“จอน เพนไรซ์” ฉายภาพกลยุทธ์ Dow รับกติกาโลกใหม่
มุมมอง “ประธาน บริษัท ดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก” ความผันผวนเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ แนะธุรกิจวางแผนระยะยาวที่ยืดหยุ่น รับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์
จอน เพนไรซ์ ประธาน บริษัท ดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ในหัวข้อ “New World Order: New Strategy กลยุทธ์รับกติกาโลกใหม่” ว่า ความผันผวน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์ถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่ตามมา ตั้งแต่การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2020 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ไปทั่วโลก จากนั้นปี 2021 สภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างรุนแรงทำให้ต้องสั่งปิดโรงงานผลิตเคมีคอลในสหรัฐ และในปีนี้สงครามที่ปะทุขึ้นในยูเครนทำให้เกิดวิกฤติด้านพลังงานรวมถึงผลกระทบอื่นๆ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น คำถามคือแล้วในปี 2023 จะเกิดอะไรขึ้น
“สิ่งที่สำคัญกว่าการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต คือ การรู้ว่าเราจะทำอะไร และอุตสาหกรรมควรทำอย่างไรจึงจะสามารถเตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์”
โดยบริษัท ดาว เคมิคอล ได้ดำเนินตามกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างต่อเนื่องทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1. ยึดความต้องการผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยการใช้ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นตัวชี้วัดผลงาน
2. มีความยืดหยุ่น และคล่องตัว ภายใต้เป้าหมายการเป็นซัพพลายเออร์ที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย โดยมีการจัดการห่วงโซ่การผลิตที่เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์
3. การมีวินัยทางการเงิน โดยให้ความสำคัญกับสภาพคล่องธุรกิจ และสมดุลปริมาณหนี้
4. สร้างความหลากหลายให้พอร์ตการลงทุน ทั้งในด้านตลาดผู้ใช้งาน และภูมิศาสตร์
สำหรับในปี 2023 วิกฤติความผันผวนที่บริษัทต้องเตรียมรับมือ ประกอบไปด้วย ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และแก๊สในยุโรปที่อยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งยังชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ และการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์
ในขณะเดียวกัน บริษัทมองโอกาสในปี 2023 ที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางการวางแผนกลยุทธ์ แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หลังจากการระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้น ได้เปลี่ยนแนวคิดของภาคอุตสาหกรรมไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้การพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเพียงแห่งเดียวกลายเป็นความเสี่ยง และเกิดเทรนด์การย้ายฐานผลิตจากจีนอย่างเห็นได้ชัด และเป็นโอกาสของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย รวมทั้งการย้ายโรงงานบางส่วนกลับไปยังสหรัฐ และยุโรป แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการลดความเสี่ยง
2. การดำเนินกลยุทธ์ ESG เป็นแผนการลดความเสี่ยงระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน และพัฒนานวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งระหว่างรัฐ และเอกชน
โดยบริษัทเองตั้งเป้าสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ด้วยการพัฒนาและวิจัยวัสดุอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง พลาสติกหมุนเวียนในแพ็กเกจจิ้ง พร้อมกับการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ และสามารถแข่งขันได้
3. การครองใจพนักงานและดึงดูดคนเก่งๆ โดยการทำความเข้าใจเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไป อาทิ การทำงานจากที่ไหนก็ได้
“หากจะให้จัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ธุรกิจต้องทำท่ามกลางวิกฤติ และความผันผวน ไม่ใช่การคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจแค่ในระยะสั้น แต่ควรจะพัฒนาแผนการที่ยืดหยุ่น และคล่องตัวเพื่อการรับมือในระยะยาว”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์