รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอยปีหน้า | บัณฑิต นิจถาวร
ความเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ทั้งในตลาดการเงินและภาคธุรกิจ คือ เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและคงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า เห็นได้จากเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ขณะนี้กําลังชะลอตัวลงพร้อมกัน
ที่ไม่ชัดเจนคือ ภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหนในปีหน้าและจะรุนแรงมากหรือไม่ เป็นคําถามที่ตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายที่แต่ละประเทศจะใช้ในการตั้งรับภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงโอกาสที่จะมีการประสานนโยบายในระดับโลกเพื่อแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
อาทิตย์นี้เป็นการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งกรรมการผู้อํานวยการไอเอ็มเอฟได้ให้ข่าวเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีหน้าลงอีก ซึ่งไม่มีใครแปลกใจ
เพราะความเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ขณะนี้คือ เศรษฐกิจโลกคงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า เป็นความเสี่ยงที่มีมากขึ้นที่ไม่มีใครปฏิเสธ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกขณะนี้เป็นผลจาก 3 ปัจจัย
1.ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทําให้ราคาพลังงานและราคาอาหารปรับสูงขึ้น กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ
2.อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกที่กระทบการผลิต การใช้จ่าย และความเป็นอยู่ของประชาชน
3.อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อแก้เงินเฟ้อที่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระทบราคาสินทรัพย์ ผลตอบแทนจากการลงทุน และอัตราแลกเปลี่ยนของทุกประเทศทั่วโลก
การชะลอตัวเกิดทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่ จากที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ได้ดึงให้เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวลงตามไปด้วย
เพราะผลที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักมีต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่น การส่งออกและการท่องเที่ยว และต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ที่ทำให้สภาพคล่องในประเทศตลาดเกิดใหม่ตึงตัวจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ
มองไปข้างหน้า การชะลอตัวคงจะยังมีอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะทั้งสามปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอขณะนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนคลาย
สะท้อนจากเครื่องชี้นําเศรษฐกิจล่วงหน้า เช่น อัตราดอกเบี้ยระยะยาว ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าความผันผวนในตลาดการเงิน และดัชนีความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ ที่ชี้ว่าความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจยังมีมากและความไม่แน่นอนก็มีมากเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ทําให้ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวกับภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า เห็นได้จากความเห็นของซีอีโอบริษัทชั้นนํา 1,300 บริษัททั่วโลกที่สำรวจโดยบริษัท KPMG ล่าสุดที่ให้ข้อมูลว่า ร้อยละ 86 ของซีอีโอเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในปีหน้า และร้อยละ 76 ได้เริ่มปรับตัวและเตรียมมาตรการที่จะรองรับภาวะถดถอยที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ร้อยละ 58 ทํานายว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจะสั้นและไม่รุนแรง
นี่คือข้อมูลที่ชี้ชัดเจนว่า ภาคธุรกิจทั่วโลกได้เริ่มปรับตัว เป็นตัวอย่างของการบริหารความเสี่ยงในภาวะที่ไม่แน่นอนมีมาก สำหรับเรื่องความรุนแรงและความยืดเยื้อของภาวะถดถอยว่าจมากและนานแค่ไหน
ในความเห็นของผมเป็นเรื่องที่ตอบยากเพราะในแต่ละประเทศสถานการณ์จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของนโยบายเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศจะใช้ในการตั้งรับกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
รวมถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศหลักจะมีการประสานนโยบายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เพราะภาวะถดถอยเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งประเด็นความร่วมมือนี้ผมคิดว่าคงเกิดขึ้นยากในภาวะปัจจุบันที่ประเทศหลักแตกแยกกันค่อนข้างมากทั้งจากเรื่องสงครามและภูมิศาสตร์การเมือง
ความหวังจึงอยู่ที่ประเด็นแรกคือ คุณภาพของการทํานโยบายเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่จะใช้แก้ปัญหา ซึ่งในเรื่องนี้บทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตช่วยชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องทำในการแก้ปัญหา ความท้าทายจึงอยู่ที่การนําบทเรียนดังกล่าวมาใช้อย่างมีวินัยเพื่อให้ประเทศมีแนวทางหรือนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา
สำหรับเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะ 1) ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยถ้าลากยาวจะทําให้ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น 2) ถ้าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศผิดพลาด ความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นก็อาจนำไปสู่การเกิดขึ้นวิกฤตเศรษฐกิจการเงินได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก
ปัจจุบันแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในรูปของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อที่สูง ค่าเงินของประเทศที่อ่อนค่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น และทุนสํารองทางการที่ลดลงจากการแทรกแซงค่าเงิน มีให้เห็นชัดเจนในหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศเรา
ชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจและความจำเป็นที่นโยบายควรต้องปรับเปลี่ยน เพื่อลดความไม่สมดุลดังกล่าว เช่น อัตราดอกเบี้ยของประเทศตํ่าเกินไปและหรือการใช้จ่ายของภาครัฐเร่งตัวมากเกินไปในภาวะที่นํ้าหนักของนโยบายควรมุ่งไปที่การรักษาเสถียรภาพเป็นต้น
ท้ายสุดสําหรับภาคธุรกิจ การปรับตัวเพื่อตั้งรับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยก็เป็นเรื่องที่ควรต้องคิดและเตรียมตัว เพราะผลกระทบที่จะมีต่อการเติบโตและกําไรของบริษัท.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]