สัมพันธ์และความทรงจำ | วรากรณ์ สามโกเศศ

สัมพันธ์และความทรงจำ | วรากรณ์ สามโกเศศ

ความทรงจำเปรียบเสมือนเส้นไหมอันมีค่า ที่ถักทอทุกช่วงชีวิตของเราเข้ากับเหตุการณ์และชีวิตของบุคคลต่าง ๆ จนช่วยทำให้รู้ว่าเราเป็นใคร นอกจากนี้ยังให้ความหมายแก่ประสบการณ์ของเราอีกด้วย ความทรงจำที่ดีนั้นให้ความสุข

ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะสร้างความทรงจำใหม่อย่างแจ่มชัดขึ้นได้อย่างไร และจะรักษาความทรงจำนั้นไว้ได้อย่างไร ปัจจุบันมีงานศึกษาใหม่ทางจิตวิทยาที่สามารถช่วยได้เป็นอย่างดี

ความจริงหนึ่งของชีวิตที่เรามักลืมก็คือทุกคน “พบเพื่อจาก” กันทั้งนั้น สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือความทรงจำซึ่งถ้าดีก็จะให้ความสุขทุกครั้งที่นึกถึงให้ทั้งรอยยิ้ม กำลังใจ และปัญญาในการนำทางชีวิต

ในประเด็นแรกของการจะมีความทรงจำใหม่ที่แจ่มชัดนั้น นักจิตวิทยาพบว่าความจำระยะสั้นจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจะแปรเปลี่ยนเป็นความจำระยะยาว (long-term memory) หรือความทรงจำได้นั้นเกิดจากการรวมตัวของความจำระยะสั้น ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ 

 ส่วนสำคัญของสมองในการจัดการเรื่องความจำคือ hippocampus ซึ่งร้อยละ 15 ของนิวรอน (neurons) หรือเซลล์ประสาทในส่วนนี้จะ “ยิง” คลื่นที่เรียกว่า short wave ripplesออกไปพร้อมกันในระหว่างที่นอนหลับเพื่อให้ความจำระยะสั้นแปรเปลี่ยนเป็นระยะยาว

งานศึกษาล่าสุดพบว่าแบบเเผนของการ “ยิง” คลื่นดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยในเวลากลางวันทันทีหลังจากการเริ่มรวมตัวกันของความจำระยะสั้น ความถี่ของการ “ยิง” นี้มีสหสัมพันธ์กับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นระยะยาวในตอนกลางคืน

ดังนั้นยิ่งมีการ “ยิง” ทันทีหลังประสบการณ์ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถจำประสบการณ์นั้นได้ในระยะยาว หรือเกิดความทรงจำขึ้น

ประสบการณ์หรือเหตุการณ์ใดในระยะสั้นที่จะกลายเป็นความทรงจำในที่สุดนั้นจึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดตามมาทันที ความทรงจำที่แจ่มชัดจะเกิดขึ้นหากมีช่วงเวลาว่างไม่ทำอะไรเลยหลังประสบการณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการ “ยิง” เกิดขึ้น และซ้ำอีกครั้งในตอนกลางคืน ถ้าไม่มีเวลาว่างเช่นว่านี้แล้ว ความจำเกี่ยวกับประสบการณ์จะสูญหายไปหมด

ถ้าต้องการจดจำเหตุการณ์ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวาระที่สำคัญ ต้องสังเกตทุกสิ่งอย่างละเอียด ไม่ว่าผู้คน คำพูด สิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยินจากรอบด้านกลิ่นที่สัมผัส ฯลฯ และหากมีเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์หรือความตื่นเต้นเข้ามาผสมด้วยแล้วจะช่วยทำให้จำได้ดีมาก และทันทีที่เหตุการณ์จบลงต้องมีช่วงเวลาว่างไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้เวลาของกลไกทางชีววิทยาทำงานเพื่อจะได้มีความทรงจำที่เด่นชัดในเวลาข้างหน้า

สิ่งที่น่ากังวลของสังคมปัจจุบันก็คือ มักไม่มีเวลาว่างหลังประสบการณ์เพราะมือจะคว้าโทรศัพท์และโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดียหรือติดตามอ่านข่าวคราวที่ได้เกิดขึ้นทันที จนขาดโอกาสที่จะทำให้เกิดความทรงจำที่ชัดเจนขึ้น

นับว่าเป็นการสูญเสียโอกาสที่น่าเสียดายเพราะไม่ได้ครอบครองทรัพยากรมีค่าที่สามารถช่วยให้กลับมาอยู่ในเหตุการณ์นั้นได้อีกนับครั้งไม่ถ้วนในอนาคต

สำหรับประเด็นที่สองคือ เราจะเก็บรักษาความทรงจำไว้ได้อย่างไร ข้อควรปฏิบัติที่รวบรวมมาจากงานศึกษาทางจิตวิทยา ได้แก่ 

(1) ต้องไม่เพียงแต่นึกย้อนถึงความหลังหรือความทรงจำนั้น ๆ เท่านั้น จำต้องบ่มเพาะและทำให้มันฝังตัวอยู่ในชีวิตประจำวันด้วยการกระทำหลาย ๆ อย่างซึ่งมาจากหลายข้อข้างล่างนี้ 

(2) กลับไป “มีชีวิต” อีกบ่อย ๆ กับความทรงจำอย่างแข็งขันด้วยการนึกภาพของเหตุการณ์ หรือของบุคคล โดยพยายามนึกลงไปในรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าเป็นความรู้สึก การมองเห็น การได้ยิน หรือแม้แต่การได้กลิ่น หากเล่าได้ก็เล่าให้คนอื่นฟัง เพราะยิ่งเล่าก็จะยิ่งเห็นชัดขึ้นในใจของเรา

(3) การสัมผัสสิ่งของประกอบจะช่วยได้มาก เช่น ดูภาพ ดูวิดีโอ มีการ์ด กากตั๋ว เสื้อผ้า ของขวัญ ฯลฯ ซึ่งเตือนให้นึกถึงความทรงจำนั้น ๆ หากมีการจดบันทึกประสบการณ์ไว้ด้วยก็จะยิ่งทำให้เด่นชัดยิ่งขึ้น 

(4) การมีประสาทสัมผัส ซึ่งได้แก่ การฟังเพลง การได้กลิ่นน้ำหอม เทียนไข หรืออาหาร ฯลฯ จะกระตุ้นให้นึกถึงความทรงจำนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

(5) นึกถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงประสบการณ์นั้นในอดีต ธรรมชาติสร้างให้อารมณ์เป็นสิ่งช่วยขยายความทรงจำ มนุษยชาติที่อยู่รอดมาได้ก็เพราะจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตโดยอาศัยอารมณ์เป็นตัวสร้างและเตือนความจำ

ตัวอย่างเช่นความเจ็บปวดจากการถูกงูกัดทำให้จดจำประสบการณ์นั้นได้ เมื่อเห็นงูชนิดนั้นอีกก็หลีกเลี่ยง หากไม่เจ็บปวดก็อาจจำไม่ได้และถูกกัดอีกจนเสียชีวิตได้

(6) ตอกย้ำความทรงจำเสมอโดยพิธีกรรม เช่น ทำบุญประจำปีให้บุคคลที่อยู่ในความ ทรงจำ การฉลองวันเกิด ฉลองการครบรอบเหตุการณ์สำคัญในความทรงจำ การกระทำเช่นนี้คือการบ่มเพาะความทรงจำให้ “สด” มิใช่เพียงนึกถึงเท่านั้น

(7) ความทรงจำเชื่อมโยงกับคุณค่าที่เรายึดถือในชีวิต หากสะท้อนคิดในแง่มุมที่ประสบการณ์นั้น ๆ มีคุณค่าต่อชีวิตของเราอย่างไรแล้ว เช่น ความจงรักภักดีหรือความเมตตา ก็จะช่วยทำให้ความทรงจำนั้นชัดเจนขึ้น

เด็กควรมีชีวิตที่มีความสุขเพื่อจักได้มีความทรงจำอันมีความสุขไว้เป็นเสบียงต่อสู้กับความความลำบาก ที่จะเกิดขึ้นตอนเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นทรัพยากรอันมีค่าที่จะทำให้เขามีความสุขยามนึกถึงมันในตอนที่โตขึ้น การช่วยให้เด็กที่ลำบากพอมีความสุขขึ้นบ้างจึงเป็นกุศลโดยเเท้

เรา “พบเพื่อจาก” กันทั้งนั้น ถ้าต้องการสิ่งมีค่าที่ช่วยสร้างความสุขใจในอนาคตก็ต้องพยายามสร้างความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับประสบการณ์ของการพบกันให้เเนบเเน่นตั้งแต่แรก และรักษาความทรงจำนั้นให้มั่นคงอยู่ในใจ.