ชำแหละ "รถไฟฟ้า" กทม. - ปริมณฑล สายไหน อยู่ในมือใครบ้าง?
เคยสงสัยกันไหมว่า รถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดินที่ชาวกรุงใช้เดินทางในชีวิตประจำวัน มีใครเป็นเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการบ้าง และแต่ละสายมีจุดเด่นแตกต่างกันอย่างไร
ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ใช้บริการ “รถไฟฟ้า” เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบนดิน และเนื่องด้วยรถไฟฟ้าหลายสายเป็นส่วนต่อขยาย ในบางครั้งเราอาจไม่รู้เลยก็ได้ว่าสถานีต่อไปอาจจะเป็นสถานีที่เป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้าสายใหม่หรือส่วนต่อขยายแล้ว นอกจากนี้รถไฟฟ้าหลายสายก็มี “เจ้าของ” และ “ผู้ให้บริการ” ต่างบริษัทกัน
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนไปเจาะรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกันทีละสายเลยว่า สรุปแล้วอยู่ในมือใครบ้าง
สำหรับการบริหารงานในการให้บริการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเป็นผู้ให้บริการการเดินรถด้วยตนเอง และ ผู้ที่เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าว่าจ้างให้บริษัทอื่นดำเนินการให้บริการแทน
นอกจากนี้สำหรับลักษณะของรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีแบบบนดิน (ลอยฟ้า) และใต้ดิน ซึ่งในบางสายก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ หรือวิ่งจากใต้ดินขึ้นมาบนดินเพื่อเปลี่ยนสาย
- รถไฟฟ้าที่บริษัทเจ้าของและผู้ให้บริการแยกออกจากกัน
1. MRT สายสีน้ำเงิน บางซื่อ - หัวลำโพง
สำหรับ MRT สายสีน้ำเงิน เปิดให้บริการเมื่อปี ปี 2547 และเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย มี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของ และมอบสัมปทานการเดินรถให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ดูแล มีระยะทางตลอดสายประมาณ 21 กิโลเมตร สำหรับจำนวนสถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 18 สถานี และยกระดับอีก 1 สถานี มีสถานีดังนี้
1) หัวลำโพง 2) สามย่าน 3) สีลม 4) ลุมพินี 5) คลองเตย 6) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 7) สุขุมวิท 8) เพชรบุรี 9) พระราม 9 10) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 11) ห้วยขวาง 12) สุทธิสาร 13) รัชดาภิเษก 14) ลาดพร้าว 15) พหลโยธิน 16) สวนจตุจักร 17) กำแพงเพชร 18) บางซื่อ
2. MRT สายสีม่วง เตาปูน - คลองบางไผ่
MRT สายสีม่วง เตาปูน - คลองบางไผ่ เป็นส่วนต่อขยายจาก MRT สีน้ำเงิน ซึ่งรถไฟฟ้าจะเปลี่ยนจากวิ่งใต้ดินขึ้นมาวิ่งบนดินที่สถานี บางซื่อ ไปยังสถานีสถานีเตาปูน เปิดให้บริการ เมื่อปี 2559 โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของ และมอบสัมปทานการเดินรถให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เช่นเดียวกับสายสีน้ำเงิน มีระยะทางรวม 23 กิโลเมตร
มีจำนวน 16 สถานี ได้แก่
1) เตาปูน 2) บางซ่อน 3) วงศ์สว่าง 4) แยกติวานนท์ 5) กระทรวงสาธารณสุข 6) ศูนย์ราชการนนทบุรี 7)บางกระสอ 8) แยกนนทบุรี 1 9) สะพานพระนั่งเกล้า 10) ไทรม้า 11) บางรักน้อยท่าอิฐ 12) บางรักใหญ่ 13) บางพลู 14) สามแยกบางใหญ่ 15) ตลาดบางใหญ่ 16) คลองบางไผ่
สำหรับรถไฟฟ้า MRT ทั้งสองสายนั้นใช้ตั๋วใบเดียวกัน รวมถึงสามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้
3. BTS สายสีเขียว หมอชิต-สำโรง (สายสุขุมวิท)
BTS สายสีเขียว หมอชิต-สำโรง (สายสุขุมวิท) เปิดให้บริการตั้งแต่ ธันวาคม 2542 โดยมี กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของ และมอบสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ภายใต้กลุ่มบีทีเอส เป็นผู้ดูแลระบบให้บริการการเดินรถทั้งหมด มีระยะทางรวมประมาณ 23.7 กิโลเมตร สถานีเป็นแบบยกระดับหรือแบบลอยฟ้าทั้งหมด 23 สถานี) ได้แก่
1) หมอชิต 2) สะพานควาย 3) อารีย์ 4) สนามเป้า 5) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 6) พญาไท 7) ราชเทวี 8) สยาม 9) ชิดลม 10) เพลินจิต 11) นานา 12) อโศก 13) พร้อมพงษ์ 14) ทองหล่อ 15) เอกมัย 16) พระโขนง 17) อ่อนนุช 18) บางจาก 19) ปุณณวิถี 20) อุดมสุข 21) บางนา 22) แบริ่ง 23) สำโรง
4. BTS สายสีเขียวเข้ม สนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า (สายสีลม)
BTS สายสีเขียวเข้ม สนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า (สายสีลม) เปิดให้บริการช่วง ธันวาคม 2542 โดยมีเจ้าของโครงการเป็น กรุงเทพมหานคร และมอบสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ดูแลระบบการเดินรถทั้งหมด มีระยะทางระยะทางรวมประมาณ 14.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับสายสีเขียวที่สถานีสยาม ปัจจุบันมี 13 สถานี ได้แก่
1) สนามกีฬาแห่งชาติ เป็นสถานีต้นทาง 2) สยาม 3) ราชดำริ 4) ศาลาแดง 5) ช่องนนทรี 6) สุรศักดิ์ 7.สถานีสะพานตากสิน 8) กรุงธนบุรี 9) วงเวียนใหญ่ 10) โพธิ์นิมิตร 11) ตลาดพลู 12) วุฒากาศ และ 13) บางหว้า
5. BTS สายสีเขียวเข้ม หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต
BTS สายสีเขียวเข้ม หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า “ส่วนต่อขยาย” เริ่มเปิดให้บริการ ปี 2563 โดยในช่วงแรกเป็นการทดลองเดินรถและยังไม่คิดค่าโดยสาร มี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้บริการเดินรถ มีระยะทางรวม 19 กิโลเมตร เป็นรูปแบบยกระดับทั้งหมด เชื่อมต่อกับ BTS สายสีเขียวที่สถานีหมอชิต มี 16 สถานี ได้แก่
1) ห้าแยกลาดพร้าว 2) พหลโยธิน 24 3) สถานีรัชโยธิน 4) เสนานิคม 5) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6) กรมป่าไม้ 7) บางบัว 8) กรมทหารราบที่ 11 9) วัดพระศรีมหาธาตุ 10) อนุสาวรีย์หลักสี่ 11) สายหยุด 12) สะพานใหม่ 13) โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 14) พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ 15) กม.25 16) สถานีคูคต
6. BTS สายสีทอง กรุงธนบุรี - คลองสาน
BTS สายสีทอง กรุงธนบุรี - คลองสาน เริ่มทดลองเดินรถในปี 2563 และเปิดให้บริการจริงในปี 2564 มีกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของและ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้บริการเดินรถ มีระยะทางรวม 1.80 กิโลเมตร มีทั้งหมด 4 สถานี แต่ยังเปิดให้บริการเพียง 3 สถานี เท่านั้น ได้แก่
1) กรุงธนบุรี 2) เจริญนคร (ไอคอนสยาม) 3) คลองสาน 4) ประชาธิปก (ยังไม่เปิดให้บริการ)
7. AERA1 แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท - สุวรรณภูมิ
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท - สุวรรณภูมิ เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2553 เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย และมี บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นผู้ให้บริการการเดินรถ โดยสัญญาสัมปทานโครงการจะหมดในปี 2612 เป็นรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบิน
เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (heavy rail transit) ทางวิ่งยกระดับที่ความสูง 20 เมตร ตลอดทั้งโครงการ ยกเว้นช่วงเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าจะลดลงเป็นระดับดินหลังข้ามถนนสุวรรณภูมิ 2 แล้วลดระดับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ความลึก 12 เมตรจากผิวดิน ระยะทางรวมประมาณ 28 กิโลเมตร มีทั้งหมด 8 สถานี ได้แก่
1) พญาไท 2) ราชปรารภ 3) มักกะสัน 4) รามคำแหง 5) หัวหมาก 6) บ้านทับช้าง 7) ลาดกระบัง 8) สุวรรณภูมิ
ภาพแผนผังรถไฟฟ้าทั้งหมด จาก Think of living
- รถไฟฟ้าที่บริษัทเจ้าของและผู้ให้บริการเป็นบริษัทเดียวกัน
1. SRTET สายสีแดงเข้ม (รถไฟฟ้าสายชานเมือง) สถานีกลางบางซื่อ - รังสิต
รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (รถไฟฟ้าสายชานเมือง) สถานีกลางบางซื่อ - รังสิต เปิดให้บริการเมื่อปี 2564 เป็นของการรถไฟไทย ดำเนินการเดินรถโดย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในรูปแบบการจ้างเดินรถชั่วคราวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างทางวิ่งทั้งระดับดิน (At grade level) ยกระดับ และใต้ดิน ผสมกันตลอดเส้นทาง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าสายธานีรัถยา
ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 สถานี ได้แก่
1) สถานีกลางบางซื่อ 2) จตุจักร 3) วัดเสมียนนารี 4) บางเขน 5) ทุ่งสองห้อง 6) หลักสี่ 7) การเคหะ 8) ดอนเมือง 9) หลักหก มหาวิทยาลัยรังสิต 10) รังสิต
2. SRTET สายสีแดงอ่อน (รถไฟฟ้าชานเมือง) นครปฐม – บางซื่อ – ฉะเชิงเทรา
รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (รถไฟฟ้าชานเมือง) นครปฐม – บางซื่อ – ฉะเชิงเทรา เปิดให้บริการในปี 2564 เป็นของการรถไฟไทย ดำเนินการเดินรถโดย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในรูปแบบการจ้างเดินรถชั่วคราวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างทางวิ่งทั้งระดับดิน (At grade level) เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม เรียกอีกชื่อว่าสายนครวิถี ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 สถานี และ 1 สถานีร่วม ได้แก่
1) สถานีกลางบางซื่อ (สถานีร่วมกับสายสีแดงเข้ม) 2) บางซ่อน 3) บางบำหรุ 4) ตลิ่งชัน
นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้า ที่ยังไม่มีสัมปทานเดินรถแม้โครงการจะเริ่มก่อสร้างไปแล้วบางส่วน เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - แยกร่มเกล้า ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการประมูลของ BTS และ BEM โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570
อ้างอิงข้อมูล : CAMPUS star, BTS, MRTA และ Think of living