'ศักดิ์สยาม' ออกหนังสือคุมจัดใช้งบประมาณปี 2566 กว่า 3.1 แสนล้านบาท
“ศักดิ์สยาม” ออกหนังสือคุมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมจัดใช้งบประมาณปี 2566 กว่า 3.1 แสนล้านบาท จี้รายงานทีโออาร์ และขั้นตอนดำเนินการถึงมือก่อนจัดซื้อจัดจ้างไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในหนังสือที่ คค 0100/3311 ลงวันที่ 21 กันยายน 2565 ถึงปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีทุกกรม ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เรื่องการบริหารงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยระบุถึงข้อสั่งการให้จัดส่งบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภทถึงสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 1 ต.ค.2565 อีกทั้งก่อนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ส่งร่างขอบเขตของงานหรือรูปรายการงานก่อสร้าง (TOR) และขั้นตอนแผนดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 11 วรรค 1 กำหนดว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจในการพิจารณางบประมาณตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติ ข้อกำหนด หรือแนวทางปฏิบัติว่าด้วยงบประมาณของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ แล้ว ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติงานนั้นจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเพื่อขอความเห็นชอบ
นอกจากนี้ ตามที่ได้ตรวจสอบจากการรายงานการบริหารงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่ายังมีบางหน่วยงานที่บริหารงบประมาณโครงการไม่เป็นไปตามกฎหมายทั้งหมดหรือบางส่วน การเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย การกำหนดรายละเอียด หรือราคากลางที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหลักการ ความเหมาะสม คุ้มค่า และประหยัด มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรายงานข้อมูลไม่ครบถ้วนทุกโครงการ
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรณีโครงการที่ไม่ได้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นไปตามกฎหมาย และแผนงาน อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใสสามารถสนับสนุนการนำนโยบายของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ อาศัยอำนาจตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 11 และพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 42
รวมทั้งพระราชบัญญัติ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ข้อบังคับว่าด้วยการจัดตั้งบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดที่รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ถือหุ้น จึงให้ปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรม ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ถือปฏิบัติ ดังนี้
1. จัดส่งบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภท ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรณีโครงการที่ไม่ได้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยแยกแหล่งที่มางบประมาณตามบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภทฯ ที่ส่งมาพร้อมนี้ ถึงสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2565
2. ก่อนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งรายงานสถานะของโครงการ พร้อมจัดส่งร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือแบบรูปรายการงานก่อสร้าง (TOR) และขั้นตอนแผนการดำเนินการ (Timeline) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบแล้วจึงดำเนินการต่อไปได้
3. เมื่อได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยงบประมาณของหน่วยงานของรัฐนั้น ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จนได้ทราบผลการประกวดราคา หรือการคัดเลือกผู้ขายหรือผู้รับจ้างแล้ว ให้รายงานสถานะของโครงการ พร้อมผลการประกวดราคาหรือการคัดเลือก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบภายใน 7 วันทำการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบแล้วจึงพิจารณาลงนามในสัญญาและดำเนินการต่อไปได้
4. ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากมิได้ดำเนินการตามข้อสั่งการข้างต้น ให้ถือว่ากระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจนั้นมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐมนตรี รวมทั้งยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และหลักธรรมาภิบาลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
5. นอกเหนือจากความในข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งยังคงถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค 0100/1421 ลงวันที่ 27 ส.ค.2562 หนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค 0100/645 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2563 และหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค 0100/ว 2680 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2563 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหนังสือฉบับนี้
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติ และบริษัทมหาชนจำกัด เห็นควรให้แจ้งบริษัทฯ ให้ถือปฏิบัติด้วย
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า คำสั่งบริหารงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมฉบับนี้ จะมีผลต่อโครงการลงทุนในปีงบประมาณ 2566 ที่ต้องแจ้งรายละเอียดตามข้อสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบก่อนการดำเนินงาน โดยปีงบประมาณ 2566 กระทรวงฯ มีงบลงทุนวงเงินทั้งสิ้น 311,483.56 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6), มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81), มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82), ทางพิเศษ สายพระราม 3 - ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก, ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-FLOW)
รวมไปถึง การพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า เชียงของ จังหวัดเชียงราย, โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนม, โครงการรถไฟฟ้า 4 สายทาง (สายสีชมพู สีเหลือง สีส้ม สีม่วง), โครงการทางคู่ ระยะที่ 1 รวม 5 สายทาง และรถไฟสายใหม่ 2 สายทาง, โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ
ส่วนโครงการใหม่ที่จะเร่งรัดลงทุนในปี 2566 อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) (M5), มอเตอร์เวย์สาย M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง, มอเตอร์เวย์สายนครปฐม – ชะอำ, มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7), ทางพิเศษ เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง, สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
นอกจากนี้ยังมีโครงการแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map), สะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่, โครงการ Landbridge ชุมพร – ระนอง, โครงการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เป็นต้น โดยปัจจุบันหลายโครงการใหม่มีสถานะอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ