ทรัมป์ เสี่ยงทำเศรษฐกิจตกต่ำเงินเฟ้อสูง?

ทรัมป์ เสี่ยงทำเศรษฐกิจตกต่ำเงินเฟ้อสูง?

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า นโยบายภาษีเพื่อกีดกันการค้าของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูง เฟดจะคงดอกเบี้ยสูง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น สุดท้ายส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า นโยบายภาษีเพื่อกีดกันการค้าของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูง เฟดจะคงดอกเบี้ยสูง  ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น สุดท้ายส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แต่บางส่วนมองว่า ทรัมป์จะไม่ขึ้นภาษีอย่างที่ขู่ไว้ เขาต้องการเพียงการต่อรองกับคู่ค้าเท่านั้น

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเป็นหนึ่งในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่มองนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะก่อปัญหามาก ครุกแมนเคยทำงานในคณะที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน  เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเขียนบทความลงในเว็บไซต์ substack.com ว่าจากประสบการณ์ที่เคยทำงานในรัฐบาลเรแกน ทำให้ได้รู้ว่าผู้บริหารประเทศไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองพูด โดยตามความเห็นของทรัมป์แล้ว ยุคของเรแกน (1981-1989) เป็นแบบอย่างของการมีวินัยทางการคลัง  

ครุกแมนเคยทำนายว่าการขาดดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุคของเรแกน เพราะค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ผลกระทบต่อดุลการค้าถูกบดบังไว้ชั่วคราวด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในปี 1981-2 ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้านำเข้าลดลง แต่ดุลการค้าติดลบอย่างมากเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อมา

ครุกแมน ระบุว่า เศรษฐกิจยุคเรแกนที่ฝ่ายการเมืองโฆษณาว่าเป็นตำนานแห่งความสดใสของอเมริกา แต่ผู้คนมักลืมว่ามีการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาล หรือไม่ก็รู้สึกว่าการขาดดุลดังกล่าวมีมายาวนานแล้ว แต่ในความเป็นจริง ดุลการค้าของสหรัฐมีแนวโน้มจะสมดุล แต่เรแกนเป็นผู้ริเริ่มยุคใหม่ที่มีงบประมาณขาดดุลมาก และการขาดดุลการค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

และการขาดดุลการค้าในยุคทศวรรษ 80 ถือเป็นจุดที่ทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐตกต่ำลงอย่างแท้จริง ในยุคของเรแกนเป็นยุคที่ผู้คนเริ่มเรียกพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันตกตอนกลางว่าเข็มขัดสนิม (Rust Belt)

“ดังนั้น หากคุณคิดถึงวันเก่าๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมหนักเช่นเดียวกับทรัมป์ และผู้สนับสนุนหลายๆ คนของเขา คุณควรจะรู้ว่า เรแกนทำให้ยุคนั้นสิ้นสุดลง ไม่ใช่กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม,” ครุกแมน กล่าว  

 

สาเหตุที่ทำให้การขาดดุลการค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหันในยุคเรแกนคือ เรแกนทำให้งบประมาณของสหรัฐขาดดุลมากโดยการลดภาษี และเพิ่มการใช้จ่ายทางทหาร การใช้จ่ายเกินตัวนี้ทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อนี้ได้โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้สูง ดอกเบี้ยสูงดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งสูงขึ้น

และการที่ดอลลาร์แข็งค่าทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐไม่สามารถแข่งขันได้ จากราคาสินค้าสหรัฐแพงขึ้นในตลาดโลก ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้ามหาศาล 

ทรัมป์ เสี่ยงทำเศรษฐกิจตกต่ำเงินเฟ้อสูง?

แต่ค่าเงินดอลลาร์ก็ร่วงลงในไม่ช้าหลังจากนั้น จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการร่วงลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างเศรษฐกิจหลักที่พยายามกดค่าเงินดอลลาร์ให้ต่ำลงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทั้งค่าเงินดอลลาร์ และการขาดดุลการค้าก็ลดลงอย่างมากในปี 1990

จากนั้นทั้งดอลลาร์ และการขาดดุลการค้าก็พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปีของประธานาธิบดีบิล คลินตัน แต่เป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างแตกต่างกัน การขาดดุลงบประมาณลดลง ไม่ได้เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการขาดดุลการค้าในยุคคลินตันคือ การขยายตัวอย่างมากของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ  
ครุกแมนชี้ว่า สหรัฐกำลังจะได้เห็นการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นสูงคล้ายกับในยุคของเรแกน

ทรัมป์ต้องการให้ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีปี 2017 ที่มีมาตั้งแต่สมัยที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก และส่วนใหญ่กำลังจะหมดอายุลง  เขายังให้คำมั่นสัญญามากมายเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีอื่นๆในระหว่างการหาเสียง

อีลอน มัสก์ ผู้รับผิดชอบกระทรวงเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ เชื่อว่า สามารถลดการขาดดุลได้มากโดยตัดการใช้จ่ายที่สูญเปล่า การฉ้อโกง และการทุจริต อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อิสระแทบไม่มีใครเชื่อเขา

“ไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะมีการสร้างกองทัพเทียบเท่ากับเรแกนหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าทรัมป์จะรุกรานกรีนแลนด์ ปานามา และแคนาดาหรือไม่ นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะดำเนินแผนการเนรเทศคนจำนวนมากในระดับใด หากเขาทำเช่นนั้น แผนดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก” ครุกแมนตั้งข้อสังเกต

สหรัฐอาจจะไม่ได้เผชิญกับภาวะช็อกทางการคลังที่รุนแรงเท่ากับยุคของเรแกน แต่เพียงพอที่จะทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้สูงกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดไว้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และการขาดดุลการค้าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจในยุโรปที่ซบเซายังทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นด้วย

ทรัมป์ กล่าวว่า การขึ้นอัตราภาษีศุลกากรให้สูงเป็นการทั่วไป และลงโทษจีนด้วยภาษีที่สูงกว่านั้น จะช่วยลดการขาดดุลการค้า 

แต่ครุกแมนไม่แน่ใจว่า ภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เขากลัวว่าภาษีศุลกากรที่ทรัมป์จะเรียกเก็บในอนาคตจะทำให้เกิดการทุจริตมากกว่าการกีดกันทางการค้า ซึ่งบริษัทหลายแห่งทั้งใน และต่างประเทศอาจจะจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อจะได้สิทธิยกเว้นภาษี  แต่หากมีการขึ้นภาษีศุลกากรจริง และสหรัฐไม่ได้ถูกตอบโต้จากต่างประเทศ ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้นซึ่งจะลบล้างดุลการค้าที่ลดเพราะภาษีศุลกากรสูง

 ดังนั้น ความเชื่อของทรัมป์ที่ว่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐเป็นการอุดหนุนประเทศอื่นนั้นไม่จริง ทรัมป์จะพบว่าสหรัฐจะขาดดุลการค้าจะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง แล้วสิ่งที่เขาจะทำต่อไปคืออะไร?

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคิดเช่นเดียวกันกับครุกแมนคือ ทรัมป์จะกดดันให้เฟดทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงด้วยการลดดอกเบี้ย โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และหากเขาเลือกแนวทางนั้น จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมภาวะเงินเฟ้อสูง (Stagflation) กลับมาอีกครั้ง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์