3 หน่วยงาน จับตา ‘เศรษฐกิจโลก'ถดถอย 'สศช.' แนะรัฐ – เอกชน – ประชาชนเตรียมรับมือ
สศช.ชี้ 3 หน่วยงานเศรษฐกิจ จับตาเศรษฐกิจโลกถดถอยใกล้ชิดระบุยังประเมินยากว่าจะรุนแรงมากแค่ไหน เตือน เอกชน - ประชาชน ตั้งรับเพิ่มสภาพคล่อง การออม สุพัฒนพงษ์ เผย เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยมั่นใจจีดีพีปีนี้โตได้ 3 % จับตาราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงอีก
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแล้วส่วนจะเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอยหรือไม่นั้นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยในเรื่องนี้หน่วยงานเศรษฐกิจทั้ง 3 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงการคลัง สศช. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องว่าหากเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยจะเกิดที่เกิดในประเทศ และภูมิภาคใดจึงจะสามารถดูว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด และกระทบในภาคส่วนใด
“ในเรื่องเศรษฐกิจถดถอยถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลเหมือนกันเพราะเศรษฐกิจของเราพึ่งจะฟื้นตัวได้ดีจากช่วงก่อนที่มีการแพร่ระบาดของโควิิด-19 แต่ปีนหน้าหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเราต้องได้ผลกระทบค่อนข้างแน่แต่ก็ต้องดูว่าการถดถอยของเศรษฐกิจนั้นเป็นวงกว้างหรือไม่”
สำหรับการเตรียมรับมือเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนในระดับครัวเรือน โดยในส่วนของภาครัฐเรายังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจเข้มแข็งมาก มีทุนสำรองระหวา่งประเทศสูง แต่ภาครัฐต้องทำงานเพิ่มในการเร่งหาตลาดส่งออกใหม่เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่เป็นประเทศส่งออกหลักของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ในเรื่องของการดึงดูดคนต่างชาติมีรายได้และทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามมาตรการวีซ่า LTR ซึ่งเตรียมที่จะมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในเรื่องนี้
“ที่ผ่านมาการเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2552 ช่วงนั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤตหลายลักษณะได้แก่ มาตรการการอัดฉีดเงินช่วยเหลือแบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่ มีการออกมาตรการเช็กช่วยชาติ ตามมาด้วยการออกมาตรการลงทุนภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนีก็ต้องดูว่าสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะมีความรุนแรงและเป็นไปในวงกว้างขนาดไหน ถึงจะรู้ว่าควรจะออกมาตรการอย่างไร”นายดนุชา กล่าว
ส่วนภาคเอกชนก็ต้องเตรียมการรับมือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจถดถอยก็คือในเรื่องของการบริหารเงินสด และสภาพคล่องในการทำธุรกิจ (cash on hand) ให้ดี ส่วนการลงทุนนั้นสามารถที่จะทำได้ไม่ได้หมายความว่าต้องไม่ลงทุนแต่ต้องดูในเรื่องของโอกาส (Opportunity)ที่จะเกิดกับการลงทุนให้เหมาะสม
ส่วนเรื่องของภาคครัวเรือนก็จำเป็นที่ต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะการซื้อสินค้าฟุ้มเฟือยที่ไม่จำเป็น ต้องประหยัดมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องดูความจำเป็นของแต่ละคนและแต่ละครอบครัวด้วย เช่น กรณีการวางแผนที่จะสร้างบ้านหรือซื้อบ้านก็ต้องตัดสินใจบนเหตุผลความจำเป็นโดยหากดูจากเหตุผลของเรื่องดอกเบี้ยก็ไม่เชิงว่าดอกเบี้ยในประเทศไทยจะเป็นทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจน
นายดนุชากล่าวว่าประเด็นการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้นอกจากในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยยังมีเรื่องของสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (OPEC) ปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวันทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ราคาปรับตัวลดลงแม้จะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น