รัฐอัดงบ 2.3 หมื่นล้านเยียวยา ‘น้ำท่วม- กระตุ้นเศรษฐกิจ’
รัฐบาลเตรียม 2.3 หมื่นล้าน ช่วยน้ำท่วม 6 พันล้าน เป้าหมาย 2 ล้านครัวเรือน อีก 1.7 หมื่นล้าน เตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ด้านพาณิชย์แจงแผนเข้มราคาสินค้ายันเพียงพอ-ไม่ขึ้นราคา ส่วนปี 65 ประชาชนร้องด่วน 1569 แล้ว 2.4พันราย
สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงซ้ำ แผนการทำงานจึงต้องรองรับทั้งด้านการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ว่าขอให้หน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลได้เตรียมวงเงินไว้ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท จากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปี 2566 ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้น
ส่วนเมื่อน้ำลดลงแล้วจะมีการประเมินความเสียหายเพิ่มเติมว่าจะต้องมีการเยียวยาเพิ่มเติมหรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมเรื่องวงเงินที่จะใช้ให้พร้อมและพอเพียง โดยนอกจากงบกลางฯแล้วให้หน่วยงานราชการต่างๆที่มีวงเงินงบประมาณที่สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้ในการเยียวยาอุทกภัยได้ก็ให้เสนอปรับเปลี่ยนโครงการให้เหมาะสม
“งบที่จะใช้เบื้องต้นจะเป็นงบกลางฯ ส่วนต้องการงบอะไรอีกก็หาเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นต่อไป โดยการเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณนี้จะเตรียมกรอบเอาไว้ก่อน และต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปรายละเอียดอีกครั้งว่า สุดท้ายแล้วความเสียหายด้านต่าง ๆ จากน้ำท่วมจะมีเท่าไหร่ เพราะตอนนี้น้ำยังไม่ลด ซึ่งการเยียวยาน่าจะเร่งจ่ายได้เร็ว ๆ นี้”
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดทำประมาณการเบื้องต้นของวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการเยียวยาประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะดำเนินการในช่วงปลายปี และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้ประมาณวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ทั้งสองส่วนทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วมไว้ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น
ช่วย3000บาท2ล้านครัวเรือน
1.การเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม วงเงิน 6 พันล้านบาท โดยจ่ายเยียวยาตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2560 ที่จ่ายให้กับครัวเรือนที่ประสบภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวน 2 ล้านครัวเรือน โดยวงเงินเยียวยาอุทกภัยในส่วนนี้ยังไม่ได้รวมในส่วนการชดเชยเกษตรกรที่พืชผลและปศุสัตว์เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวและการช่วยเหลือเพิ่มเติมในส่วนนี้จะมีการสำรวจความเสียหายอีกครั้งหลายน้ำลดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้การที่ตั้งงบประมาณสำหรับน้ำท่วมที่จะใช้งบกลางฯไม่สูงมากเนื่องจากในขณะนี้ยังเป็นช่วงต้นปีงบประมาณที่กระทรวงต่างๆสามารถโยกงบประมาณหรือเปลี่ยนแปลงโครงการต่างๆเพื่อมาใช้ในการซ่อมแซมถนน สะพาน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากน้ำท่วมได้และสำนักงบประมาณได้หารือกับกระทรวง หน่วยงานต่างๆที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้บางส่วนอยู่แล้ว
2.วงเงินสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี และในช่วงหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นโครงการที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ดำเนินการจะเป็นโครงการที่เคยใช้แล้วได้ผลมาแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น
นายเฉลิมพลกล่าวด้วยว่าในปี 2566 รัฐบาลมีงบกลางรายการใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นกรณีเร่งด่วน รวมประมาณ 9.24 หมื่นล้านบาท โดยปกติแล้วจะมีการใช้วงเงินเพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมประมาณปีละ 2 – 3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้จะต้องขอใช้งบกลางฯเนื่องจากในปี 2566 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ นอกจากนี้วงเงินกู้สำหรับโควิด-19 นั้นไม่สามารถที่จะใช้ได้แล้วเนื่องจากตามกฎหมายได้ระบุว่าเงื่อนไขของการใช้เงินกู้โควิด-19 ไว้ถึงแค่วันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา