เวียดนามฝันนั่ง‘ฮับ’อุตฯเทคโนโลยีหลังซีโร่โควิดทำ'จีน'หมดเสน่ห์
เวียดนามฝันนั่ง‘ฮับ’อุตฯเทคโนโลยีหลังซีโร่โควิดทำ'จีน'หมดเสน่ห์ ขณะที่บริษัทต่างชาติจำนวนมากพยายามเอาตัวรอดจากสงครามการค้า จากปัญหาต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานในช่วงที่จีนใช้นโยบายซีโร่-โควิด
เวียดนามเตรียมชิงฐานะศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีแทนที่จีนที่กำลังเจอปัญหาบริษัทต่างชาติจำนวนมากพากันถอนฐานการผลิตออกจากจีน เพราะผลกระทบจากการใช้มาตรการกำจัดการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นศูนย์เปอร์เซนต์ของรัฐบาลปักกิ่ง โดยล่าสุด บริษัทแอ๊ปเปิ้ล กูเกิล และซัมซุงอยู่ในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่มการผลิตในเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุด
การล็อกดาวน์ในหลายเมืองของจีน รวมถึงเมืองศูนย์กลางการผลิตอย่างเสิ่นเจิ้นและเทียนจิน ทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรม ประชาชนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคภัณฑ์ อาหาร หรือท่องเที่ยวได้น้อยลง ทำให้ภาคบริการสำคัญตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ในด้านการผลิต ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า กิจกรรมในโรงงานดูเหมือนฟื้นคืนมาในเดือน ก.ย. อาจเป็นเพราะรัฐบาลใช้จ่ายกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น แต่เกิดขึ้นสองเดือนหลังจากการผลิตไม่ขยายตัว ทำให้เกิดคำถามโดยเฉพาะนับตั้งแต่ผลสำรวจโดยเอกชนชี้ว่า ภาคการผลิตของโรงงานลดลงในเดือน ก.ย.ความต้องการในตลาดน้อย กระทบต่อผลผลิตคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน
ส่วนความต้องการในประเทศอย่างสหรัฐลดลงเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูง เงินเฟ้อ และสงครามในยูเครน
“บริษัทต่างชาติจำนวนมากเหล่านี้ พยายามเอาตัวรอดจากสงครามการค้า จากปัญหาต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีน และก็ต้องเอาตัวรอดจากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานในช่วงที่จีนใช้นโยบายซีโร-โควิด ซึ่งผมคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย และเวียดนามไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่บริษัทต่างชาติมองว่าเหมาะสมที่จะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนเมื่อออกจากจีนเพียงประเทศเดียว แต่การเข้าไปลงทุนในเวียดนาม อาจประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วย ”เกร็ก โพลิง ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากศูนย์ศึกษาและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ(ซีเอสไอเอส) กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ข่าวอัลจาซีราห์
แอ๊ปเปิ้ล กูเกิล และซัมซุง เป็นบริษัทต่างชาติรายแรกๆที่ขยายการลงทุนเข้ามาในเวียดนาม ส่วนฟ็อกซ์คอนน์ และ ลักซ์แชร์ พรีซิชัน อินดัสตรี เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดสองแห่งของแอ๊ปเปิ้ล ที่ปัจจุบันกำลังหารือเพื่อผลิตแอ๊ปเปิ้ล วอทช์ และแมคบุ๊กในเวียดนามเป็นครั้งแรก
เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจในเวียดนาม ที่ผ่านมา ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในไต้หวัน ประกาศแผนลงทุนมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ในโรงงานแห่งใหม่ที่มีเนื้อที่ 50.5 เฮกตาร์ หรือ 315.625 ไร่ในจังหวัดบักเกียง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางตอนเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร
นอกจากนี้ รายงานวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน ที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ยังคาดการณ์ว่าการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆของแอ๊ปเปิ้ลในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะการผลิตแอร์พ็อดส์ หูฟังไร้สายที่เป็นซิกเนเจอร์ของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 65% โดยแอ๊ปเปิ้ลวางแผนที่จะผลิตอุปกรณ์นี้ที่โรงงานดังกล่าวภายในปี 2568
ส่วนกูเกิลเตรียมเริ่มผลิตสมาร์ทโฟนพิกเซลในเวียดนามตั้งแต่ปี 2566 ขณะที่ซัมซุงวางแผนเริ่มผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในฤดูร้อนปีหน้าที่โรงงานแห่งใหม่
“ตอนนี้การผลิตในจีนเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนสูงเกินไป และปัญหาคือการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของทางการจีนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้และเกิดขึ้นบ่อยเกินไป ทำให้โรงงานผลิตหลายแห่งตัดสินใจย้ายไปผลิตที่เวียดนามแทน”อัลเบิร์ต ถั่น รองศาสตราจารย์จากสถาบันบริหารจัดการเอเชียในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว
ถั่น กล่าวด้วยว่า หากดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม เวียดนามจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นขุมพลังด้านการผลิตแห่งใหม่ของเอเชียได้เลย แต่ปัญหาคือเวียดนามจะสามารถดึงบริษัทต่างชาติที่ตั้งฐานการผลิตในจีนมาไว้ในประเทศตัวเองได้ทั้งหมดหรือไม่
เวียดนามเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลกก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเทคโนโลยีหลังจากประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นรูปแบบเสรี ในช่วงปลายปี2523
หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อปีที่แล้ว เวียดนามก็เลิกใช้นโยบายซีโร-โควิดอย่างสิ้นเชิงและใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้อย่างเป็นทางการหลังจากรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 7.2% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีที่แล้ว เทียบกับจีน ที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่ามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.8%
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากการส่งออก โดยช่วง6เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกของเวียดนามมีมูลค่า 186,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะที่นโยบายกำจัดโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีนบั่นทอนความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนอย่างมาก และทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในเวียดนามแทน
“ตั้งแต่สหรัฐและจีนประกาศสงครามการค้าระหว่างกัน เวียดนามก็รองรับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (เอฟดีเอ)มากขึึ้น ประกอบกับต้นทุนแรงงานในจีนเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ”เดวิด ดาพิซ นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญนโยบายกระตุ้นการค้า-การลงทุนของเวียดนาม กล่าว