‘บิ๊กคอร์ป’ ปรับแผนรับโลกใหม่ บุกนิวเอสเคิร์ฟ-เน็ตซีโร่

‘บิ๊กคอร์ป’ ปรับแผนรับโลกใหม่ บุกนิวเอสเคิร์ฟ-เน็ตซีโร่

โลกเปลี่ยนผันผวนแรง กระทบธุรกิจต้องปรับตัว “บิ๊กคอร์ป” ชั้นนำในไทย จัดทัพเดินหน้าสร้างโอกาสจากธุรกิจ ลุยน่านน้ำใหม่ เร่งเครื่องพลังงานสะอาดหนุนไทยก้าวสู่ Net Zero 

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาใหญ่ครบรอบ 36 ปี ภายใต้หัวข้อ Thailand Economic Outlook 2023 ดึงภาคธุรกิจ การเงิน ชั้นนำของประเทศ ร่วมฉายภาพทิศทางการรับมือเศรษฐกิจโลก รวมถึงเปิดเวทีให้บิ๊กคอร์ปชั้นนำของประเทศนำเสนอทิศทางของธุรกิจ การปรับตัวในโลกยุคใหม่ท่ามกลางความผันผวนและความท้าทาย ภายใต้ หัวข้อ “ซีอีโอ Big Corp สู่ธุรกิจแห่งอนาคต”

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ครอบคลุมธุรกิจศูนย์การค้า ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนาขยายการลงทุนต่อเนื่องด้วยยุทธศาสตร์ “Retail-Led Mixed-Use Development” ผนึกกำลังทุกองค์ประกอบที่แข็งแกร่งของเซ็นทรัลพัฒนาเข้าด้วยกัน 

ทั้งศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยมี “ศูนย์การค้า” เป็นเรือธง ภายใต้วิสัยทัศน์ “Imagining Better Futures For All” มุ่งสร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศ (Sustainable Ecosystem) สร้างสมดุลทั้ง People และ Planet ด้วยบทบาทของการเป็น “Place Maker” รองรับผู้คน ชุมชน และเสริมศักยภาพของเมืองด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้สร้างผู้ประกอบการให้เติบโตไปด้วยกันพร้อมเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

ซินเนอร์ยี-เล็งธุรกิจใหม่เสริมแกร่ง

เซ็นทรัลพัฒนา มีการปรับแผนให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกตลอดเวลา มีการสร้างทีม Alternative Asset เพื่อมองหาธุรกิจใหม่เสริมแกร่งธุรกิจหลักที่น่าสนใจ เช่น การลงทุน Venture capital ทั้งในและต่างประเทศ การลงทุนทางด้าน Prop Tech และ Retail Tech

“ธุรกิจหลักของเราต้องรักษาไว้ให้ดี และพร้อมลงทุนธุรกิจอนาคตเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า เช่น นวัตกรรมทางการเงิน เราเป็น Retail-Led Mixed-Use Development รายใหญ่ สามารถทำกรีนบอนด์และกองรีท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รวมทั้งการขยายไปต่างประเทศ นอกเหนือจากมาเลเซีย

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายทั้งเรื่องการเงิน ภาวะเงินเฟ้อ สงคราม การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผันผวนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้คน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งได้เรียนรู้จากวิกฤติโควิด-19 ว่า องค์กรจะต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องมีนวัตกรรม พลังบวก และยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อเดินหน้าต่อไป

แผนทรานส์ฟอร์เมชั่นของเซ็นทรัลพัฒนาจึงประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.Business Diverrification มุ่งสู่ธุรกิจใหม่ที่เชื่อมโยงธุรกิจหลัก “ชอปปิงเซ็นเตอร์” 2.ใช้ Power of Synergy ภายในเซ็นทรัล กรุ๊ป และเซ็นทรัลพัฒนาสร้างอิมแพคให้ยิ่งใหญ่ในการเติบโตในระดับเมือง ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับโลก

 

3.Business Model Shift หัวใจสำคัญก็คือ ต้องปรับโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์คู่ค้า และลูกค้าและ 4.Omni channel Experience เชื่อมโยงโลกออนไลน์-ออฟไลน์ในแบบไร้รอยต่อ ทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเราได้ตลอดเวลาตามที่เราต้องการ

ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี เซ็นทรัลพัฒนาจะลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ขยายการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ทั้งศูนย์การค้า ในรูปแบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส โครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 50% ของโครงการจะเป็นมิกซ์ยูสตอกย้ำการเป็น “Center of Life” หรือ ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคนและทุกชุมชนที่โครงการไปตั้งอยู่

“สเกลเป็นเรื่องที่สำคัญ มีอิมแพคปัจจุบันมีคนเข้ามาใช้ชีวิตที่โครงการต่างๆของเราวันละ1.2ล้านคน หรือเทียบเท่ากับปีละ 440ล้านคนต่อปีที่เข้ามาในโครงการและภายใน 5ปี คาดมีผู้ที่มาใช้สถานที่ของเรา 1.7ล้านคนต่อวัน หรือเทียบเท่า 620 ล้านคนต่อปี ”

ปตท.ชี้ปัจจัยท้าทายพลังงาน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ ราคาพลังงานมีราคาที่สูงมาก โดย ปตท.มองว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะอยู่ที่บวกลบ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนแนวโน้ม ปี2566 น่าจะดีขึ้น คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะรุนแรงน้อยกว่าปี 2565 แน่นอน สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) เช่นกัน เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลงหลักผลิตไฟฟ้า อีกทั้งฤดูหนาวการใช้งานของประเทศฝั่งยุโรปจะสูงขึ้น ดังนั้น ช่วงปีหน้าราคาก็น่าจะถูกลงกว่าปีนี้

นายอรรถพล กล่าวว่า ภาคพลังงานมีความท้าทายมาก ต้องคำนึงถึง 1. การบริหารงานจะต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานและตัวซัพพลายในการที่จะต้องบริหารอย่างไรให้พร้อมใช้งาน 2. พลังงานมีผลโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการกระทบด้านราคา เพราะเมื่อต้องการ พลังงานที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยจะต้องเลือกใช้พลังงานสะอาดแต่ราคาแพง ส่วนราคาน้ำมันเมื่อยิ่งมีราคาสูงก็จะยิ่งกระทบกับเศรษฐกิจ ถือเป็นความท้าทาย

สำหรับการดำเนินงาน ปตท.โฟกัส 3 เรื่องคือ 1.การบริหารต่อหน่วยต้องให้มีประสิทธิภาพ เช่น ค่าความร้อนตั้งต้น และระหว่างการขนส่งที่เกิดขึ้นถึง 60% 2.สิ่งแวดล้อม ต้องพัฒนาพลังงานให้เกิดผลกระทบน้อยสุด 3.การผลิตพลังงานจะไม่ให้ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นศูนย์คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จะต้องใช้เทคโนโลนยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) เข้ามาช่วย

เร่งแผน "เน็ตซีโร่"

สำหรับธุรกิจ ปตท. มองความท้าทายระดับองค์กรทั้งประเทศ โดยช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ อุตสาหกรรมบางตัวต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยพลังงานข้างหน้าเริ่มไม่แน่นอน จึงต้องใช้หลักการอย่าแทงหวยตัวเดียว โดยองค์กรต้องปรับตัวเองให้เห็นทั้งลูกค้าและคู่ค้า

ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์การเติบโตสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน กลุ่ม ปตท. จึงได้จัดพอร์ตลงทุนธุรกิจใหม่ใน 6 ด้านที่เป็นเทรนด์ใหม่ผ่านบริษัทในเครือปตท.และการตั้งบริษัทใหม่ได้แก่ 1.New Energy2.Life Science 3.Mobility & Lifestyle 4.High Value Business 5.Logistics & Infrastructureและ 6.AI & Robotics Digitalization

สำหรับเป้าหมาย Net Zero นั้น ทั้งกลุ่มปตท.ได้รวมทุกบริษัท ต้องประกาศเป้าหมาย และทำให้ได้ก่อนเป้าหมายประเทศในปี 2065 เพื่อหนุนเป้าหมายประเทศด้วย กำหนดเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 อาทิ เพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดเป็น 1.2 หมื่นเมะวัตต์ ปลูกป่าจาก 1 ล้านไร่เป็น 2 ล้านไร่ จากเดิม 1 ล้านไร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนได้ปีละ 2 ล้านตัน

เอสซีจี สร้างคนรับการเปลี่ยนแปลง

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติหลายเรื่องจากเรื่องสงครามการค้า โควิด-19 และเงินเฟ้อ หลายคงมองว่าเป็นเรื่องภาวะชั่วคราว แต่เมื่อมาเจอวิกฤติยูเครนกับรัสเซียที่กระทบไปทั่วโลก ส่งผลต่อราคาพลังงาน และราคาสินค้าตามมาถึงเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

สิ่งที่มองว่า จะเป็นวิกฤติต่อไป คือ เรื่องภาวะโลกร้อน และโลกรวนจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศและส่งผลกระทบมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิกฤติอื่น โดยไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤติอะไร ต้องทำเรื่องการเอาตัวรอดให้องค์กรอยู่ได้ และการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ส่วนสำคัญ คือ เรื่องของคนต้องมีความพร้อม

“ที่ผ่านมาเอสซีจี เจอมาทุกวิกฤติ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นปัจจุบันเราอาจไม่ได้เจอในเรื่องของ New normal อีกแล้ว แต่เป็น Never Normal องค์กรต้องทำทั้งในเรื่องของการเอาตัวรอดจากธุรกิจ และการหาโอกาสใหม่ๆ และต้องเตรียม คน ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

ลุย 3 ธุรกิจหลัก

สิ่งที่เอสซีจีจะไปใน 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจพลังงานทดแทนซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของโลกร้อน เป็นทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ (ไบโอแมส) ในเรื่องของ จากขยะไปสู่พลังงาน “Waste to Energy ที่จะเป็นโอกาสของเอสซีจี ในส่วนของปลายน้ำที่เกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย และสำนักงาน เอสซีจีมีการตั้งบริษัทที่ชื่อว่า บริษัท ซูซันน์ สมาร์ทโซลูชั่น จำกัด หรือ “SUSUNN” มีโปรแกรมที่ลงทุนและร่วมทุนกับบริษัท ต่างๆ เพื่อทำธุรกิจพลังงานร่วมกัน

2.ธุรกิจ Better Living Solution การทำให้บ้าน หรือที่ทำงานอยู่สบายมากขึ้นอยู่ได้สบายกว่าเดิม ทำระบบที่ช่วยการประหยัดพลังงาน และมลพิษที่มีอยู่ในอากาศ ทั้งระบบในบ้าน สำนักงานให้อยู่สบายมากขึ้น และประหยัดพลังงาน ซึ่งมีระบบที่เรียกว่า SCGHVAC AirScrubber ที่ช่วยในเรื่องมลพิษในอากาศทั้งในสำนักงาน สนามบิน ห้องประชุม รวมทั้งมีระบบที่ดูแลเรื่องความสะอาดและเชื้อโรคที่ใช้ทั้งบ้านและสำนักงาน

3.ธุรกิจ ออร์โตเมติกส์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเอสซีจีได้ปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเครื่องจักร (Mechanization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจในทุกขั้นตอนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ารวมถึงยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะและนำไปสู่อุตสาหกรรม4.0

“การลงทุนในระบบ Automation เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิด ESG”

“เอสซีบี เอกซ์”เดินหน้า3ธีมหลัก

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCB กล่าวว่า แผนระยะข้างหน้า จะเกาะไปกับ 3 ธีมหลัก คือ Income Inequality, Disruptive Technologies,และ Environmental Concerns ที่จะเป็นเทรนด์ใหญ่ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ และวางแผนที่จะสร้างธุรกิจจากขีดความสามารถของเทคโนโลยีไปหลากหลายสาขาตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ เอสซีบี เอกซ์ ในฐานะกลุ่มไฟแนนเชียลเทคโนโลยี

โดยธีมแรก Income Inequality มีหัวใจหลัก คือ Financial Inclusion คือสิ่งที่จะสร้างในอนาคต เช่น แบงก์ไม่มีสาขา Virtual Bankดิจิทัลแบงกิ้ง คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ ที่เอาความสามารถของเทคโนโลยีจาก AI มาทำให้ต้นทุนการเงินต่ำลงและทำให้คนด้อยโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

ธีมที่สอง Disruptive Technologies โดยการใช้เทคโนโลยี ทั้ง ดิจิทัลแอสเสท บล็อกเชน มาใช้เป็นบิซิเนสโมเดล โดยมีสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรก Evolution สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Capital Market & Banking Market รวมกันเป็น Financial Market ที่มีตัวกลาง แต่บล็อกเชน จะเข้ามาทดแทนตัวกลาง แทนระบบการของระบบการเงินทั้งหมดถัดมาคือ Global Climate Change ที่ตั้งใจทำให้ระบบการเงินเกิดความตระหนัก และ Take Action กับกระแสที่เกิดขึ้น

เอสซีบี เอกซ์ โฟกัส บน Evolution แต่ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อในดิสรัปชั่น หรือไม่เชื่อการมาของ Web 3.0 หรือการมาของ DeFi Metaverse เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นท้ายที่สุดจะเกิดขึ้น แต่ความเชื่อกับสิ่งที่เราจะทำขณะนี้นั้น คือสิ่งที่เราจะโฟกัสหลังจากนี้ไป”

ดันบริษัทย่อยเป็นยูนิคอร์น

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ได้วางกลยุทธ์ของเอสซีบี เอกซ์ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือ กลุ่มแบงก์ เวลธ์ ประกัน ที่ต้องเดินหน้าต่อไปเป็น Cash Cow ให้เดินไปต่อเนื่องกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับ Financial Inclusion คือการทำให้คอนซูเมอร์รีไฟแนนซ์และการทำ Virtual Bank เพื่อช่วยคนตัวเล็ก กลุ่มที่สาม จะเป็น Technology Company

โดยการวางยุทธ์ศาสตร์ของ เอสซีบี เอกซ์ แบ่งเป็น 3 ช่วง ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ เริ่มตั้งแต่ปีนี้ โดยเฟสแรก คือ ปีที่ 1-2 เป็นเรื่อง Foundation Building ซึ่งหากเอสซีบี เอกซ์ อยากเป็นเทคคอมพานี ต้องลงทุนเพื่อสร้าง Foundation เพื่อสร้างขีดความสามารถทั้ง AI ระบบ Cloud

 รวมถึงการจับมือกับพาร์เนอร์ระดับโลกทำ Build Center of Excellence ที่กำลังลงทุนเรื่อง Cloud, AI, Cyber Security รวมถึงอยู่ระหว่างการจัดตั้ง Innovation Lab ในต่างประเทศ เน้นทำเรื่อง Future Technology

 เฟสที่สอง ในช่วง 3-4 ปีถัดมา เป็นช่วงการสร้างการเติบโต Group Synergy จากสิ่งที่ลงทุน เพื่อช่วยผลักดันสร้างการเติบโตให้ทุกบริษัทได้ ให้สามารถ Create Growth รวมถึงการเดินต่อนอก Area จากประเทศไทย ไปสู่ภูมิภาค สู่ต่างประเทศได้และเฟสสุดท้าย จะเป็นช่วงที่พร้อมนำบริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(IPO) หรือธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์ม ที่จะเป็น Positive EBITDA ไปเป็นยูนิคอร์นในอนาคต