"มหาพายุ" ลูกใหม่ ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นบริษัทกลุ่ม “บิ๊กเทค” ประกาศแผนรับมือกับเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงในระยะข้างหน้า ผ่านการงดรับพนักงานใหม่ และ/หรือ ลดจำนวนพนักงานลง
ถ้าลองถาม “ซีอีโอ” ระดับโลกแล้ว เชื่อว่าคงไม่มีใครปฏิเสธความกังวลที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งเราเห็นหลายบริษัทเริ่มเตรียมความพร้อมกันบ้างแล้ว เพื่อรับมือกับ “มหาพายุ” หรือ Perfect storm ลูกใหม่ที่กำลังมาเยือนอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะเห็นว่าหลายบริษัทที่เริ่มเตรียมการแล้ว ล้วนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุน หยุดการจ้างงานใหม่ บางรายถึงขนาดปรับลดพนักงานลง เพื่อทำให้ตัวเบาที่สุด
ก่อนหน้านี้ “บิ๊กเทค” ต่างๆ ที่เคยได้ประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด ที่มีส่วนผลักดันให้ผลดำเนินงานรวมถึงราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้เติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น Netflix Meta Google amazon ต่างเร่งขยายลงทุนรับโอกาสการเติบโตดังกล่าว แต่สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นบริษัทกลุ่มนี้ประกาศแผนรับมือกับเศรษฐกิจที่ส่อเค้าชะลอตัวรุนแรงในระยะข้างหน้า ผ่านการงดรับพนักงานใหม่ ขณะที่บางบริษัทต้องยอมปิดบางแผนกงานเพื่อหั่นจำนวนพนักงานลง
จริงๆ แล้วไม่ได้มีเฉพาะ “เทคคอมพานี” เท่านั้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับ Recession รอบใหม่ที่กำลังมาเยือน เพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินหรือที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจจริง ก็เริ่มเตรียมการดังกล่าวกันบ้างแล้ว เช่น ไม่กี่วันที่ผ่านมา เราเห็น Walmart บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐ แจ้งถึงแผนการปรับลดพนักงาน แม้ Walmart จะให้เหตุผลเรื่องการปรับปรุงคลังสินค้าให้ทันสมัย จึงหันมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแทนแรงงานคน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถูกตีความว่า
Walmart กำลังเตรียมพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะตัวบริษัทเองก็เพิ่งจะออกมาหั่นคาดการณ์กำไรในปีนี้ลง จากพิษเงินเฟ้อในสหรัฐที่สูงและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นร้อนแรง
ในฝั่งของสถาบันการเงินสหรัฐ ชัดเจนว่ากังวลปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าใคร โดย เจมมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ JP Morgan Chase ผู้ที่ออกมาเตือนถึงปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นคนแรกๆ ล่าสุดได้ออกมาย้ำเตือนถึงมุมมองดังกล่าว โดยระบุอย่างชัดเจนว่า ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันจะยังดูดีอยู่ก็ตาม
กลับมามองที่เศรษฐกิจไทย แม้ว่าเศรษฐกิจบ้านเราจะทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นหลังภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แต่เราต้องไม่ลืมว่าหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด คือ ภาคการส่งออก เพราะถ้าเศรษฐกิจโลกถดถอย การส่งออกไทยก็คงโดนผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้นในยามนี้จึงต้องหันมาสำรวจตัวเองดีๆ ว่า เราพร้อมแค่ไหนในการรับมือ เพราะหากโลกกำลังจะกลับไปป่วย ขณะที่ไทยยังไม่ทันฟื้นไข้ดี ในกรณีนี้หากเรายังเตรียมตัวเองไม่พร้อม ก็คงถูกหามกลับห้องไอซียูอีกรอบเป็นแน่