ดาวโจนส์ทะยาน 765 จุดประเดิมปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งเดือนต.ค.
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(3ต.ค.)พุ่งขึ้น 765 จุด ซึ่งเป็นการซื้อขายวันแรกของเดือนต.ค. และเป็นวันแรกของไตรมาส 4
ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศไม่ได้ระบุถึงการประชุมที่จะมีขึ้นในวันนี้ของคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในรายงานภาวะตลาดหุ้นวอลล์สตรีทแต่อย่างใด โดยการประชุมนี้ไม่ใช่การประชุมฉุกเฉิน หรือการประชุมนอกรอบของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 765.38 จุด หรือ 2.66% ปิดที่ 29,490.89 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 92.81 จุด หรือ 2.59% ปิดที่ 3,678.43 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 239.82 จุด หรือ 2.27% ปิดที่ 10,815.44 จุด
นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 52.8 ในเดือนส.ค.
ดัชนีภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ ขณะที่การจ้างงานหดตัวเป็นครั้งที่ 4
ขณะเดียวกัน นักลงทุนส่งแรงซื้อเก็งกำไรเข้าตลาด หลังดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 500 จุดในวันศุกร์ที่ผ่านมา
หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นนำตลาด สอดคล้องกับการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันในตลาด ขานรับคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ในการประชุมวันพุธนี้
การซื้อขายในวันนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ในวันศุกร์นี้