คาด iPhone 15 มาพร้อมพอร์ต USB-C ขานรับกฎระเบียบอียู
คาด iPhone 15 มาพร้อมพอร์ต USB-C ขานรับกฎระเบียบอียู หลังรัฐสภายุโรปลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีจะต้องผลิตอุปกรณ์ที่สามารถใช้สายชาร์จตามมาตรฐาน USB-C
ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องมีพอร์ต USB Type-C ตั้งแต่ปี 2567 ส่วนผู้ผลิตแล็ปท็อปจะต้องปฏิบัติตามกฎดังกล่าวในปี 2569
อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาใน 27 ชาติของอียู โดยคาดว่าจะมีการออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2566
คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เสนอข้อกำหนดดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยขยะอิเลกทรอนิกส์ และคาดว่าจะลดรายจ่ายสำหรับผู้บริโภคได้มากถึง 250 ล้านยูโรต่อปี เนื่องจากช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องเปลี่ยนสายชาร์จทุกครั้งที่ซื้ออุปกรณ์ใหม่
บริษัทแอ๊ปเปิ้ล อิงค์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจาก iPhone รุ่นใหม่ใช้สายชาร์จแบบ Lightning โดยแอปเปิลระบุว่า "ข้อกำหนดของอียูที่บังคับให้ใช้สายชาร์จเพียงประเภทเดียวจะลิดรอนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แทนที่จะเป็นการส่งเสริม และในที่สุดจะกลับส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในยุโรปและทั่วโลก"
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า iPhone 15 ที่จะมีการเปิดตัวในปีหน้า จะมีพอร์ตรองรับสายชาร์จ USB-C ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานตั้งแต่เดือนพ.ค.ว่า แอ๊ปเปิ้ลกำลังพัฒนา iPhone รุ่นใหม่ซึ่งจะมีพอร์ตดังกล่าว ส่วน Macbook และ iPad Pro รุ่นปัจจุบันก็ได้ปรับไปใช้สายชาร์จ Type C แล้ว
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก โดยเฉพาะสาวกของ iPhone ต่างขานรับมติของรัฐสภายุโรปในครั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทางโดยไม่ต้องพกพาสายชาร์จที่แตกต่างกัน ขณะที่แอ๊ปเปิ้ลเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเพียงรายเดียวในโลกที่ไม่มีพอร์ต USB-C
นอกจากอียูแล้ว อินเดียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ออกกฎบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีผลิตอุปกรณ์ที่รองรับสายชาร์จ USB-C เช่นกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 โดยอียูและอินเดียต่างก็เป็นตลาดใหญ่สำหรับแอ๊ปเปิ้ลซึ่งทำให้บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลบราซิลมีคำสั่งห้ามแอ๊ปเปิ้ลจำหน่าย iPhone หากไม่แถมหัวชาร์จมาพร้อมกับตัวเครื่อง โดยระบุว่า บริษัทได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าที่ไม่สมบูรณ์ให้แก่ผู้บริโภค
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมบราซิลสั่งปรับบริษัทแอ๊ปเปิ้ลเป็นเงิน 12.275 ล้านเรอัล (2.38 ล้านดอลลาร์) พร้อมกับสั่งให้แอ๊ปเปิ้ลยกเลิกการจำหน่าย iPhone 12 หรือ iPhone รุ่นที่ใหม่กว่า รวมทั้งห้ามการจำหน่าย iPhone ทุกรุ่นที่ไม่ได้มาพร้อมกับที่ชาร์จแบตเตอรี
คำสั่งของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า "การที่แอ๊ปเปิ้ลจำหน่าย iPhone ที่ขาดอุปกรณ์สำคัญถือเป็นพฤติกรรมที่จงใจในการเลือกปฏิบัติต่อผู้บริโภค"
นอกจากนี้ กระทรวงฯยังปฏิเสธข้ออ้างของแอ๊ปเปิ้ลที่ระบุว่า การที่บริษัทจำหน่าย iPhone ซึ่งไม่มีที่ชาร์จแบตเตอรีมาพร้อมกับตัวเครื่องก็เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกระทรวงฯยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การจำหน่าย iPhone ซึ่งไม่มีที่ชาร์จแบตเตอรีจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
ขณะที่ผลสำรวจของ MM Research Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของญี่ปุ่น พบว่า iPhone 14 Series มีราคาถูกกว่าในญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับอีก 36 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า iPhone 14 128 GB จำหน่ายในญี่ปุ่นในราคาเพียง 119,800 เยน (830 ดอลลาร์) โดยเป็นราคาต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 36 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐและอีกหลายประเทศในเอเชียและยุโรป
นอกจากนี้ iPhone 14 Plus, iPhone 14 Pro และ iPhone 14 Pro Max ก็มีราคาถูกกว่าในญี่ปุ่นเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่บริษัทแอ๊ปเปิ้ลใช้กลยุทธ์ตั้งราคา iPhone 14 ในระดับต่ำในญี่ปุ่น เนื่องจาก iPhone ครองสัดส่วนตลาดสมาร์ทโฟนในญี่ปุ่นสูงถึง 50%
ผลสำรวจยังพบว่า ตุรกีเป็นประเทศที่จำหน่าย iPhone 14 ในราคาแพงที่สุดในโลก โดยสูงถึง 238,454 เยน