ไฮสปีดเชื่อมไทย - ลาว - จีน โอกาสอาเซียนบูมฮับท่องเที่ยว
คมนาคมเร่งไฮสปีดเทรนเชื่อมไทย - ลาว - จีน จ่อชง ครม.อนุมัติแผนก่อสร้างระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคายภายในปีนี้ พร้อมยกเป็นโครงข่ายหนุนฮับการท่องเที่ยวอาเซียน ลั่นภายในปี 2572 เตรียมเปิดให้บริการ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว วันนี้มีนโยบายชัดเจนกับการผลักดันประเทศจาก Land Lock กลายเป็น Land Link ประเทศเดียวที่เชื่อมโยง 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง ไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนามผ่านโครงข่ายคมนาคมสำคัญอย่างระบบราง หรือรถไฟภายใต้ความร่วมมือลาว – จีน ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว และโครงข่ายคมนาคมด้านอื่นๆ ที่กำลังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้กางแผนสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคขนส่งในภูมิภาคอาเซียน และการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยหยิบยกโครงการสำคัญที่จะเชื่อมต่อกับ Land Link สปป.ลาว ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพฯ - หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ ที่สามารถเชื่อมต่อจากสถานีหนองคายมายังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งโครงการเหล่านี้มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการภายในปี 2572
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยถึงเรื่องนี้ว่า วันนี้ฝ่ายลาวมีเป้าหมายผลักดันประเทศในการเป็น Land Link เชื่อมจีนและอาเซียน ซึ่งไทยได้เล็งเห็นในศักยภาพดังกล่าว พร้อมสนับสนุนและยังได้เสนอถึงการเพิ่มโอกาสเชื่อมต่ออาเซียนไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ จากการใช้เส้นทางรถไฟไทย - ลาว - จีน และเชื่อมต่อมาเลเซียด้วยระบบรถไฟทางคู่ รวมไปถึงเชื่อมต่อสิงคโปร์ด้วยท่าเรือในโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ดังนั้นฝ่ายไทยจึงได้เสนอให้มีการบูรณาการตั้งคณะทำงาน 5 ประเทศ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อบูรณาการระบบรางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รองรับระบบรถไฟระหว่างประเทศ
สำหรับความคืบหน้าโครงการไฮสปีดเทรน ภายใต้ความร่วมมือไทย - จีน ปัจจุบันการพัฒนาระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา คืบหน้าราว 90% คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569 ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ขณะนี้ออกแบบโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ โดยภาพรวมโครงการไฮสปีดนี้จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2572 เช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติภายในปีนี้
พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ฉายภาพถึงแผนเชื่อมโยงระบบรางระหว่างไทย - ลาว - จีน โดยระบุว่า ปัจจุบันระบบรางระหว่างไทยและลาวสามารถเชื่อมต่อกันในด้านของการขนส่งสินค้าอยู่แล้ว โดยสามารถขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ผ่านรางขนาดความกว้าง 1 เมตร หรือ Meter Gauge (มีเตอร์เกจ) โดยมีสถานีปลายทางอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว
แต่ปัจจุบันฝ่ายไทยและลาวกำลังมีการเจรจาเพื่อความร่วมมือในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารบนมาตรฐานรางขนาด 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge (สแตนดาร์ดเกจ) ซึ่งเป็นขนาดรางมาตรฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุด รวมทั้งยังเป็นขนาดรางมาตรฐานของรถไฟลาว - จีน และไฮสปีดไทย – จีนที่ไทยอยู่ระหว่างพัฒนาด้วย จึงเป็นอีกนิมิตหมายของการเชื่อมโยงภาคขนส่งและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวจากการเดินรถไฟขนส่งผู้โดยสารที่กำลังจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของการเชื่อมต่อรถไฟระหว่างไทย - ลาว - จีน คือการพัฒนาสะพานเชื่อมไทย – ลาวแห่งใหม่ เนื่องจากสะพานแห่งนี้จะประกอบด้วยรางรถไฟขนาด 1.435 เมตร จำนวน 2 ราง รองรับไฮสปีดเทรนจากไทย และรางขนาด 1 เมตร จำนวน 2 ราง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟทางคู่ ซึ่งปัจจุบันโครงการก่อสร้างสะพาน ฝ่ายไทยโดยกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างเตรียมศึกษาและออกแบบ คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปี 2567 แล้วเสร็จกลางปี 2568
“สะพานแห่งใหม่นี้จะอยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ประมาณ 30 เมตร เป็นสะพานที่มีความสำคัญในการทำให้ระบบรางของไทยและลาวสามารถเชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์ โครงการไฮสปีดเทรนจะเชื่อมโยง 3 ประเทศ จากสถานีหนองคายฝั่งไทย เชื่อมผ่านไปทางสถานีขนส่งสินค้าท่านาแล้ง สถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้ และเชื่อมต่อกับรถไฟลาว – จีน ขนส่งผู้โดยสารที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ และไปสิ้นสุดที่สถานีคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน”
พิเชฐ เผยด้วยว่า ในปี 2572 เมื่อไฮสปีดเทรนของไทยแล้วเสร็จ จะเห็นภาพชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน สร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว เพราะความสะดวกสบายจากการขนส่งผู้โดยสารด้วยระบบรางเชื่อมต่อระหว่างประเทศนั้น จะทำให้เกิดการเดินทางเพิ่มขึ้น ผู้โดยสารที่ใช้บริการไฮสปีดเทรนจากไทย อาจจะสามารถนั่งเชื่อมต่อไปลาวและจีนได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทย - ลาว - จีน เพื่อให้ขบวนรถไฟของแต่ละประเทศสามารถให้บริการระหว่างประเทศได้
ทั้งนี้ การเจรจาทวิภาคีระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีการหยิบยกมาหารือในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า เมื่อการพัฒนาไฮสปีดเทรนของไทยแล้วเสร็จ เพื่อทำให้รถไฟของแต่ละประเทศสนับสนุนซึ่งกันและกัน ขณะที่เรื่องขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง ปัจจุบันก็พบว่ามีโมเดลที่เห็นอย่างกลุ่ม Schengen (เชงเก้น) ผู้โดยสารที่มีวีซ่าเชงเก้นสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้ในกลุ่มประเทศเชงเก้น หรืออาจจะมีการตรวจวีซ่าผู้โดยสารบนขบวนรถก็สามารถทำได้