เปิดฉากร่วมทุนภาคเอกชน-ภาครัฐไทย ติดปีกสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาสู่สากล

เปิดฉากร่วมทุนภาคเอกชน-ภาครัฐไทย ติดปีกสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาสู่สากล

วันนี้ผมจะขอบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับdepa ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องราวของ EEC สักเท่าไร แต่เชื่อว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องเกี่ยวข้องกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศแน่นอน

ก่อนอื่นผมต้องขอกล่าวอย่างนี้ครับว่า ปัจจุบันมีดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยจำนวนไม่น้อยที่มีศักยภาพและความสามารถที่จะขยายตลาดสู่ระดับสากล แต่ในทางกลับกันสตาร์ทอัพเหล่านั้นอาจยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดจากภาครัฐ ซึ่งเราในฐานะหน่วยงานส่งเสริมตระหนักถึงความสำคัญ โดยเร่งสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ให้สามารถต่อยอดธุรกิจและเติบโตต่อไปได้ 

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐต้องทำงานเชิงรุกและสามารถปรับเปลี่ยนตามสภาวะตลาด อีกทั้งควรบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพกลุ่มนี้

และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา depa ได้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยการร่วมทุนกับเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน ในฐานะบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ชั้นนำอย่าง N-VEST Venture, StormBreaker Venture, Premier, 500 TukTuks, ECG Research, RareJob, BonAngels

และ นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ (ต๊อบ เถ้าแก่น้อย) เพื่อเข้าลงทุนใน บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเรียนภาษาต่างประเทศออนไลน์แบบตัวต่อตัวกับเจ้าของภาษาผ่านระบบวิดีโอคอลล์ในชื่อ GLOBISH (โกลบิช) ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) ระยะเติบโต (Growth Stage) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 90 ล้านบาท เพื่อผลักดันสู่ระดับ Series A+

การดำเนินการในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการร่วมลงทุนโดยตรงในดิจิทัลสตาร์ทอัพระยะเติบโตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกของหน่วยงานภาครัฐไทย 

แล้วทำไมต้อง GLOBISH ?

GLOBISH คือหนึ่งในสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ depa ให้การสนับสนุนตั้งแต่ระยะ Pre Series A ซึ่งเราเฝ้าดูและเห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงศักยภาพการเติบโตที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับ เทรนด์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ GLOBISH สามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

โดยเราจะร่วมเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมโยง GLOBISH สู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมนำไปสู่การขยายเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจต่อไป 

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ภายหลังการระดมทุนครั้งนี้ GLOBISH เตรียมเดินหน้าตามแผนการยกระดับสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก โดยทีมผู้สอน (Native) จากหลากหลายประเทศ รวมกว่า 400 คน 

ซึ่ง GLOBISH มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนผู้สอนเป็น 1,000 คน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศหลังการคลายล็อกดาวน์ อีกทั้งตั้งเป้าเพิ่มคลาสเรียนสู่ 500,000 คลาสในปีนี้จากปัจจุบันที่มีคลาสเรียนมากถึง 300,000 คลาส พร้อมประมาณการณ์ว่า เป้าหมายรายได้ของ GLOBISH ในปี 2568 จะอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท

เราลองมาติดตามกันต่อนะครับว่า ความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างรัฐและเอกชนในครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายใหม่เมื่อไร แต่เชื่อได้เลยว่าไม่นานเกินรอแน่นอนครับ