'อีอีซี' ส่งคลังเคาะข้อสรุป แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

'อีอีซี' ส่งคลังเคาะข้อสรุป แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

สกพอ.เตรียมเสนอแก้สัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินเข้า กบอ.ในเดือน ต.ค.นี้ ลุ้น “สุพัฒนพงษ์” ไฟเขียว ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติลงนาม ก่อนเร่งส่งมอบพื้นที่เอกชน ม.ค.2566

โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศเพื่อมุ่งหน้าสู่หมุดหมายการยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต แต่โครงการกำลังถูกท้าทายด้วยเงื่อนไขพื้นที่ทับซ้อนและด้านข้อกฎหมาย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้สัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สกพอ. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) เพื่อเจรจาหาข้อยุติในร่างสัญญาร่วมกัน

ขณะนี้ สัญญาดังกล่าวยังไม่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุม กบอ.เนื่องจากที่ประชุมได้มอบหมายให้สอบถามความเห็นไปยังกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับประเด็นทางการเงินทั้งการทยอยชำระค่าบริหารสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และการชำระค่าก่อสร้างงานโยธาพื้นที่ทับซ้อนโครงการรถไฟไทย - จีน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กบอ.อีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้ จึงคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้ในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในช่วงเดือน ม.ค.2566

 

สำหรับการแก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุน เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนงานโยธาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รวมไปถึงกรณีการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เร่งแก้ปมส่งมอบพื้นที่มักกะสัน

แหล่งข่าวยังระบุถึง ความคืบหน้าการแก้ปัญหาส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟเดียวกันนี้นั้น ครม. ได้เห็นชอบตามที่ สกพอ.เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน ตามที่ก่อนหน้านี้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถส่งมอบได้เนื่องจากติดปัญหาลำรางสาธารณะ

โดยการขอความเห็นชอบจาก ครม.ครั้งนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2565 สกพอ. และกรมที่ดินได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่เห็นชอบให้ สกพอ. กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทยเร่งสรุปปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ทั้งนี้ ที่ประชุมระหว่าง สกพอ.และกรมที่ดิน เห็นควรเสนอให้มีการแก้ไขหรือทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 กรณีที่ใช้บังคับในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันระเบียบดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่สะดวก ล่าช้าซ้ำซ้อนหรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการรถไฟฯ สามสนามบิน ได้เต็มศักยภาพ

โดยเสนอให้แก้ไขหรือทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทย อาทิ ข้อ 25 วรรคสอง ของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้การอนุญาต ให้อนุญาตตามกำหนดเวลา ซึ่งสมควรกับกิจการที่กระทำภายในกำหนดไม่เกินห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาต และข้อ 27 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่กระทำให้พื้นดินที่ได้รับอนุญาตหรือพื้นที่ซึ่งติดต่อเสียสภาพตามสมควร เช่น ขุดพื้นดินลึกจากพื้นดินทั่วไปเกินกว่าห้าเมตร

ยื่นยกเลิกลำรางสาธารณะ

ดังนั้น หากกรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนระเบียบมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ฯ การขออนุญาตตามมาตรา 9 พ.ศ.2543 แล้ว โครงการรถไฟฯ สามสนามบิน จะสามารถพัฒนาฟื้นที่ดังกล่าวได้ตามวัตถุประสงค์โดยไม่ติดขัดปัญหาและอุปสรรค

ปัจจุบัน สกพอ. จึงได้ดำเนินการยื่นขอเพิกถอนลำรางสาธารณะดังกล่าวตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป สกพอ. ในฐานะหน่วยงานเลขานุการ กพอ. จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า การเสนอขอให้ ครม.อนุมัติดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนระเบียบมหาดไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนและโครงการนี้ ว่าสามารถแก้ไขปัญหาส่งมอบพื้นที่ได้อย่างแน่นอน โดยปัญหาลำรางสาธารณะบริเวณโรงงานมักกะสัน ขณะนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของการส่งมอบพื้นที่พัฒนาโครงการแล้ว และทางเอกชนคู่สัญญาปัจจุบันได้รับทราบในเรื่องนี้ และพร้อมที่จะเริ่มงานก่อสร้างในส่วนอื่นก่อน

“การเพิกถอนลำรางสาธารณะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาดำเนินการในขั้นตอนกฎหมาย แต่เมื่อเรื่องได้ผ่านการอนุมัติจาก ครม.ก็เป็นการยืนยันได้ว่าปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน หนึ่งในปัญหาที่เอกชนกังวลเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีมักกะสันก็ได้รับการแก้ไขแน่นอน ดังนั้นหากมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ เอกชนก็ตอบรับว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที”