทนที่การรักษาหลังการเจ็บป่วยแล้ว ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเกิดโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณเตือนให้แก่ทุกคนว่าต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองอย่างไร ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อจะได้รู้ว่าร่างกายมีความเสื่อมมากน้อยขนาดไหน มีโรคอะไรบ้างที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องรักษา เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แทนการใช้ยา เป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ “สูงวัย”อย่างมีคุณค่า